ผุด3ทางด่วนใต้ดินลอดเจ้าพระยา
Loading

ผุด3ทางด่วนใต้ดินลอดเจ้าพระยา

วันที่ : 15 ตุลาคม 2561
คมนาคมรับลูก "บิ๊กตู่" ผุดทางด่วนลอดเจ้าพระยาแก้รถติด รื้อ 11 สะพาน สร้างอุโมงค์ใต้ดินแทน ศึกษาลอตแรก 3 เส้นทาง ประเดิมแยกบางนา-ถนนนราธิวาสฯ เชื่อมด่วนบางนากับด่วนขั้นที่ 1 ก่อนถึงคิว "รามคำแหง-รัชดา" "แยก เกษตร-วิภาวดี" เตรียมเสนอ "อาคม" ก่อนชง คจร.เคาะ 17 ต.ค.นี้
          คมนาคมรับลูก "บิ๊กตู่" ผุดทางด่วนลอดเจ้าพระยาแก้รถติด รื้อ 11 สะพาน สร้างอุโมงค์ใต้ดินแทน ศึกษาลอตแรก 3 เส้นทาง ประเดิมแยกบางนา-ถนนนราธิวาสฯ เชื่อมด่วนบางนากับด่วนขั้นที่ 1 ก่อนถึงคิว "รามคำแหง-รัชดา" "แยก เกษตร-วิภาวดี" เตรียมเสนอ "อาคม" ก่อนชง คจร.เคาะ 17 ต.ค.นี้

          นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า เพื่อแก้ปัญหาการจราจรในพื้นที่กรุงเทพฯที่วิกฤตขึ้นทุกปี เนื่องจากมีข้อจำกัดไม่มีพื้นที่จะเพิ่มโครงข่ายถนนใหม่มารองรับ และปริมาณรถยนต์มีมากขึ้น และระบบขนส่งสาธารณะที่โครงข่ายยังไม่สมบูรณ์พอจูงใจให้คนทิ้งรถส่วนตัวมาใช้บริการ เช่น รถเมล์ รถไฟฟ้า ประกอบกับปัจจุบันหลายพื้นที่อยู่ระหว่างก่อสร้างรถไฟฟ้า เพื่อบรรเทาปัญหาดังกล่าว จึงต้องมีมาตรการอื่น ๆ เช่น กระตุ้นให้คนเปลี่ยนใช้รถไฟฟ้ามากขึ้น ต้องเริ่มคิดถึงการสร้างทางลอดหรืออุโมงค์ เช่น เส้นทางจากตะวันออกไปตะวันตก จะมีอุโมงค์ลอดใต้แม่น้ำเหมือนในต่างประเทศได้หรือไม่ เพราะพื้นที่มีไม่เพียงพอจะสร้างถนนใหม่ ส่วนการสร้างทางยกระดับถ้าสูงขึ้นระดับ 3 และ 4 อาจเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุ จึงได้ให้โจทย์สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ไปศึกษาความเป็นไปได้หลากหลายแนวทาง

          จ่อผุดทางด่วนลอดแม่น้ำ

          นายชยธรรม์ พรหมศร รองผู้อำนวยการ สนข. เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า สนข.กำลังศึกษาความเป็นไปได้ก่อสร้างอุโมงค์ใต้ดิน และทางยกระดับเชื่อมโครงข่ายทางด่วน เพื่อทะลวงคอขวด และแก้ปัญหารถติดพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล ซึ่งศึกษาไว้หลายพื้นที่ เป็นทางเลือกเพิ่มให้กับผู้ใช้ทาง จะนำร่องใน พื้นที่ที่รถติดหนักสุด เช่น สาทร สีลม นราธิวาสราชนครินทร์ คาดว่าจะเสนอให้ รมว.คมนาคมพิจารณา 2-3 สัปดาห์นี้

          "การสร้างทางด่วนเป็นอุโมงค์ใต้ดินลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยาเป็นออปชั่นหนึ่งที่จะนำมาแก้ปัญหารถติดในระยะยาว เรา กำลังศึกษาความเป็นไปได้ว่าจะคุ้มหรือไม่ เพราะค่าก่อสร้างสูง เฉลี่ย ต่อกิโลเมตรน่าจะเกิน 1,000 ล้านบาท ใกล้เคียงกับอุโมงค์รถไฟฟ้าใต้ดิน สายสีน้ำเงิน ส่วนต่อขยายช่วงหัวลำโพงท่าพระ ที่วิ่งลอดแม่น้ำเจ้าพระยา"

          นายชยธรรม์กล่าวว่า ปัจจัยหลักในการพิจารณาขึ้นอยู่กับราคาที่ดินและรูปแบบก่อสร้าง จากการศึกษาโมเดล ต่างประเทศ เช่น ที่ชินจูกุ ประเทศญี่ปุ่น เป็นอุโมงค์ 6 ช่องจราจร ค่าก่อสร้างอยู่ที่กิโลเมตรละ 10,000 ล้านบาท มาเลเซีย เป็นอุโมงค์ 2 ช่องจราจร รองรับ ทั้งรถยนต์และเป็นทางน้ำผ่านในบางเวลา กิโลเมตรละ 3,000 ล้านบาท เมืองบอสตัน ในสหรัฐอเมริกา เป็นอุโมงค์ 6 ช่อง จราจร กิโลเมตรละ 10,000 ล้านบาท สำหรับประเทศไทยคาดว่าจะสร้างเป็นอุโมงค์ขนาด 2 ช่องจราจร

          "คอนเซ็ปต์อุโมงค์ทางด่วนใต้ดินต้องสร้างอยู่ถนนเดิม ช่วงหัว-ท้ายต้องเชื่อมกับทางด่วนปัจจุบัน เพื่อระบายรถออกไปยังนอกเมืองได้ เช่น เส้นทางจากบางนา-ถนนนราธิวาสราชนครินทร์ ช่วงบางนาจะเชื่อมกับทางด่วนบางนา-ชลบุรี ส่วนช่วงถนนนราธิวาสราชนครินทร์กำลังดูจุดเชื่อมต่อ"

          รื้อแบบ 11 สะพานเจ้าพระยา

          นอกจากนี้ สนข.กำลังพิจารณาจะปรับรูปแบบการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาที่ศึกษาไว้ในแผนแม่บท 11 แห่ง ซึ่งยังไม่สามารถเดินหน้าได้เพราะมีเสียงคัดค้าน มีแนวคิดจะปรับจากสะพานเป็นอุโมงค์ใต้ดินแทน เพื่อเชื่อมพื้นที่ฝั่งกรุงเทพฯ และฝั่งธนบุรี แก้ปัญหาการจราจรในอนาคต จะนำผลการศึกษานี้เสนอให้นายอาคมพิจารณา

          มีรายงานข่าวเพิ่มเติมว่า ทางด่วนลอดใต้ดินเป็นแนวคิดที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้แนวคิดกับนายอาคม เมื่อครั้งมาตรวจเยี่ยมการแก้ปัญหาจราจรใน กทม. เดือน ส.ค.ที่ผ่านมา หลังจากที่นายกฯเห็นรูปแบบโครงการจากต่างประเทศ จึงต้องการให้นำมาเป็นต้นแบบในการแก้รถติดใน กทม.-ปริมณฑล

          ประเดิมแยกบางนา-นราธิวาสฯ

          เบื้องต้น สนข.ศึกษาความเป็นไปได้ไว้ 3 เส้นทาง ได้แก่ 1.สำโรง (แยกบางนา)-ถนนนราธิวาสราชนครินทร์ 2.ถนนรามคำแหง-รัชดาภิเษก และ 3.จากแยกเกษตร-วิภาวดีรังสิต ที่พร้อมมากที่สุด คือ เส้นทางแยกบางนา-ถนนนราธิวาสราชนครินทร์ เพราะไม่ต้องเวนคืนมาก คาดว่าเสนอให้ รมว.คมนาคมพิจารณาได้ วันที่ 15-19 ต.ค.นี้ หากได้รับความเห็นชอบ จะนำเสนอต่อที่ ประชุมคณะกรรมการจัดระบบการ จราจรทางบก (คจร.) มีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯเป็นประธาน วันที่ 17 ต.ค.นี้

          สำหรับทางลอดใต้ดินที่ออกแบบไว้คร่าว ๆ จะเป็นอุโมงค์ลึก 13 เมตร มี 2 ช่องจราจร และด่านเก็บเงิน 2 จุด คือ แยกบางนา และถนนนราธิวาสราชนครินทร์ รูปแบบอุโมงค์และทางลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยากำลังศึกษาการก่อสร้างของหลาย ๆ ประเทศ เช่น สหรัฐ, มาเลเซีย

          แนวเส้นทางจะเริ่มจากแยกบางนา จากนั้นมุดลงใต้ดินวิ่งตรงไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือผ่านบางกระเจ้า ลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณที่เป็นกะเพาะหมู ไปสิ้นสุดบริเวณถนนนราธิวาสราชนครินทร์ช่วงที่ต่อกับถนนพระราม 3 ระยะทาง 9 กม. ส่วนจุดเชื่อมต่อหัวและท้ายอยู่ระหว่างการพิจารณาพื้นที่ แต่คาดว่าจะเชื่อมกับโครงข่ายทางด่วนบางนา-ชลบุรี กับทางด่วนขั้นที่ 1

          เพิ่มชัตเติลโบ๊ตเสริม

          ด้านนายสราวุธ ทรงศิวิไล ผู้อำนวยการ สนข. กล่าวว่า สนข.กำลังหามาตรการระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว แก้ไขปัญหาจราจรภายในกรุงเทพฯ ซึ่งได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายต่าง ๆ โดยจะนำโครงข่ายรถไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างสร้าง และมีแผนในอนาคตมาตรวจสอบว่า มีจุดเชื่อมต่อกับระบบอื่นกี่จุด

          นอกจากนี้จะตรวจสอบเส้นทางรถเมล์ที่ซ้อนทับรถไฟฟ้า และเพิ่มเส้นทางใหม่ ๆ เป็นฟีดเดอร์ป้อนคนมาใช้รถไฟฟ้าด้วย พร้อมเพิ่มเส้นทางเดินเรือเป็นทางเลือกมากขึ้น เนื่องจากกรุงเทพฯมีคลองแยกย่อยอยู่มาก เช่น คลองแสนแสบ คลองภาษีเจริญ จะช่วยบรรเทารถติดได้อีกทางหนึ่ง

          "ลาดพร้าวและรามคำแหงที่รถติดจากสายสีเหลือง และสายสีส้ม จะเพิ่มการเดินเรือไปถึงมีนบุรี ไม่ต้องผ่านรามคำแหง จะช่วยแก้ปัญหาได้อีกทาง จะเรียกว่าเป็น shutter boat ก็ได้ สนข.กำลังศึกษาจะเสร็จใน 1 เดือนนี้ แล้วจะเสนอให้คณะกรรมการขับเคลื่อนและปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดินรับทราบและพิจารณาต่อไป"
 
ข่าวพัฒนาสาธารณูปโภค อื่นๆ