กนอ.เร่งพัฒนาพื้นที่อีอีซี1.5แสนไร่
Loading

กนอ.เร่งพัฒนาพื้นที่อีอีซี1.5แสนไร่

วันที่ : 15 ตุลาคม 2561
การนิคมอุตสาหกรรมเดินหน้า ตั้งเป้าพื้นที่รองรับการลงทุนในอีอีซี 1.5 แสนไร่ ชูเป้ายอดขาย/เช่าที่ดินปี 2562 รวม 3,500 ไร่ รับ 5 โครงการบิ๊กโปรเจ็กต์ พร้อมเร่งประกวดราคา ท่าเรือมาบตาพุด เฟส 3 ดึงเอกชนร่วมพีพีพี คาดได้ผู้ชนะประมูล ม.ค.2562
          รับ5บิ๊กโปรเจ็กต์-ประกวดราคามาบตาพุด3ม.ค.

          การนิคมอุตสาหกรรมเดินหน้า ตั้งเป้าพื้นที่รองรับการลงทุนในอีอีซี 1.5 แสนไร่ ชูเป้ายอดขาย/เช่าที่ดินปี 2562 รวม 3,500 ไร่ รับ 5 โครงการบิ๊กโปรเจ็กต์ พร้อมเร่งประกวดราคา ท่าเรือมาบตาพุด เฟส 3 ดึงเอกชนร่วมพีพีพี คาดได้ผู้ชนะประมูล ม.ค.2562

          น.ส.สมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.) เปิดเผยผลดำเนินงานปีงบประมาณ 2561 และแผนการดำเนินงานในปีงบประมาณ 2562 ว่า ตั้งเป้ายอดขายและเช่าที่ดินของ กนอ.ประจำปี2562 อยู่ที่ 3,500 ไร่ เนื่องจากขณะนี้รัฐบาลอยู่ระหว่างพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในอีอีซีทั้ง 5 โครงการ ซึ่งจะช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นให้นักลงทุนและทำให้นักลงทุนตัดสินใจลงทุนเพิ่มขึ้น

          โดย กนอ.เป็นหน่วยงานผู้ดำเนินการหลักในโครงการท่าเรือมาบตาพุด เฟส 3 ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างร่างเงื่อนไขประกวดราคา(ทีโออาร์) เพื่อเปิดเชิญชวนให้เอกชนเข้ามาลงทุนแบบภาครัฐร่วมกับเอกชน(พีพีพี) และคาดว่าจะได้ผู้ชนะโครงการประมาณในเดือนม.ค. 2562 และคาดว่าจะเปิดดำเนินการได้ในช่วงปี 2568

          สำหรับโครงการท่าเรือมาบตาพุด เฟส 3 จะแบ่งเป็นพื้นที่ถมทะเลเพื่อใช้งานประมาณ 550 ไร่ และพื้นที่บ่อเก็บกักตะกอนระหว่างก่อสร้างประมาณ 450 ไร่ ความยาวหน้าท่ารวมประมาณ 2,200 เมตร เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการขนถ่ายสินค้า และ กนอ. จะร่วมลงทุนเป็นมูลค่าไม่เกิน 1.29 หมื่นล้านบาท

          โดยรัฐบาลตั้งเป้าหมายพื้นที่รองรับการลงทุนในอีอีซีประมาณ 1.5 แสนไร่ โดยขณะนี้ มีพื้นที่รองรับการลงทุน 7,762 ไร่ และเป็นพื้นที่ที่อยู่ระหว่างการพัฒนา 1.49 หมื่นไร่ ขณะเดียวกันยังต้องหาพื้นที่เพิ่มอีกประมาณ 1 หมื่นไร่ ซึ่งขณะนี้พื้นที่ในอีอีซีส่วนใหญ่ยังติดปัญหาผังเมืองเนื่องจากเป็นพื้นที่สีเขียว ดังนั้น จะต้องมีการเจรจาเพื่อให้เป็นพื้นที่สีม่วงที่สามารถตั้งโรงงานอุตสาหกรรมได้

          ทั้งนี้ ช่วงเดือนต.ค. 2560-ก.ย. 2561 ยอดขายและเช่าพื้นที่ของการนิคมอุตสาหกรรมอยู่ที่ 1,377 ไร่ แบ่งเป็นยอดขายที่ดินในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) 990 ไร่ เขตพัฒนาเศรษฐกิจชายแดน (เอสอีแซด) 9 ไร่ และนอกพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ 378 ไร่ ซึ่งลดลงจากปีก่อน เนื่องจากหลายพื้นที่อยู่ระหว่างการเจรจาซื้อขายและการโอนที่ดิน และมีนักลงทุนอยู่ระหว่างตัดสินใจลงทุน โดยรอความชัดเจนโครงสร้างพื้นฐานในอีอีซี
 
ข่าวเขตเศรษฐกิจพิเศษ อื่นๆ