สมคิด อนุมัติขยายสีเหลือง-ชมพู
Loading

สมคิด อนุมัติขยายสีเหลือง-ชมพู

วันที่ : 18 ตุลาคม 2561
คจร.อนุมัติส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ถึงแยกรัชโยธิน และสายสีชมพู จากสถานีศรีรัช-เมืองทองธานี เข้าบรรจุในแผนแม่บทระบบขนส่งทางราง รับทราบความคืบหน้าสายสีน้ำตาล ทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอนเอ็น 2 ยันแยก โครงสร้างเสาก่อสร้าง นำร่องทางด่วนก่อน
          เชื่อมรถไฟฟ้ารัชโยธินและเมืองทองฯ

          แยกโครงสร้างสายนาตาลกับทางด่วน

          คจร.อนุมัติส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ถึงแยกรัชโยธิน และสายสีชมพู จากสถานีศรีรัช-เมืองทองธานี เข้าบรรจุในแผนแม่บทระบบขนส่งทางราง รับทราบความคืบหน้าสายสีน้ำตาล ทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอนเอ็น 2 ยันแยก โครงสร้างเสาก่อสร้าง นำร่องทางด่วนก่อน

          นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) ว่า เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้บรรจุโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ส่วนต่อขยายช่วงแยกรัชดา-ลาดพร้าว ถึงแยกรัชโยธิน ในแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยมีแนวเส้นทางจุดเริ่มต้นเชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง

          (สายหลัก) บริเวณสถานีรัชดา โดยแนวเส้นทางจะวิ่งไปตามแนวเกาะกลางถนนรัชดาภิเษก มีสถานีอยู่บริเวณหน้าอาคารจอดรถของสำนักงานศาลยุติธรรม และสถานีบริเวณสถานีตำรวจนครบาลพหลโยธิน มีทางเดินเชื่อมยกระดับ (Skywalk) ไปยังสถานีพหลโยธิน 24 ของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต มีระยะทางรวมประมาณ 2.6 กิโลเมตร (กม.) กรอบวงเงินลงทุนรวมประมาณ 3,779 ล้านบาท

          นายสมคิดกล่าวว่า นอกจากนี้ ยังเห็นชอบโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูส่วนต่อขยาย ช่วงสถานีศรีรัช- เมืองทองธานี บรรจุในแผนแม่บทฯ โดยมีแนวเส้นทางเริ่มต้นบนถนนแจ้งวัฒนะ เชื่อมต่อกับสถานีศรีรัช โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแครายมีนบุรี (สายหลัก) ก่อนจะวิ่งเข้าสู่เมืองทองธานี ไปตามซอยแจ้งวัฒนะ-ปากเกร็ด 39 ขนานไปกับทางพิเศษอุดรรัถยา ผ่านวงเวียนเมืองทองธานี และวิ่งต่อเนื่องไปยังจุดสิ้นสุดโครงการบริเวณทะเลสาบเมืองทองธานี รวมระยะทางประมาณ 3 กม. กรอบวงเงินลงทุนรวมประมาณ 3,379 ล้านบาท

          นายสมคิดกล่าวว่า ที่ประชุมยังรับทราบความคืบหน้าผลการศึกษาโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย-ลำสาลี (บึงกุ่ม) และโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N2 เชื่อมต่อไปยังถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ ด้านตะวันออก ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) พิจารณาเพื่อให้ได้ข้อสรุปเกี่ยวกับพื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับโรงซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าและศูนย์ควบคุมและสั่งการที่กระทบต่อการเวนคืนน้อยที่สุด รวมทั้งความชัดเจนของการอนุญาตให้ใช้พื้นที่บางส่วนของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อวางเสาตอม่อของโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล รวมถึงการใช้ฐานรากโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 เพื่อดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล

          นายสมคิดกล่าวว่า จากการตรวจสอบฐานรากเดิมบนแนวกึ่งกลางถนนประเสริฐมนูกิจที่ กทพ.ก่อสร้างไว้แล้ว พบว่า สภาพการรับกำลังของโครงสร้างนั้นสามารถรองรับได้เพียงระบบใดระบบหนึ่งเพียงระบบเดียวเท่านั้น แต่จากการที่เสาตอม่อเดิมดังกล่าวนี้ถูกสร้างขึ้นเพื่อรองรับ การก่อสร้างระบบทางด่วนมาตั้งแต่แรก ดังนั้น กทพ.สมควรใช้ฐานรากเดิม ที่ได้ก่อสร้างไว้แล้วในการดำเนินโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 ทั้งนี้ สนข. และ กทพ.ได้มีการหารือร่วมกันในการปรับรายละเอียดในการออกแบบให้ความสูงของโครงสร้างที่จะรองรับ ทั้งระบบทางด่วนและรถไฟฟ้าในแนวสายทางเดียวกันแล้ว โดยพบว่า ระบบทางด่วนมีความจำเป็นเร่งด่วนและความพร้อมที่จะดำเนินการได้ก่อนระบบรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล
 
ข่าวพัฒนาสาธารณูปโภค อื่นๆ