เครือLPNวอนนิยาม บ้านหลังที่ 2 ให้ชัด หวั่นธปท.เหมาทุกกลุ่มป่วน-รีเจกต์จ่อพุ่ง
Loading

เครือLPNวอนนิยาม บ้านหลังที่ 2 ให้ชัด หวั่นธปท.เหมาทุกกลุ่มป่วน-รีเจกต์จ่อพุ่ง

วันที่ : 30 ตุลาคม 2561
พรสันติ ในเครือ LPN วอน แบงก์ชาติ ให้คำนิยาม บ้านหลังที่2 ในมาตรการ LTV ให้ชัด ครอบ คลุมกว้างขวางในระดับใด ชี้ลูกค้าครอบครัว ขยาย-แต่งงานใหม่-มีรายได้เพิ่ม ต้อง การพื้นที่อยู่อาศัยใหญ่ขึ้น
          พรสันติ  ในเครือ LPN วอน แบงก์ชาติ ให้คำนิยาม บ้านหลังที่2 ในมาตรการ LTV ให้ชัด ครอบ คลุมกว้างขวางในระดับใด ชี้ลูกค้าครอบครัว ขยาย-แต่งงานใหม่-มีรายได้เพิ่ม ต้อง การพื้นที่อยู่อาศัยใหญ่ขึ้น เผยพอร์ต พรสันติ 30-40% ลูกค้ากลุ่มห้องชุด LPN ครอบครัวขยาย เชื่อรอบนี้ แบงก์เหนื่อย บอสใหญ่วิจิตรากรุ๊ป ห่วงธนาคารฯ จะเข้มปล่อยสินเชื่อขึ้นไปอีก เผยรีเจกต์เรต 25-30% ด้านนายก ส.อาคารชุดไทย วอนธปท.ควรประกาศให้ชัด ตอนนี้กระทบแล้ว ลูกค้าชะลอ

          นายจรัญ เกษร กรรมการผู้จัดการ บริษัท พรสันติ จำกัด ในเครือ บริษัท แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงการปรับปรุงเกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ที่คาดจะมีผลบังคับใช้ในต้นปี 2562 ว่า มาตรการนี้ ธปท.น่าจะมุ่งเป้าไปที่การควบคุมกลุ่มนักลงทุนและเก็งกำไร ในที่อยู่อาศัยประเภทคอนโดมิเนียมเป็นหลัก ส่วนกลุ่มที่อยู่อาศัยประเภทแนวราบนั้น ไม่ใช่เป้าหมายโดยตรง เนื่องจากส่วนใหญ่ซื้อเพื่ออยู่อาศัยจริง (เรียลดีมานด์)

          มาตรการ LTV เชื่อว่ากระทบแน่นอน และ ณ ปัจจุบัน บริษัทจึงยังไม่สามารถกำหนดแนวทางการดำเนินธุรกิจ ที่มีต่อผลกระทบจากมาตรการดังกล่าวได้ ทั้งนี้ อยากให้ ธปท. นิยามคำว่า "บ้านหลังที่2" ให้ชัดเจน ว่า มีความหมายครอบคลุมถึงระดับใด เนื่องจาก ธปท.ต้องทำความเข้าใจ ว่า ผู้ซื้อบางกลุ่มไม่ได้ซื้อเพื่อลงทุนหรือเก็งกำไร แต่เป็นการซื้อเพื่ออยู่อาศัยเอง เช่น ในกลุ่มของครอบครัวขยาย กลุ่มลูกค้าเหล่านี้แม้ว่าจะตัดสินใจขายห้องชุดเพื่อนำเงินมาซื้อบ้านใหม่ แต่ไม่ใช่กลุ่มเก็งกำไร หรือกลุ่มซื้อลงทุน เป็นกลุ่มที่ต้องการที่อยู่อาศัยจริง แต่มีรายชื่อว่าเคยขอสินเชื่อซื้อที่อยู่อาศัยมาแล้ว ดังนั้น บ้านที่จะซื้อใหม่จึงกลายเป็นบ้านหลังที่2 ซึ่งเข้าเกณฑ์ LTV ทันที ซึ่งตรงนี้ ธปท.ต้องเข้าใจว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา พฤติกรรม ลูกค้าเปลี่ยนจากซื้อที่อยู่อาศัยแนวราบเป็นบ้านหลังแรก เปลี่ยนมาเป็นการซื้อห้องชุด เพื่อรอขยับขยาย หรือเมื่อมี รายได้เพิ่มขึ้น มีครอบครัวในอนาคต

          สำหรับลูกค้าของพรสันติกว่า 30-40% เป็นกลุ่มลูกค้าที่ซื้อบ้านหลังที่ 2 เพราะเป็นฐานลูกค้าเดิมจากบริษัทแม่ LPN โดยเป็นกลุ่มที่ซื้อห้องชุดในช่วง เริ่มทำงานใหม่ เมื่อครอบครัวขยาย ก็ขายห้องชุด หรือยอมจ่ายเงินชำระค่างวดที่เหลือทั้งหมด เพื่อจะซื้อบ้านแนวราบที่มีพื้นที่อยู่อาศัยมากขึ้น ซึ่งระดับราคาบ้านก็เฉลี่ยอยู่ที่ 3-5 ล้านบาท แม้จะไม่ถึงเกณฑ์ 10 ล้าน แต่ถูกขึ้นบัญชีไว้แล้วว่า เป็นผู้ซื้อบ้านหลังที่ 2 นั่นจะกระทบมา ถึงภาคอสังหาริมทรัพย์แนวราบไปด้วย เพราะเกณฑ์การกำหนดให้มีเงินดาวน์ 20% นั้นถือว่าค่อนข้างสูงสำหรับลูกค้าในกลุ่มบ้าน 3-5 ล้านบาท ประกอบกับ ในปัจจุบันเทคโนโลยีในการก่อสร้าง ช่วยให้การสร้างบ้านแล้วเสร็จรวดเร็วจากเดิมต่อหลังใช้ระยะเกือบ 1 ปี แต่ปัจจุบันการก่อสร้างบ้านใช้เวลา 3-6 เดือนต่อหลังเท่านั้น การผ่อนดาวน์สั้นลง จนกลายเป็นอุปสรรคต่อลูกค้าในการซื้อที่อยู่อาศัย และเมื่อเป็นเช่นนี้ บอกได้เลยว่า รอบนี้ แบงก์เหนื่อย

          วิจิตรากรุ๊ปฯ ชี้ยอดรีเจกต์อาจปรับขึ้นอีก

          ดร.สืบวงษ์ สุขะมงคล ประธานกรรมการบริหาร วิจิตรากรุ๊ป ผู้พัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ในภาคตะวันออก กล่าวยอมรับว่า มาตรการ LTV มีผลกระทบ ซึ่งจะทำให้สถาบันการเข้มงวด และกระทบในการปล่อยสินเชื่อที่อยู่ อาศัยมากยิ่งขึ้น โดยปัจจุบัน แม้บริษัทจะบริหารลูกค้าในการขอรับการสนับสนุนจากธนาคารพาณิชย์ แต่ก็พบว่ายังมียอดปฏิเสธสินเชื่อ (รีเจกต์เรต)รวม 25-30% ซึ่งลูกค้ามีปัญหาหลังจากตรวจสอบข้อมูลในระบบของเครดิตบูโร

          ส.อาคารชุดไทย คาดอาจเห็นยอดโอนเพิ่มผิดปกติ

          ดร.อาภา อรรถบูรณ์วงศ์ ในฐานะนายกสมาคมอาคารชุดไทย กล่าวยอมรับว่า มาตรการดังกล่าวกระทบแน่นอน ทั้งจากนักลงทุนและลูกค้าที่ชะลอการตัดสินใจ ซื้อออกไป และโดยปกติในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี จะเป็นฤดูกาลขาย แต่มีสัญญาณจาก ธปท.เข้ามา ทำให้ภาพดังกล่าวชะลอลง ซึ่งแน่นอน ผู้ประกอบการที่มียอดขายรอบันทึกเป็นรายได้(แบ็กล็อก) จะเร่งโอน และพยายามเร่งช่วยเหลือลูกค้าอย่างเต็มที่

          ทางธปท.ได้มีการโทร.มาสอบถามเรา เกี่ยวกับประเด็นข้อสงสัยหลังจาก เปิดรับฟังความเห็น ซึ่งเราได้ตอบไปแล้ว แต่ ธปท.จะเรียกเข้าไปหารืออีกรอบหรือไม่ ยังไม่มีความชัดเจนในด้านนี้ ทั้งนี้ ยังมีอีก หลายประเด็นที่ต้องมอง เนื่องจากมาตรการ จะมีการบังคับใช้ปี 62 ยังต้องมองเรื่องของภาษีลาภลอยที่รัฐบาลกำลังดำเนินการ ในส่วนนี้ เราได้ชี้แจงกับสำนักงานเศรษฐกิจ การคลัง กระทรวงการคลัง โครงการคอนโดฯ ก่อนสร้างก็มีการประเมินราคาไปแล้ว สะท้อนออกมาเป็นราคา และเมื่อคอนโดฯสร้างเสร็จ กรมธนารักษ์จะมาประเมินอีก ผู้ซื้อก็ถูกประเมินไปด้วย มาตรการเรื่องภาษีลาภลอย น่าจะเหมาะสมกับโครงการประเภทบ้านเดี่ยวและที่ดินเปล่า
 
ข่าวโครงการอสังหาฯ ภาคเอกชน อื่นๆ