บุกสำรวจเขตเศรษฐกิจพิเศษเหนือสุดแดนสยาม
Loading

บุกสำรวจเขตเศรษฐกิจพิเศษเหนือสุดแดนสยาม

วันที่ : 31 ตุลาคม 2561
ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัญจร จัดขึ้นระหว่างวันที่ 29-30 ตุลาคม 2561 ที่ จ.เชียงราย นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ พร้อมด้วยนางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ และคณะ ได้เดินทางไปสำรวจพื้นที่ชายแดนไทย-สปป.ลาว ด้าน อ.เชียงของ จ.เชียงราย
          ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัญจร จัดขึ้นระหว่างวันที่ 29-30 ตุลาคม 2561 ที่ จ.เชียงราย นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ พร้อมด้วยนางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ และคณะ ได้เดินทางไปสำรวจพื้นที่ชายแดนไทย-สปป.ลาว ด้าน อ.เชียงของ จ.เชียงราย

          กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศได้ประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนในพื้นที่ เพื่อรับฟังความคิดเห็นการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษข้ามพรมแดน ณ โรงแรมเชียงของ ทีคการ์เด้น ริเวอร์ฟร้อนท์ อ.เชียงของ ก่อนลงพื้นที่ท่าเรือน้ำลึกเชียงของ ท่าเรือบั๊ค ต.เวียง และด่านพรมแดนเชียงของตรงสะพานข้ามแม่น้ำโขงไทย-สปป.ลาว แห่งที่ 4

          นายสนธิรัตน์กล่าวว่า การเดินทางลงพื้นที่ เชียงของ เนื่องจากกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขง-แม่น้ำล้านช้าง ให้ทุนประเทศไทยศึกษาการจัดตั้งเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษข้ามพรมแดน โดยกระทรวงพาณิชย์เห็นว่าพื้นที่ อ.เชียงของ เหมาะสมมากที่สุดที่จะได้รับการคัดเลือกเป็นจุดแรกในการทำจุดร่วมกัน 3 ประเทศ คือ ไทย สปป.ลาว และจีน

          ปัจจุบันจีนกับ สปป.ลาว มีเขตเศรษฐกิจร่วมกันอยู่แล้ว และหลายประเทศลุ่มแม่น้ำโขงก็มีความร่วมมือกัน แต่ประเทศไทยยังไม่เคยมีเขตเศรษฐกิจร่วมกับประเทศใดมาก่อนเลย

          "เชียงของได้รับการประกาศให้เป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจชายแดน จ.เชียงราย อยู่แล้ว ส่วนฝั่งแขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว ที่อยู่ติดกันก็เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ และที่ชายแดนจีน-สปป.ลาว ด้านบ่อเต็น-บ่อหาน ก็เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษร่วมกัน โดยมีถนนอาร์สามเอเชื่อมระหว่างไทย-สปป.ลาว-จีน ด้วยระยะทางที่ไม่ไกล สำหรับรูปแบบนั้นอาจจะเป็นเรื่องสิทธิประโยชน์ด้านภาษีอากร ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีศุลกากร หรือแม้แต่คลังสินค้าทัณฑ์บนก่อนเข้าสู่กระบวนการเสียภาษี"

          นายสนธิรัตน์บอกว่า จะมีการศึกษาอย่างละเอียดก่อนนำเสนอในที่ประชุมร่วมกลุ่มแม่น้ำโขง-แม่น้ำล้านช้าง ในเวทีต่างๆ ทั้งระดับสูงและระดับเจ้าหน้าที่ทั่วไป เพื่อพัฒนาร่วมกัน คงมีการทำข้อตกลงเจรจาเพื่อให้ได้รับผลประโยชน์ร่วมกัน จากการดูพื้นที่แล้วเราก็มีเป้าหมายสำหรับ อ.เชียงของ เฉพาะพื้นที่ของไทยคือการสนับสนุนให้การใช้ถนนอาร์สามเอ เพื่อเปิดให้นักท่องเที่ยวจีนที่เคยเดินทางเข้าสู่ อ.เชียงของ อย่างคึกคักในอดีตกลับเข้ามาได้ง่ายอีกครั้ง

          นายสนธิรัตน์กล่าวด้วยว่า ส่วนเรื่องเขตเศรษฐกิจพิเศษร่วมก็ดำเนินการไปในทุกเวที หากดึงประเทศเมียนมาเข้ามาร่วมได้จะกลายเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษร่วม 4 ชาติได้เลย ทั้งนี้ ความร่วมมืออาจมาในรูปแบบของการเริ่มพัฒนาโครงสร้างพื้นที่ก่อนก็ได้ เช่น ปัจจุบันถนนอาร์สามเอมีสภาพที่ไม่สะดวกทำให้แต่ละประเทศอาจหารือกันเพื่อทำการปรับปรุงเส้นทางให้ใช้ได้สะดวกต่อไป เป็นต้น

          ทางด้าน นายทัศนัย สุธาพจน์ นายอำเภอเชียงของ กล่าวว่า อ.เชียงของ เป็นเมืองหน้าด่านสำคัญของ จ.เชียงราย และของประเทศไทยทางภาคเหนือตอนบน มีสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 4 เชื่อมพรมแดนระหว่างไทยกับ สปป.ลาว ไปจนถึงมณฑลยูนนาน เมืองทางตอนใต้ของจีน ผ่านถนนอาร์สามเอ แต่ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา การค้าชายแดนยังไม่กระเตื้องมากนัก มีมูลค่าการค้าเฉลี่ยอยู่ที่ 3-4 หมื่นล้านบาทต่อปี หากเทียบกับทางภาคอีสานที่มีมูลค่ามากกว่า 2 แสนล้านบาทต่อปี ถือว่ายังห่างกันมาก

          นายทัศนัยกล่าวว่า ปัจจัยสำคัญของการไม่เจริญเติบโตมาจากเส้นทางคมนาคม แม้จะมีถนนเชื่อมระหว่างกันแต่ถนนก็ยังมีสภาพที่ไม่ค่อยดีนัก การขนส่งยังยากลำบาก ต้นทุนการขนส่งที่แพง ถูกเรียกเก็บเงินค่าผ่านหลายต่อระหว่างทาง อีกทั้งความร่วมมือหรือสิทธิพิเศษทางการค้าต่างๆ ไม่ชัดเจน เพราะเขตเศรษฐกิจพิเศษยังไม่เกิด การค้าการลงทุนจึงไม่มีตามมา

          "การเกิดความร่วมมือเขตเศรษฐกิจพิเศษร่วมระหว่างชายแดน ระหว่างไทย สปป.ลาวและจีน จะทำให้ปัญหาหรืออุปสรรคเหล่านี้จะได้รับการแก้ไขปัญหา เกิดความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรม การค้าและการท่องเที่ยวจะเจริญเติบโตตามมา แต่ยังต้องคุยกันในหลักการอีกหลายด้าน" นายทัศนัยกล่าวขณะที่ น.ส.ผกายมาศ เวียร์รา รองประธานหอการค้า จ.เชียงราย ระบุว่า เขตเศรษฐกิจพิเศษ 3 ชายแดนเชียงราย คือ เชียงของ เชียงแสน และแม่สาย ไม่สามารถเจริญเติบโตได้โดยลำพัง หากขาดความร่วมมือระหว่างประเทศ ปิดด่านการค้าการขนส่งระหว่างชายแดนก็จบ หากมีการปิดเขื่อนหรือปิดเส้นทางเดินเรือทางน้ำการค้าก็ไม่เจริญเติบโต การผลักดันเรื่องเขตเศรษฐกิจพิเศษร่วมระหว่างประเทศลุ่มน้ำโขงไทย สปป.ลาว และจีน ถือเป็นเรื่องที่ดีมากๆ เป้าหมายการค้าหลักของไทยอยู่ที่จีน แต่ไม่ควรลืมเมียนมา ดังนั้น เขตเศรษฐกิจพิเศษร่วมควรทำพร้อมๆ กันทั้ง 3 ด่าน และความร่วมทั้ง 4 ประเทศ

          "ที่ผ่านมาในกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขงมีกรอบความร่วมมือล้านช้างแม่โขงร่วมกันอยู่แล้ว แต่ยังไม่มีความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมโดยเฉพาะด้านการค้า เพียงแต่เป็นกรอบเจรจาพูดคุยบางประการ การค้าชายแดนและการท่องเที่ยวระหว่างประเทศยังมีปัญหาหลายด้าน ไทยเองยังไม่มีความร่วมมือของประเทศจีนโดยตรง การขนส่งทางบกผ่านชายแดน สปป.ลาวต้องผ่านสองเมือง คือ แขวงบ่อแก้วกับแขวงหลวงน้ำทา ทั้งสองเมืองยังต่างฝ่ายต่างบริหาร จัดการแยกจากกัน"

          ขณะที่ นายกิตติ ทิศสกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว จ.เชียงราย กล่าวว่า ที่ผ่านมาสถิติการเข้ามานักท่องเที่ยวชาวจีนตกลงไปมาก จากปีละ 3-4 พันคัน เหลือเพียงหลักร้อย เนื่องจากระเบียบการเข้าประเทศของกรมการขนส่งทางบกเข้มงวดและยุ่งยาก หวังกรอบความร่วมมือเขตเศรษฐกิจจะสามารถผลักดัน ให้การเข้าออกประเทศสะดวกและง่ายมากขึ้น เพื่อให้นักท่องเที่ยวชาวจีนจำนวนมากและมีกำลังซื้อเข้ามาเที่ยวประเทศไทย เพราะกลุ่มนักท่องเที่ยวแบบทางรถยนต์เป็นกลุ่มคนมีเงิน เป็นนักท่องเที่ยวเกรดเอ อย่างน้อยก็ให้พิธีการหรือการอนุมัติเข้า-ออกประเทศอยู่ในระดับพื้นที่เกิดความสะดวกกับนักท่องเที่ยวให้มากที่สุด

          ตบท้ายที่ตัวเลขของด่านศุลกากรเชียงของ แจ้งว่า ในปี 2560 มีการนำเข้าสินค้าผ่านด่านศุลกากรเชียงของมูลค่า 6,329.07 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นผลไม้สด ผักสด เครื่องจักรและอุปกรณ์ ดอกไม้ ไม้ประดับ ฯลฯ และส่งออกมูลค่า 15,418.42 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นสินค้าอุปโภคบริโภค ผลไม้สด ข้าวสาร น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว วัสดุก่อสร้าง ยางพาราและเศษยางพารา ฯลฯ

          และตั้งแต่เดือน ต.ค.2560-มิ.ย.2561 นี้ มีการนำเข้ามูลค่า 3,702.30 ล้านบาท และส่งออกมูลค่า 12,637.022 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นการค้ากับประเทศจีนผ่านถนนอาร์สามเอมีระยะทางไกลจาก อ.เชียงของ ไปจรดชายแดนเมืองบ่อหาน มณฑลยูนนาน ประมาณ 254 กิโลเมตร

          สมควรแล้วที่ควรจะเกิดเขตเศรษฐกิจพิเศษข้ามพรมแดนตรงบริเวณเหนือสุดแดนสยาม
 
ข่าวเขตเศรษฐกิจพิเศษ อื่นๆ