บึงกาฬ ดันกนอ.ตั้งเขตศก.พิเศษ
Loading

บึงกาฬ ดันกนอ.ตั้งเขตศก.พิเศษ

วันที่ : 15 พฤศจิกายน 2561
กรอ. "บึงกาฬ" ดันกนอ.ตั้ง "เขตเศรษฐกิจพิเศษ" แห่งใหม่ ชงที่ดิน 8,000 ไร่ให้ กนอ.พิจารณา หลังครม.อนุมัติศึกษาสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 5 เปิดประตูการลงทุน ดันบึงกาฬจากท้ายสู่ปากซอย ด้านนักลงทุนเยอรมันดอดลงพื้นที่หวังหนุนลงทุนโครงสร้าง พื้นฐานเชื่อม สปป.ลาว-เวียดนาม
          ชงที่8พันไร่เชื่อมโลจิสติกส์สะพานข้ามโขง-สนามบิน

          กรอ. "บึงกาฬ" ดันกนอ.ตั้ง "เขตเศรษฐกิจพิเศษ" แห่งใหม่ ชงที่ดิน 8,000 ไร่ให้ กนอ.พิจารณา หลังครม.อนุมัติศึกษาสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 5 เปิดประตูการลงทุน ดันบึงกาฬจากท้ายสู่ปากซอย ด้านนักลงทุนเยอรมันดอดลงพื้นที่หวังหนุนลงทุนโครงสร้าง พื้นฐานเชื่อม สปป.ลาว-เวียดนาม

          นายเจตน์ เกตุจำนงค์ ประธานหอการค้าจังหวัดบึงกาฬ เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ในการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.) จังหวัด เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาที่ประชุมได้เตรียมเสนอให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) พิจารณาจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษแห่งใหม่ โดยทางจังหวัดได้เตรียมที่ดินไว้ 2 แปลง ขนาด 2,000 ไร่ และ 6,000 ไร่ ตั้งอยู่โซนรอบนอก อ.เมืองบึงกาฬ ซึ่งได้มีการศึกษาและออกแบบไว้แล้ว หลังจากที่เคยเสนอไปยัง กนอ.เมื่อปี 2559 แต่เรื่องเงียบไป อาจเป็นเพราะ จ.บึงกาฬยังไม่มีโครงสร้างพื้นฐานทางด้านคมนาคม แต่ล่าสุดในการประชุมครม.สัญจรที่ จ.เพชรบูรณ์ ได้มีมติเห็นชอบข้อเสนอการพัฒนาเส้นทางคมนาคมและโลจิสติกส์ ในยุทธศาสตร์การเชื่อมระเบียงเศรษฐกิจภูมิภาคชายแดน โดยเฉพาะโครงการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 5 รวมถึงอนุมัติโครงการศึกษาความเหมาะสมการตั้งสนามบินบึงกาฬ

          "บึงกาฬเป็นเมืองยางพาราส่งออกไปจีน 80-90% แต่การขนส่งเป็นระบบถนนไปท่าเรือแหลมฉบัง เพื่อขนส่งทางเรือต่อไปจีน ใช้เวลา 15 วัน/ครั้ง ทั้งนี้ หากอนาคตมีรถไฟความเร็วสูงหรือปานกลางที่เชื่อมต่อจากจีน-เวียงจันทน์ สปป.ลาว จะช่วยร่นเวลาได้มาก ประกอบกับการประชุม ครม.สัญจรที่เพชรบูรณ์ กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน เสนอให้รัฐบาลช่วยศึกษาความเหมาะสมการทำระบบรางจังหวัดริมแม่น้ำโขง ได้แก่ เลย หนองบัวลำภู หนองคาย และบึงกาฬ เพื่อเชื่อมกับรถไฟทางคู่สายบ้านไผ่-นครพนม จะช่วยลดต้นทุนขนส่ง และการท่องเที่ยว ดังนั้น กรอ.จังหวัด จึงเสนอจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษแห่งใหม่เพื่อขับเคลื่อนต่อไป เนื่องจากที่ผ่านมามีนักลงทุนในพื้นที่และส่วนกลางสนใจลงทุน เช่น โรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางและไม้ยาง เป็นต้น"

          ที่สำคัญบริเวณที่ตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษจะครอบคลุมพื้นที่ อ.เมืองบึงกาฬสนามบิน สะพานข้ามแม่น้ำโขง และนิคมอุตสาหกรรมฯ อยู่ในบริเวณเดียวกัน ทั้งนี้ ขั้นตอน ต่อไปจะนำเรื่องเขตเศรษฐกิจพิเศษเสนอไปยัง กรอ.กลุ่มจังหวัด กรอ.ภาค และกรอ.ส่วนกลางต่อไป ขณะเดียวกันอยู่ระหว่างการขอปรับแก้เอกสารแนบท้ายผังเมือง ซึ่งเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่เดือนกันยายน 2561 เพื่อให้เอื้อต่อการตั้งโรงงานอุตสาหกรรมได้มากขึ้น โดยเฉพาะการแปรรูปยางพารา ซึ่งถือเป็น ภารกิจหลักของจังหวัด โดยแก้พื้นที่ สีเขียวที่ปัจจุบันจังหวัดมีกว่า 70% ไม่สามารถตั้งโรงงานได้

          สำหรับโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 5 ฝั่งไทยได้ผลักดันให้มีการออกแบบและเวนคืนเรียบร้อยแล้ว ด้าน สปป.ลาวเซ็นบันทึกข้อตกลง (MOU) กับสำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) หรือเนด้า เพื่อกู้เงินในการลงทุน คาดว่าจะเริ่มโครงการได้เดือนเมษายน 2562 มีเวลาดำเนินการ 3 ปี จะแล้วเสร็จปี 2565 ซึ่ง สปป.ลาวได้เตรียมโครงการเชื่อมต่อสะพานจำนวน 5 โครงการ ได้แก่ 1.โครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษ พื้นที่ 2,000 เฮกตาร์ 2.ถนนบายพาสอ้อมเมืองปากซัน ระยะทาง 24 กม. 3.โครงการเชื่อมทางออกสู่ทะเลไปทางท่าเรือหวุ๋นอ๋าง เวียดนาม ระยะทาง 240 กม. 4.โครงการเขื่อนกั้นตลิ่งริมโขงตลอดแนว และ 5.โครงการพัฒนาถนนทางหลวงหมายเลข 13 เวียงจันทน์-ปากซัน ระยะทาง 154 กม.

          นอกจากนี้ ครม.ได้อนุมัติโครงการศึกษาความเหมาะสมการตั้งสนามบินบึงกาฬ โดยจังหวัดได้เสนอของบประมาณไป 30 ล้านบาท โดยเมื่อ ปี 2558 จังหวัดได้จัดเตรียมพื้นที่สาธารณะประมาณ 5,000 ไร่ ตั้งอยู่ห่างจากตัวเมืองบึงกาฬ 25 กม.ไปตามทางหลวงหมายเลข 212 บึงกาฬ-หนองคาย ขณะนี้จังหวัดต้องจัดทำรายละเอียดไปเสนอและรอติดตามว่าจะอนุมัติเมื่อไหร่ ซึ่งปัจจุบันการเดินทางด้วยเครื่องบินนั้นชาวบึงกาฬต้องไปใช้สนามบินอุดรธานี นครพนม และสกลนคร ซึ่งมีระยะห่างจากสนามบินบึงกาฬที่ จะสร้างกว่า 200 กม.

          ทั้งนี้ จังหวัดยังได้รับงบประมาณเพิ่มเติมปี 2560 ทั้งหมด 193 ล้านบาท มาดำเนินโครงการโรงงานยางพารา 5 โรง ได้แก่ โรงงานน้ำยางข้น โรงงานยางแผ่น รมควัน โรงงานยางลูกขุน โรงงานหมอนยาง และโรงงานที่นอนยาง ซึ่งตั้งอยู่ที่ อ.เซกา จ.บึงกาฬ มีองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เป็นผู้รับผิดชอบและโอนถ่ายให้ชุมนุมสหกรณ์ฯที่มีการรวมกันกว่า 10 แห่ง เป็นผู้บริหารจัดการ คาดว่าน่าจะแล้วเสร็จไม่เกินเดือนมีนาคม 2562 ซึ่งจะสามารถรองรับผลผลิตยางจากพื้นที่ปลูกได้ประมาณ 7% แต่หากโครงการรับเบอร์ อีโคโนมิก คลัสเตอร์แล้วเสร็จ จะช่วยรองรับพื้นที่ปลูกได้ถึง 40% และจะเกิดการจ้างงานกว่า 300 อัตรา

          "ช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมามีนักลงทุนเยอรมันซึ่งมีหุ้นส่วนเป็นจีน ญี่ปุ่น สนใจเข้ามาลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ได้แก่ สะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 5 สนามบินบึงกาฬ และมอเตอร์เวย์อุดรธานี-บึงกาฬ ระยะทาง 140 กม. ล่าสุดสนใจลงทุนเกี่ยวกับการแปรรูปยางพาราด้วย อีกทั้งได้ลงพื้นที่สำรวจ ซึ่งนักลงทุนยังมองโอกาสอีกว่า ถ้าสามารถเชื่อมขึ้นสะพานข้ามแม่น้ำโขงทะลุไป สปป.ลาวแล้วเชื่อมท่าเรือหวุ๋นอ๋าง เวียดนาม จะมีระยะทางเพียง 240 กม. ใช้เวลาเดินทางเพียง 6 ชม. แต่หากไปเส้นทางนครพนม มุกดาหาร ระยะทาง 300 กม. ใช้เวลากว่า 11-12 ชม. โดยนักลงทุนบอกว่าบึงกาฬแทนที่จะเป็นท้ายซอย ถ้ามีสะพานเชื่อมไปเวียดนาม บึงกาฬจะกลายเป็นปากซอย คาดว่าภายในปี 2561 น่าจะเห็นทิศทางของนักลงทุนมากขึ้น" นายเจตน์กล่าว

          ผุด 8 โรงงานน้ายาง-มินินิคม 1.4 พันล้าน

          ครม.สัญจรที่เพชรบูรณ์ได้อนุมัติโครงการรับเบอร์ อีโคโนมิก คลัสเตอร์ และบรรจุเข้าแผนงานโครงการกลุ่มจังหวัดเรียบร้อยแล้ว ขณะนี้จังหวัดได้ประชุมมอบหมายให้แต่ละหน่วยงานจัดทำรายละเอียดโครงการ มูลค่างบประมาณ 1,400 ล้านบาท โดยแผนงานนี้จะขออนุมัติงบฯปี 2563 หรือใช้งบฯเหลือจ่ายของกลุ่มจังหวัดปี 2562 ได้แก่ 1.ขอตั้งโรงงานน้ำยางข้นงบฯ 800 ล้านบาท เป็นโครงการระยะ 1 ปี คาดว่าแล้วเสร็จช้าสุดปี 2564 ซึ่งมีการพูดคุยกับสหกรณ์จังหวัดขอให้กระจายที่ตั้งทั้ง 8 อำเภอ เพื่อเพิ่มความสะดวกในการขนส่ง และการบริหารจัดการในพื้นที่ รวมถึงเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเกษตรกรให้เลิกผลิตยางก้อนถ้วย จากปัจจุบันกว่า 99% ของเกษตรกรยังคงขายยางก้อนถ้วยอยู่ และประสบปัญหาราคาไม่เป็นธรรม หากเป็นน้ำยางข้นทำให้ราคาสูงขึ้น 30% จะส่งผลให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด (GPP) เพิ่มขึ้น 2,000 ล้านบาท

          2.ขอตั้งมินินิคมอุตสาหกรรม งบประมาณ 600 ล้านบาท โดยขอใช้พื้นที่สาธารณะ 100 ไร่ในการทำโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ และศูนย์แสดงสินค้า เนื่องจากเมื่อมีโรงงานที่ผลิตวัตถุดิบขั้นต้นเป็นน้ำยางข้นแล้ว ถ้าเอกชนหรือสหกรณ์อยากตั้งโรงงานแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น ยางรัดของ รองเท้าแตะ รองเท้าบูต เป็นต้น รวมถึงมีโครงการพัฒนาหลักสูตร ปวส.และ ปวช. เพื่อผลิตบุคลากรด้านเทคโนโลยียางงบประมาณ 40 ล้านบาท
 
ข่าวเขตเศรษฐกิจพิเศษ อื่นๆ