3อสังหาฉุดกำไรกลุ่มQ3ร่วง
Loading

3อสังหาฉุดกำไรกลุ่มQ3ร่วง

วันที่ : 21 พฤศจิกายน 2561
หุ้นกลุ่มอสังหาฯไตรมาส 3/61 กำไรหด 8% ร่วงต่ำ 9 พันล้านบาท ชี้ 3 รายใหญ่ "LH-SPALI-SIRI" ฉุดตลาดโชคดีตุนกำไรล่วงหน้าสูงดัน 9 เดือนสวย โบรกฯฟันธง Q 4 ยอดเร่งโอนพุ่ง หนีมาตรการคุมเข้มสินเชื่ออสังหาฯ หนุนทั้งปีกำไรโต จ่อลดประมาณการปี 62 บ.อสังหาฯจ่อปรับตัวรับกฎเหล็กน้องใหม่ "CMC" ราคาต่ำจอง 27%
          ชี้หุ้นไร้เสน่ห์ปันผลไม่ดีธุรกิจปรับแผนสู้ปี62

          หุ้นกลุ่มอสังหาฯไตรมาส 3/61 กำไรหด 8% ร่วงต่ำ 9 พันล้านบาท ชี้ 3 รายใหญ่ "LH-SPALI-SIRI" ฉุดตลาดโชคดีตุนกำไรล่วงหน้าสูงดัน 9 เดือนสวย โบรกฯฟันธง Q 4 ยอดเร่งโอนพุ่ง หนีมาตรการคุมเข้มสินเชื่ออสังหาฯ หนุนทั้งปีกำไรโต จ่อลดประมาณการปี'62 บ.อสังหาฯจ่อปรับตัวรับกฎเหล็กน้องใหม่ "CMC" ราคาต่ำจอง 27%

          ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" รวบรวมข้อมูลผลประกอบการของงวดไตรมาส (Q) 3/61 และงวด 9 เดือน (ม.ค.-ก.ย. 61) ของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ในกลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์จำนวน 9 ราย (ดูตาราง) ทำกำไรสุทธิรวมในไตรมาส 3/61 อยู่ที่ 9,321.71 ล้านบาท ลดลง 7.96% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อน (YOY) ที่เคยทำได้ 10,127.47 ล้านบาท

          ส่วนงวด 9 เดือน (ม.ค.-ก.ย. 61) มีกำไรสุทธิ 26,814.82 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 6.53% จากช่วงเดียวกันปีก่อนอยู่ที่ 25,171.22 ล้านบาท โดยพบว่า 6 บริษัททำกำไรเติบโต นำโดย 2 อันดับแรกที่กำไรเติบโตสูงสุดในกลุ่ม ได้แก่ บมจ.ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ (ORI) และ บมจ.เอพี ไทยแลนด์ (AP) ส่วนที่เหลือได้แก่ บมจ.พฤกษา โฮลดิ้ง (PSH) บมจ.ควอลิตี้เฮ้าส์ (QH), บมจ.เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น (SC) และ บมจ.แอล.พี.เอ็น. ดีเวลลอปเมนท์ (LPN)

          ในขณะที่ บจ.อีก 3 แห่ง กำไรลดลง นำโดย บมจ.แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ (LH) พบว่า งวด 9 เดือน บริษัทมีค่าใช้จ่ายใน การบริหารเพิ่มขึ้น 180.11 ล้านบาท และมีการตั้งประมาณการหนี้สินจากค่าซ่อม สาธารณูปโภคที่ต้องจัดทำเพื่อส่งมอบงานให้นิติบุคคลบ้านจัดสรร และบ้านในโครงการที่ต้องซื้อคืนเป็นเงิน 247 ล้านบาท, บมจ.ศุภาลัย (SPALI) มีรายได้จากการโอนกรรมสิทธิ์อสังหาฯลดลง 401.32 ล้านบาท และ บมจ.แสนสิริ (SIRI) มีรายได้จากการขายลดลง

          นายประกิต สิริวัฒนเกตุ ผู้อำนวยการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กสิกรไทย เปิดเผยว่า แนวโน้ม ในไตรมาส 4/61 กำไรของกลุ่มอสังหาฯยังโตดีต่อเนื่อง จากการเร่งโอนของ โครงการมากขึ้น ขณะที่มาตรการปรับปรุงเกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อที่อยู่อาศัยยังไม่ส่งผลกระทบในปีนี้ เพราะจะ เริ่มบังคับใช้ 1 เม.ย. 2562

          "มาตรการดังกล่าวจะเกิดการเร่งโอนช่วงปลายปีนี้จนยาวไปถึงไตรมาสแรก ปีหน้าก่อนมาตรการจะประกาศใช้ ภาพรวม หุ้นกลุ่มอสังหาฯในแง่ราคาหุ้นที่ไม่สูงมาก แต่ด้วยความกังวลเรื่องมาตรการคุม สินเชื่อที่อยู่อาศัย ทำให้นักลงทุนไม่กล้าที่จะเข้ามาลงทุนในหุ้นกลุ่มนี้ รวมทั้งมีการคาดการณ์ว่า เงินปันผลจะออกมาไม่ดีด้วย" นายประกิตกล่าว

          โดยมาตรการสินเชื่ออสังหาฯ จะกระทบผู้ซื้อบ้านหลังที่ 2 และ 3 ต้องจ่าย เงินดาวน์เพิ่มขึ้นด้านธนาคารพาณิชย์ ก็ถูกให้เพิ่มอัตราส่วนการให้สินเชื่อเพื่อซื้อบ้านเทียบกับมูลค่าบ้าน (LTV) เพิ่มเป็น 20% ขึ้นไปตามระดับของราคาบ้าน ทำให้ จะปล่อยกู้ได้ไม่เกิน 80% ของราคาบ้าน จากปัจจุบันได้ถึง 90%

          นอกจากนี้ปีหน้ายังเป็นช่วงภาวะดอกเบี้ยขาขึ้นท่ามกลางเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ยิ่งทำให้แนวโน้มกำลังซื้อในตลาดอสังหาฯลดลง โดยบริษัทประมาณการกำไรสุทธิปี'62 ของกลุ่มอสังหาฯไว้ที่ 39,800 ล้านบาท แต่อาจจะปรับลดประมาณการกลุ่มนี้อีกครั้ง

          นางสาวเติมพร ตันติวิวัฒน์ ผู้อำนวยการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล. เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า แนวโน้ม ไตรมาส 4 นี้จะเห็นกลุ่มนี้ทำกำไรได้ราว 12,4000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17% YoY และทั้งปีกำไรสุทธิรวมคาดอยู่ที่ 41,300 ล้านบาท เติบโต 13% จากปีที่แล้ว

          "เรายังมองหุ้นกลุ่มนี้ไม่ดีนัก เพราะมีปัจจัยลบที่กดดันหุ้นมากกว่าปัจจัยบวก ได้แก่ การปรับสัดส่วน LTV และทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้นในปีหน้า จะทำให้ความต้องการซื้อบ้านแผ่วลงไป แต่ก็เริ่มเห็นสัญญาณแผ่วลงตั้งแต่เดือนตุลาคมที่ผ่านมาแล้ว หลัง ธปท.ส่งสัญญาณว่าจะปรับสัดส่วน LTV ใหม่ ทำให้ดัชนีความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยลดลง และ คาดว่าจะยังลดลงต่อเนื่องใน พ.ย.นี้ ปีหน้า เราอาจปรับประมาณการกำไรของกลุ่มนี้ จากตอนนี้คาดการณ์กำไรรวมอยู่ที่ 43,728 ล้านบาท โต 6%"

          นางสาวเติมพรกล่าวว่า ผู้ประกอบการ หลายบริษัทอาจจะต้องปรับตัวค่อนข้างมาก ในปีหน้า โดยยังมองตลาดอสังหาฯเชิงลบ เพราะมีความไม่ชัดเจน

          ด้าน นพ.วิเชียร แพทยานันท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เจ้าพระยามหานคร (CMC) กล่าวว่า หุ้น CMC เข้าเทรดวันแรก (19 พ.ย.) ในตลาดเอ็มเอไอ ราคาเปิดอยู่ที่ 2.62 บาท ต่ำกว่าราคาจองที่อยู่ 3 บาท และปิดตลาดอยู่ที่ 2.36 บาท ลดลง 27% จากราคาจอง ซึ่งเป็นเพราะบรรยากาศตลาดหุ้นไม่สดใส ส่วนมาตรการคุม สินเชื่อบ้าน ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อบริษัท เนื่องจากส่วนใหญ่กว่า 95% เป็นลูกค้าที่ซื้อเพื่ออยู่อาศัย ในขณะที่ลูกค้า ต่างชาติและนักลงทุนมีสัดส่วน 5% ที่มีการซื้อเพื่อเก็งกำไร
 
ข่าวโครงการอสังหาฯ ภาคเอกชน อื่นๆ