ชงเคาะ4บิ๊กโปรเจกต์อีอีซี ขีดเส้นลงทุนในรัฐบาลนี้
Loading

ชงเคาะ4บิ๊กโปรเจกต์อีอีซี ขีดเส้นลงทุนในรัฐบาลนี้

วันที่ : 2 ตุลาคม 2561
"อุตตม" เตรียมเสนอบอร์ดอีอีซี ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานวันที่ 4 ต.ค.นี้ ลุย 4 โปรเจกต์โครงสร้างพื้นฐาน มูลค่า 4.26 แสนล้านบาท ทั้งเมืองการบิน ศูนย์ซ่อมอากาศยาน ท่าเรือแหลมฉบัง และมาบตาพุด หวังออกหนังสือชี้ชวนเอกชนลงทุนภายใน เดือน ต.ค.นี้ และได้รายชื่อผู้ชนะประมูลภายในรัฐบาลชุดนี้ รวมถึงโครงการรถไฟฟ้าเชื่อม 3 สนามบินที่เป็นโครงการเร่งด่วน เผยยังเตรียมดันแผนดิจิทัลพาร์ค ไทยแลนด์ งบลงทุนกว่า 1.7 หมื่นล้านบาทด้วย
          "อุตตม" เตรียมเสนอบอร์ดอีอีซี ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานวันที่ 4 ต.ค.นี้ ลุย 4 โปรเจกต์โครงสร้างพื้นฐาน มูลค่า 4.26 แสนล้านบาท ทั้งเมืองการบิน ศูนย์ซ่อมอากาศยาน ท่าเรือแหลมฉบัง และมาบตาพุด หวังออกหนังสือชี้ชวนเอกชนลงทุนภายใน เดือน ต.ค.นี้ และได้รายชื่อผู้ชนะประมูลภายในรัฐบาลชุดนี้ รวมถึงโครงการรถไฟฟ้าเชื่อม 3 สนามบินที่เป็นโครงการเร่งด่วน เผยยังเตรียมดันแผนดิจิทัลพาร์ค ไทยแลนด์ งบลงทุนกว่า 1.7 หมื่นล้านบาทด้วย

          นายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุม คณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก วานนี้ (1 ต.ค.) ว่า ที่ประชุมได้รับทราบหลักการรายละเอียดการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานสำคัญในเขต พัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) จำนวน 4 โครงการที่จะมีการนำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ซึ่งมีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานอนุมัติวันที่ 4 ต.ค.นี้ หลังจากนั้น จะนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป

          ทั้งนี้ โครงสร้างพื้นฐานหลักในอีอีซีสำคัญ มี 5 โครงการ โดยจะดำเนินการให้เป็นไปตามกรอบที่กำหนดไว้ในการออกหนังสือชี้ชวนให้ได้ภายใน ต.ค.2561 เพื่อชวนเอกชนเข้าลงทุนภายใต้สัญญาการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนหรือ PPP ที่รัฐจะลงทุนใน 5 โครงการหลักสัดส่วน 30% หรือคิดเป็นเงินลงทุนประมาณ 2.1 แสนล้านบาท จากเงินลงทุนทั้งหมดประมาณ 6.5 แสนล้านบาท โดยจะเน้นหนักไปทางโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินเป็นหลัก เพราะเป็นโครงการที่ให้ความสำคัญ และได้คัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนกับรัฐไปแล้ว เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. และกำหนดรับข้อเสนอเอกชน 12 พ.ย.นี้

          สำหรับการลงทุนในอีอีซี ทั้งภาครัฐและการลงทุนของภาคเอกชนรวม 5 ปี (2560-64) ตั้งเป้าหมายไว้ทั้งสิ้น 1.7 ล้านล้านบาท ซึ่งจะก่อให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย และถือเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี ที่มีกฎหมายรองรับไว้แล้ว ดังนั้น จึงมั่นใจว่าไม่ว่ารัฐบาลใดที่จะเข้ามาบริหารในอนาคต ก็จะต้องมาสานต่อให้เป็นไปตามกฎหมายที่กำหนดไว้

          นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) กล่าวว่า การนำกรอบโครงการเสนอต่อ กพอ. วันที่ 4 ต.ค. จะมี 4 โครงสร้างพื้นฐานหลัก มีเงินลงทุนรวมประมาณ 4.26 แสนล้านบาท ได้แก่ 1. โครงการเมืองการบินภาค ตะวันออก สนามบินอู่ตะเภา กำหนดออกหนังสือชี้ชวน ต.ค.2561 ให้เอกชนร่วมลงทุน ก.พ.2562 และเปิดดำเนินการปี 2566 2. โครงการศูนย์ซ่อมอากาศยานสนามบินอู่ตะเภา ซึ่งเป็นการย้ายศูนย์ซ่อมของการบินไทยออกจากที่เดิมเพื่อก่อสร้างทางวิ่งที่ 2 และอาคารผู้โดยสารใหม่ให้ใหญ่และทันสมัยขึ้น ออกหนังสือชี้ชวน ต.ค.นี้ กำหนดให้เอกชนร่วมลงทุน ธ.ค.2561 และเปิดดำเนินการกลางปี 2565

          3. โครงการท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 ยกระดับความสามารถเป็น 18 ล้านตู้คอนเทนเนอร์ต่อปี โดยจะเริ่มต้นจากส่วนของท่าเทียบเรือชายฝั่งก่อน กำหนดออกหนังสือชี้ชวน ต.ค.นี้ กำหนดให้เอกชนร่วมทุน ก.พ.2562 เปิดบริการปลายปี 2566 และ 4. โครงการท่าเรือมาบตาพุดระยะที่ 3 เป็นการขยายท่าเรือเดิมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน ให้เป็นท่าเรือระดับภูมิภาค กำหนดออกหนังสือชี้ชวน ต.ค.2561 ให้เอกชนร่วมทุน ม.ค.2562 เปิดดำเนินการ ต้นปี 2568

          นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า โครงการดังกล่าวจะเร่งดำเนินการเพื่อให้ได้รายชื่อเอกชนผู้ร่วมลงทุนให้เสร็จภายในรัฐบาลชุดนี้ก่อนที่จะมีการเลือกตั้ง นอกเหนือจาก 4 โครงการหลักที่จะเสนอ กพอ. วันที่ 4 ต.ค. เพื่ออนุมัติหลักการ เพื่อไปดำเนินการออกประกาศเชิญชวนเอกชนลงทุนแล้ว จะมีการรายงาน กพอ.รับทราบ ความคืบหน้าแผนปฏิบัติการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลระยะเวลา 5 ปี (2560-61) ของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมอีกด้วย ซึ่งจะมีการออกประกาศเชิญชวนเอกชน ลงทุนการพัฒนาเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัลหรือดิจิทัลพาร์ค ไทยแลนด์ ประมาณเดือน พ.ย.นี้

          "การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล จะทำให้อีอีซีเป็นศูนย์กลางด้านเศรษฐกิจ ของภูมิภาค ซึ่งจะมี 8 แผนงาน เช่น การพัฒนาเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัลหรือดิจิทัลพาร์ค ไทยแลนด์ การพัฒนา IoT สมาร์ทซิตี้ การสร้างศูนย์ทดสอบ 5G อาเซียนดิจิทัลฮับ เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดจะประกอบด้วย 22 โครงการ มีเงินลงทุนกว่า 1.7 หมื่นล้านบาท โดยจะทำให้คนในพื้นที่อีอีซีเกิดประโยชน์ที่จะได้รับการบริการด้านเทคโนโลยีที่ดีขึ้นถึง 3 ล้านคน ทั้งค่าบริการ IoT ลดลง 30% ความเร็วการสื่อสารเพิ่มเป็น 100 เท่าของ 4G" นายกอบศักดิ์กล่าว.
 
ข่าวเขตเศรษฐกิจพิเศษ อื่นๆ