อสังหาฯผวาธปท.คุมเข้ม
Loading

อสังหาฯผวาธปท.คุมเข้ม

วันที่ : 10 ตุลาคม 2561
นายวิชัย วิรัตกพันธ์ รักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยผลสำรวจดัชนี ความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ และปริมณฑลประจำไตรมาส 3
          ดัชนีเชื่อมั่น'6เดือน'ดิ่ง เอกชนหวั่นยอดขายวูบ

          นายวิชัย วิรัตกพันธ์ รักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยผลสำรวจดัชนี ความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ และปริมณฑลประจำไตรมาส 3 ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการ อสังหาฯ ในอีก 6 เดือนข้างหน้ามีการปรับตัวลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 1 ปี โดยลดลงจากไตรมาสก่อนที่ 62 จุด เหลือ 57.5 จุด โดยมีสาเหตุจากความกังวลต่อแนวโน้มราคาน้ำมันในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้น ซึ่งทำให้ราคาวัสดุก่อสร้าง ราคาที่ดินที่ปรับเพิ่ม รวมถึงความกังวลต่อมาตรการควบคุมสินเชื่อที่อยู่อาศัยของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และทิศทางการปรับขึ้นของดอกเบี้ยในอนาคต ที่จะส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของผู้บริโภค

          "ในผลสำรวจยังระบุด้วยว่าความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการในอนาคตมีการปรับตัวลดลงทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นผลประกอบการ ยอดขาย การลงทุน การจ้างงาน การเปิดโครงการใหม่ในอนาคต โดยเฉพาะต้นทุนการประกอบการที่ปรับลดลงเหลือ 35.5 จุด น้อยกว่าค่าเฉลี่ยกลางด้วย"

          ทั้งนี้ เมื่อแยกดัชนีความเชื่อมั่นในอนาคตตามกลุ่มผู้ประกอบการพบว่า ผู้ประกอบการที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ มีความเชื่อมั่นลดลงอย่างมากจากไตรมาสก่อนที่ 67.5 จุด เหลือ 59.2 จุด สวนทางกับผู้ประกอบการที่อยู่นอกตลาดหลักทรัพย์ที่มีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้นจาก 53.9 จุด เพิ่มเป็น 54.9 จุด อย่างไรก็ตาม ค่าดัชนียังสูงกว่าค่ากลางที่ระดับ 50 จุด ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าผู้ประกอบการทั้งสองกลุ่ม มีความเชื่อมั่นต่อทิศทางการดำเนินธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในอีก 6 เดือนข้างหน้า

          นายวิชัยกล่าวต่อว่า สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นในภาวะปัจจุบันของไตรมาส 3 ซึ่งมีการสำรวจระหว่างเกิดกระแส ธปท. ให้ความสนใจต่อภาวะฟองสบู่สินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นพิเศษ โดยผลสำรวจพบว่าความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้นจาก 50.9 จุด เป็น 51.7 จุด เนื่องจากผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะจีดีพีครึ่งแรกปี 61 จะขยายตัว 4.8% ตามการขยายตัวของการบริโภค การลงทุนภาคเอกชน และการใช้จ่ายของรัฐบาล

          อย่างไรก็ตาม เมื่อแยกดัชนีความเชื่อมั่นตามกลุ่มผู้ประกอบการพบว่า บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์มีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้นจาก 53.2 จุด เป็น 56.1 จุด  แต่ผู้ประกอบการที่อยู่นอกตลาดหลักทรัพย์ มีความเชื่อมั่นลดลงต่ำกว่าค่ากลาง โดยลดลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่ 47.6 จุด เหลือ 45.2 จุด สะท้อนว่าผู้ประกอบการกลุ่มที่ไม่ใช่บริษัทชั้นนำ ยังไม่มีความเชื่อมั่นในการดำเนินธุรกิจในปัจจุบันและลดลงจากไตรมาสก่อนอีกด้วย

          "เมื่อจำแนกดัชนีความเชื่อมั่นในภาวะปัจจุบันในแต่ละด้านพบว่า ความเชื่อมั่นด้านยอดขาย และด้านการลงทุน และด้านต้นทุนการประกอบการ มีค่าดัชนีเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ส่วนด้านผลประกอบการ การจ้างงาน และการขึ้นโครงการใหม่ ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้า แต่ค่าดัชนียังสูงกว่าค่ากลางที่ระดับ 50 จุด"

          ทั้งนี้ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ได้ทำการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการธุรกิจพัฒนา ที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ และปริมณฑล 5 จังหวัด นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร และนครปฐม โดยมีค่ากลางของดัชนีเท่ากับ 50 ดังนั้น หากค่าดัชนีสูงกว่าค่ากลาง หมายถึง ผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นและมีมุมมองเชิงบวกต่อสถานการณ์ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ในทางตรงกันข้าม หากค่าดัชนีต่ำกว่าค่ากลาง จะหมายถึง ผู้ประกอบการไม่มีความเชื่อมั่นและมีมุมมองเชิงลบต่อสถานการณ์ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โดยการคำนวณค่าดัชนีจะให้น้ำหนักบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ 60% และบริษัทที่ไม่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ 40%