ก.ม.ภาษีที่ดินฯ ผ่านฉลุย สมาคมบ้านจัดสรรติงไม่อิงศก.-ธอส.หนุนช่วยชะลอราคา ที่ดิน-บ้าน
Loading

ก.ม.ภาษีที่ดินฯ ผ่านฉลุย สมาคมบ้านจัดสรรติงไม่อิงศก.-ธอส.หนุนช่วยชะลอราคา ที่ดิน-บ้าน

วันที่ : 17 พฤศจิกายน 2561
ก.ม.ภาษีที่ดินฯ ผ่านฉลุย สมาคมบ้านจัดสรรติงไม่อิงศก.-ธอส.หนุนช่วยชะลอราคา ที่ดิน-บ้าน

ที่ประชุม สนช.ลงมติเอกฉันท์ 169 เสียงผ่านร่างกฎหมายภาษีที่ดิน และสิ่งปลูกสร้าง เริ่ม 1 ม.ค.63 "วิสุทธิ์" ลั่นเป็นการปฏิรูปโครงสร้างภาษี กระตุ้นให้มี ใช้ประโยชน์ที่ดินมากขึ้น ทำให้ท้องถิ่นมีรายได้ วงการชี้ช่วยทำให้ราคาที่ดินไม่พุ่งเกิน ส่งผลที่อยู่อาศัยราคาไม่แพงมาก "อธิป" ติงขาดมิติเศรษฐกิจ เผย กกร.เตรียมถกเสนอ ความคิดเห็นต่อรัฐ แนะจัดเก็บอัตราเดียว ขณะที่ สกพอ.ชี้ภาษีที่ดินฯ ทำให้ผู้ประกอบการ นิคมทยอยซื้อที่ดิน-กังวลกระทบที่ดินใหม่ที่ยังไม่ได้พัฒนา

เป็นเวลากว่า 19 เดือน ที่ร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ....อยู่ในขั้นตอนพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ก่อนที่ประชุมวานนี้ (16 พ.ย.) สนช.จะมีมติเอกฉันท์ 169 เสียงต่อ 0 เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ใช้เป็นกฎหมาย มีผลตั้งแต่ 1 ม.ค.2563 เป็นต้นไป

การประชุมสภานิติบัญญัติ (สนช.) ที่มี นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. ทำหน้าที่ประธานการประชุมได้ลงมติร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ในวาระ 2 เป็นรายมาตรา หลังจากวันก่อนสมาชิก สนช.ได้อภิปรายร่างกฎหมายดังกล่าวจนครบทั้ง 94 มาตราเสร็จสิ้นไปแล้ว โดยที่ประชุมได้ลงมติในวาระ 3 เห็นชอบร่างกฎหมายดังกล่าว ด้วยคะแนนเห็นชอบ 169 เสียง ไม่เห็นชอบไม่มี และงดออกเสียง 2 เสียง

"ที่ประชุมมีมติเห็นสมควรให้ประกาศใช้พระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นกฎหมาย ซึ่งจะได้ส่งให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ดำเนินการต่อไป" นายพีรศักดิ์ พอจิต รองประธาน สนช.คนที่ 2 ซึ่งทำหน้าที่ประธานการประชุมกล่าว

เกี่ยวกับเรื่องนี้ นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รมช.คลัง ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและ สิ่งปลูกสร้าง กล่าวว่า กฎหมายฉบับนี้จะเป็นประโยชน์ต่อการปฏิรูปโครงสร้างภาษี อุดช่องว่างช่องโหว่ของกฎหมายเดิม กระตุ้นการใช้ประโยชน์ที่ดิน และเป็นประโยชน์แก่องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นในการจัดเก็บรายได้

ชี้ที่ดินถูกใช้มากขึ้น-ราคาบ้านลด

ด้านนายวิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายงานกลยุทธ์ 2 และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ กล่าวว่า การที่สนช.ผ่านร่างภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นสิ่งที่ดีและเชื่อว่าจะส่งผลกระทบในเชิงบวก หลังจากที่รอและศึกษายาวนานตั้งแต่ปี 2533 สิ่งที่จะตามมาจะมีการนำที่ดินที่รกร้างว่างเปล่ามาใช้มากขึ้น ช่วยทำให้ราคาที่ดินที่เคยสูงขึ้นไตรมาส 2 ปีนี้เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนสูงขึ้นถึง 32% มีโอกาสลดลงมาได้ เพราะหากมีที่ดินเพิ่มขึ้นก็อาจจะช่วยให้ราคาเริ่มคลายตัวลงได้ จากการซัพพลายในการพัฒนาพื้นที่มากขึ้น

"ที่ผ่านมาราคาที่ดินสูงขึ้นมากเพราะคนไม่ยอมขายราคาจึงเพิ่มขึ้น หากซัพพลายที่ดินมีมากขึ้นราคาที่ดินก็ไม่ขึ้นรวดเร็วอย่างที่ผ่านมา ราคาที่พักอาศัยในตลาดที่อาจจะปรับตัวลดลงเพราะต้นทุนด้านที่ดินลดลง"

สมาคมบ้านจัดสรรติงขาดมิติศก.

นายอธิป พีชานนท์ นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรรและประธานคณะกรรมการสมาคมการค้ากลุ่มอสังหาริมทรัพย์ ออกแบบ และก่อสร้าง สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า มีโอกาสส่งผลกระทบในวงกว้าง เพราะการออกกฎหมายมาจากแนวคิดของกระทรวงการคลังเพียงหน่วยงาน เดียวที่ต้องการแก้ไขปัญหาภาระการนำ งบประมาณไปอุดหนุนองค์กรปกครอง ท้องถิ่น แต่ไม่ได้หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น มหาดไทยในด้านการบริการการจัดเก็บ ด้านสิ่งแวดล้อม ในการดูแลสาธารณูปโภค และการลดพื้นที่สีเขียว รวมถึงกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการจัดสรรพื้นที่เกษตรกรรมให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดและผังเมืองที่เกิดขึ้น การกำหนดมาตรการภาษีจึงขาดการเชื่อมต่อกับมิติของการแผนพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ตลอดจนผลการประเมินและมีการวิจัยถึงผลกระทบ

ทั้งนี้ การบังคับใช้กฎหมายที่มีความ ซับซ้อนในเชิงปฏิบัติเพราะมีการแบ่งอัตราภาษีเป็นขั้นบันได และแบ่งประเภท เป็นการเปิดช่องให้เกิดการทุจริตในการเรียกรับเงินได้ เพราะไม่มีการระบุอัตราไว้ชัดเจนต้องมีการตีความในการนำไปใช้ ขณะเดียวกันการจัดเก็บตามมูลค่าสินทรัพย์โดยไม่คำนึงถึงรายได้ธุรกิจที่แท้จริง ส่งผลทำให้ธุรกิจที่ประสบปัญหาไม่สามารถดำเนินธุรกิจได้จำเป็นต้องขายธุรกิจ

นอกจากนี้ ยังเป็นการเร่งให้เจ้าของที่ดินนำที่ดินออกมาใช้เกินความต้องการในตลาด และไม่สอดคล้องกับความพร้อมของสาธารณูปโภค เช่น ไฟฟ้า และการบริการจัดการ

อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทยและสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) จะหารือร่วมกันอีกครั้ง เพื่อรวบรวมผลกระทบที่เกิดขึ้น และสะท้อนปัญหาไปยังรัฐบาลให้ทบทวน บางจุดที่เป็นข้อกังวล อาทิ การจัดเก็บที่ควรเป็นอัตราเดียว

สกพอ.ชี้นิคมทยอยซื้อที่ดิน

นางสาวทัศนีย์ เกียรติภัทราภรณ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) กล่าวว่า การออกกฎหมายภาษีที่ดินทำให้ผู้ประกอบการนิคมอุตสาหกรรม เพราะกฎหมายตีความให้พื้นที่ที่ยังไม่ได้ขายและที่ดินที่ยังไม่ได้พัฒนาหรือแลนด์แบงก์ เป็นพื้นที่ว่างเปล่าจะต้องเสียภาษีที่ดินเพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการนิคมฯซื้อที่ดินครั้งละไม่มากเพื่อลดภาระภาษี ทั้งนี้ มั่นใจว่าจะไม่กระทบต่อการพัฒนาอีอีซี

นางสุวัฒนา กมลวัทนนิศา รองผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า กฎหมายภาษีที่ดินฉบับใหม่ไม่กระทบกับที่ดินที่อยู่ระหว่างการพัฒนาของ กนอ. เพราะเป็นหน่วยงานรัฐ แต่นิคมฯที่เอกชนร่วมดำเนินการกับ กนอ.อาจจะได้รับผลกระทบจากอัตราภาษีใหม่ แต่ขอดูรายละเอียดของกฎหมายลูกภายใต้กฎหมายที่ดินฉบับนี้ออกมาก่อน จึงจะพิจารณาผลกระทบที่ชัดเจนได้

นายทวิช เตชะนาวากุล กรรมการ ผู้จัดการ บริษัท ไทยอินดัสเตรียล เอสเตท จำกัด ผู้บริหารนิคมอุตสาหกรรมไฮเทค จ.อยุธยา กล่าวว่า กฎหมายที่ดินฉบับใหม่มีทั้งผลบวกและลบ โดยผลลบอาจจะทำให้ผู้ประกอบการนิคมฯต้องแบกรับภาษีที่ดินในส่วนที่ยังขายไม่ได้เพิ่มขึ้น ซึ่งผลกระทบกับนิคมใน 3 จังหวัดพื้นที่ อีอีซี คงไม่มาก เพราะขายพื้นที่ได้เร็ว ทำให้ผลักภาระไปให้ผู้ซื้อได้เร็ว

ขณะที่ นิคมฯที่อยู่นอกอีอีซี จะที่มีปัญหาขายพื้นที่ได้ยาก เพราะรัฐบาลให้สิทธิประโยชน์การลงทุนในพื้นที่ อีอีซี สูงมาก ทำให้นิคมฯนอกอีอีซี ขายพื้นที่ได้ยากขึ้น ซึ่งหากต้องจ่ายภาษีเพิ่ม ก็จะยิ่งกระทบหนัก

ส่วนผลบวก จะทำให้การจัดเก็บภาษีที่ดินมีมาตรฐานมากขึ้น เพราะในกฎหมายเดิมให้อำนาจกับองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เป็นผู้กำหนดอัตราจัดเก็บภาษี ซึ่งนิคมฯไฮเทค มีพื้นที่ติดต่อกัน 3 ตำบล ทำให้มีหลายมาตรฐานในการเก็บภาษี

ด้านนายวิบูลย์ กรมดิษฐ์ กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่การตลาด บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า จะให้ฝ่ายกฎหมายไปศึกษารายละเอียดของกฎหมายฉบับนี้ก่อน จึงจะให้ความเห็นได้ชัดเจน โดยผู้ประกอบการมองว่าปัญหานี้กระทบไม่มาก ไม่ร้ายแรงเท่ากับปัญหาความไม่มั่นคงทางการเมืองหลังการเลือกตั้ง เพราะปัญหานี้จะกระทบกับการลงทุนมากที่สุด ดังนั้นจึงอยากให้ทุกฝ่ายสามัคคี ช่วยให้การเปลี่ยนผ่านทางการเมืองเป็นไปอย่างราบรื่น

ข่าว reic จากสื่อสิ่งพิมพ์ อื่นๆ