สมคิด พานักธุรกิจทัวร์อีอีซีเซ็นเอ็มโอยู ไทย-จีน 10ฉบับที่ดินระยองพุ่ง-กลุ่มทุนชิงซื้อ
Loading

สมคิด พานักธุรกิจทัวร์อีอีซีเซ็นเอ็มโอยู ไทย-จีน 10ฉบับที่ดินระยองพุ่ง-กลุ่มทุนชิงซื้อ

วันที่ : 27 สิงหาคม 2561
สมคิด พานักธุรกิจทัวร์อีอีซีเซ็นเอ็มโอยู ไทย-จีน 10ฉบับที่ดินระยองพุ่ง-กลุ่มทุนชิงซื้อ

'สมคิด'พานักธุรกิจจีนกว่า 500 คน ลงพื้นที่โครงการอีอีซีชลบุรี-ระยอง ลงนามบันทึกข้อตกลงระหว่างไทย-จีน 10 ฉบับ ทั้งโครงสร้างพื้นฐานและสมาร์ทซิตี้

'สมคิด'พานักธุรกิจจีนทัวร์อีอีซี

เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และนายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) นำคณะผู้บริหารระดับสูงจากรัฐวิสาหกิจและภาคเอกชนจีนกว่า 500 คน นำโดย นายหวัง หย่ง มนตรีแห่งรัฐของจีน เพื่อลงพื้นที่ จ.ชลบุรีและ จ.ระยอง ศึกษาดูงานเขตอีอีซี

โดยกิจกรรมหลักในช่วงเช้า เป็นการลงนามบันทึกข้อตกลงระหว่างไทยกับจีน 10 ฉบับ ที่พีชไทยแลนด์ ศูนย์ประชุมพีช รอยัลคลิฟ โฮเต็ล กรุ๊ป เมืองพัทยา จ.ชลบุรี ซึ่งการลงนามดังกล่าว แบ่งเป็นร่วมลงทุนในโครงการต่างๆ ระหว่างเอกชนไทยกับเอกชนจีน และรัฐบาลไทยกับรัฐบาลจีน อาทิ กลุ่มเทคโนโลยี อุตสาหกรรมเทคโนโลยี และกลุ่มขับเคลื่อนการทุนขนาดใหญ่ในอีอีซี เช่น โครงสร้างพื้นฐาน การสร้างสมาร์ทซิตี้ ซึ่งภายในงานได้มีการจัดตั้งบูธสินค้าของไทย อาทิ  มะพร้าวแปรรูป และทุเรียน ปรากฏว่าได้รับผลตอบรับที่ดีจากนักลงทุนจีนเป็นอย่างมาก ส่วนกิจกรรมในช่วงบ่าย เป็นการพาคณะนักลงทุนจีนดูความคืบหน้าโครงการ เช่น ท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา นิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง นิคมอุตสาหกรรมอีสเทิร์นซีบอร์ด สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (จิสด้า) และสถาบันวิทยสิริเมธี

สนใจรถไฟเชื่อม3สนามบิน

นายอุตตมกล่าวว่า ครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่ภาครัฐและผู้บริหารระดับสูงจากภาคเอกชนชั้นนำของจีน เดินทางมาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ นำโดยนายหวัง หย่ง มนตรีแห่งรัฐของจีน เพื่อเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการร่วมว่าด้วยการค้า การลงทุน และความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างไทย-จีน ครั้งที่ 6 และร่วมสัมมนา "Thailand-China Business Forum 2018 : Strategic Partnership through the Belt and Road Initiative and the EEC" และเปิดโอกาสให้นักธุรกิจไทยได้พบกับนักธุรกิจจีน จับคู่สร้างเครือข่ายทางธุรกิจกับผู้ประกอบการธุรกิจรายใหม่ในประเทศไทย

"การเดินทางมาเยือนของภาครัฐ และภาคเอกชนของจีนครั้งนี้เหมือนเป็นการมาให้กำลังใจ ที่จะขับเคลื่อนการพัฒนาอีอีซีให้สำเร็จให้ได้ เพื่อจะได้มีโอกาสต้อนรับคณะนักธุรกิจจากจีนและชาติอื่นๆ ในฐานะหุ้นส่วนสำคัญของอีอีซี ในวันข้างหน้าที่ไม่ไกลเกินรอ โดยโครงการอีอีซี จะเป็นแพลตฟอร์มของการสร้างความเจริญทางเศรษฐกิจชุดใหม่ ที่จะเกิดขึ้นจากการลงทุนขนาดใหญ่เพื่อสร้างขีดความสามารถในการผลิตสินค้าและบริการมูลค่าสูง เพื่อสร้างนวัตกรรม พร้อมทั้งพัฒนาคน ซึ่งตรงกับเป้าหมายในการพัฒนาอุตสาหกรรม 4.0 ของจีน" นายอุตตมกล่าว

นายอุตตมกล่าวว่า การพาลงพื้นที่อีอีซี นักลงทุนจีนต้องการเห็นความคืบหน้าของโครงสร้างพื้นฐานที่ไทยกำลังขับเคลื่อน ซึ่งจะเป็นการสะท้อนว่าโครงการอีอีซีเดินหน้าจริง โดยเฉพาะโครงการรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน ที่นักลงทุนจีนเสนอมาว่าต้องการลงพื้นที่เพื่อดูความคืบหน้า รวมถึงโครงการเคเบิลใต้น้ำ เพื่อสร้างซุปเปอร์ไฮเวย์ด้านข้อมูลระหว่างไทย-ฮ่องกง-จีน

เอกชนจีนซื้อซองประมูลรถไฟ

นายคณิศกล่าวว่า โครงการอีอีซีมีความ คืบหน้าอยู่หลายด้านโดยเฉพาะเรื่องของความร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน และความร่วมมือระหว่างประเทศ "หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง" เป็นโครงสร้างที่ยิ่งใหญ่ ที่สามารถเปลี่ยนโลกได้ โดยพลังของความสำเร็จอยู่ที่ความร่วมมือในเอเชีย โดยเฉพาะจีนกับอาเซียน การที่อาเซียนจะแข็งแกร่ง คือ CLMVT (กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม และไทย) หรือ ACMECS ต้องแข็งแกร่งก่อน ซึ่งให้ความสำคัญกับเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจแนวเหนือ-ใต้ จากคุนหมิง ผ่านลาว มาถึงอีอีซี ซึ่งเชื่อมโยงเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจแนวตะวันออก-ตะวันตก อันจะเป็นประโยชน์กับทุกประเทศ เช่น จีนใต้ลงสู่อ่าวไทยที่อีอีซี ในขณะที่ลาวใช้อีอีซีเป็นทางออกทะเลอยู่แล้ว และกัมพูชาใช้ท่าเรือแหลมฉบังเป็นท่าเรือหลักในการส่งออก

นายคณิศกล่าวว่า ยังมีความเชื่อมโยงทางรางและทางอากาศ ซึ่งคือ จีน-ลาว-ไทย โดยสรุป อีอีซีจึงไม่ได้ถูกสร้างขึ้นเพื่อ 3 จังหวัดเท่านั้น แต่ถูกกำหนดให้เป็นแรงผลักดันเศรษฐกิจไทยเชื่อมโยงเข้าสู่การพัฒนา CLMVT และโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของจีน วันนี้จึงนับเป็นอีกก้าวสำคัญที่เราได้เห็นว่าทั้งภาครัฐและเอกชนของจีนให้ความสำคัญ และเล็งเห็นถึงศักยภาพอีอีซี จึงเดินทางมาศึกษาดูงานและริเริ่มความร่วมมือระหว่างกันในการลงนามบันทึกความเข้าใจ ปักธงในการพัฒนาอุตสาหกรรม 4.0 ร่วมกัน

นายคณิศกล่าวว่า จีนให้ความสนใจในโครงการรถไฟเชื่อม 3 สนามบินมากที่สุด ขณะนี้ บริษัทจีน 7 แห่ง ซื้อซองเพื่อเข้าร่วมประมูลโครงการรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน โดยภายในเดือนกันยายนจะออกทีโออาร์ และเตรียมเปิดประมูลในช่วงปลายปีนี้ ส่วนการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา ให้เป็นมหานครการบิน ภาคตะวันออกวงเงินลงทุน 6,000 ล้านเหรียญสหรัฐนั้น อยู่ระหว่างเชิญชวนนักลงทุน คาดว่าไม่เกินเดือนตุลาคมนี้ชัดเจน โดยมั่นใจว่าภายใน 6 เดือนนี้จะเห็นความชัดเจนจากเม็ดเงินลงทุนจากประเทศจีนเข้ามาอย่างแน่นอน

"รัฐบาลได้วางแผนให้อีอีซีเป็นจุดเชื่อมโยง ซีแอลเอ็มวี หากอีอีซีและซีแอลเอ็มวีแข็งแกร่ง โครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางก็จะมีความแข็งแกร่งเช่นกัน โดยกลุ่มซีแอลเอ็มวีที จะเป็นตัวเชื่อมเส้นทางเศรษฐกิจที่สำคัญในแนวอิสเวสคอเรลดอร์ และนอร์ทเวสคอเรลดอร์ ซึ่งเส้นทางนอร์ทเซาท์คอเรลดอร์ จะเชื่อมตั้งแต่เมืองคุนหมิง จีนตอนใต้ มายังเมืองบ่อหาน เวียงจันทน์ของ สปป.ลาว เข้ามายังไทยที่หนองคาย ขอนแก่น และมาที่อีอีซี ส่วนเส้นทางอิสเวสคอเรลดอร์ จะเริ่มตั้งแต่ จ.ทวายของเมียนมา เข้าไทยที่กาญจนบุรี กรุงเทพฯ อีอีซีสระแก้ว พนมเปญ โฮจินมิน อีอีซีจะเป็นท่าเรือที่สำคัญในการระบายสินค้าของจีนตอนใต้ ลาว และกัมพูชา ขณะนี้สินค้าจากลาวส่งผ่านมาที่ท่าเรือ อีอีซี 100% และสินค้าจากกัมพูชา 80% ก็ผ่านท่าเรืออีอีซี ก็จะทำให้เขตเศรษฐกิจตลอดเส้นทางของ 3 ประเทศ เติบโตได้อย่างรวดเร็ว" นายคณิศกล่าว

วงเงินลงทุน 6,000 ล้านเหรียญสหรัฐนั้น อยู่ระหว่างเชิญชวนนักลงทุน คาดว่าไม่เกินเดือนตุลาคมนี้ชัดเจน โดยมั่นใจว่าภายใน 6 เดือนนี้จะเห็นความชัดเจนจากเม็ดเงินลงทุนจากประเทศจีนเข้ามาอย่างแน่นอน

"รัฐบาลได้วางแผนให้อีอีซีเป็นจุดเชื่อมโยง ซีแอลเอ็มวี หากอีอีซีและซีแอลเอ็มวีแข็งแกร่ง โครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางก็จะมีความแข็งแกร่งเช่นกัน โดยกลุ่มซีแอลเอ็มวีที จะเป็นตัวเชื่อมเส้นทางเศรษฐกิจที่สำคัญในแนวอิสเวสคอเรลดอร์ และนอร์ทเวสคอเรลดอร์ ซึ่งเส้นทางนอร์ทเซาท์คอเรลดอร์ จะเชื่อมตั้งแต่เมืองคุนหมิง จีนตอนใต้ มายังเมืองบ่อหาน เวียงจันทน์ของ สปป.ลาว เข้ามายังไทยที่หนองคาย ขอนแก่น และมาที่อีอีซี ส่วนเส้นทางอิสเวสคอเรลดอร์ จะเริ่มตั้งแต่ จ.ทวายของเมียนมา เข้าไทยที่กาญจนบุรี กรุงเทพฯ อีอีซีสระแก้ว พนมเปญ โฮจินมิน อีอีซีจะเป็นท่าเรือที่สำคัญในการระบายสินค้าของจีนตอนใต้ ลาว และกัมพูชา ขณะนี้สินค้าจากลาวส่งผ่านมาที่ท่าเรือ อีอีซี 100% และสินค้าจากกัมพูชา 80% ก็ผ่านท่าเรืออีอีซี ก็จะทำให้เขตเศรษฐตลอดเส้นทางของ 3 ประเทศ เติบโตได้อย่างรวดเร็ว" นายคณิศกล่าว

ผุดไซเบอร์พอร์ตไทยแลนด์

นายพิเชฐกล่าวว่า ทุกวันนี้ประเทศไทยได้มีโอกาสเชื่อมโยงกับภูมิภาคอื่นๆ และทั่วโลกด้วยเทคโนโลยี ทั้งในแง่ของการลงทุนและการพัฒนาบุคลากรในพื้นที่ รวมทั้งการใช้ดิจิทัลในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม และมีผู้ประกอบการจีนจำนวนไม่น้อยที่ได้เข้ามาร่วมมือกับบริษัทไทย และรัฐบาลไทยอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในการลงพื้นที่ครั้งนี้มีการลงนามร่วมกันระหว่าง กสท โทรคมนาคม (CAT) กับ CAC ของจีน ในโครงการร่วมวางเคเบิลใต้น้ำเพื่อเป็นซุปเปอร์ไฮเวย์ด้านข้อมูลระหว่างไทย-ฮ่องกง-จีน โดยจะเป็นการเพิ่มความจุของสายเคเบิลให้ส่งข้อมูลขนาดใหญ่ จากจีนต่อไปยังประเทศเพื่อนบ้าน CLMVT ด้วยบรอดแบนด์ขนาดใหญ่ รวมถึงยังลงนามเพื่อสร้างดาต้าเซ็นเตอร์ เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลของทั้ง 2 ประเทศ และวางระบบการรักษาความปลอดภัยจากไซเบอร์ การโจรกรรมข้อมูล นอกจากนี้ ยังร่วมกับหัวเหว่ยสร้างสนามทดสอบ คลื่นความถี่ 5G หากใช้งานจนได้มาตรฐานแล้วจะได้นำระบบ 5G ออกมาขยายผลให้บริการกับประชาชน เพื่อสร้างไซเบอร์พอร์ตไทยแลนด์

ส่งนักบินอวกาศไทยไปดาวอังคาร

นายสมคิดกล่าวภายหลังต้อนรับคณะนักธุรกิจจีน ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อค่ำวันที่ 24 สิงหาคม ว่าภายหลังการลงนามความร่วมมือด้านอวกาศแล้ว ช่วงกลางเดือนหน้าจะส่งนักบินอวกาศไทยเข้าไปร่วมฝึกอบรมด้านอวกาศการเดินทางไปดาวอังคาร ส่วนความร่วมมือด้านเกษตรสมัยใหม่ ยกระดับเกษตรแม่นยำ ไบโอฟาร์มา เพื่อพัฒนาในเขต EECi ของไทยในภาคตะวันออก เพื่อสร้างวิทยาศาสตร์แห่งอนาคต การทดลองเพิ่มประสิทธิภาพสินค้าเกษตรของไทย ผ่าน Food Innopolis หรือศูนย์นวัตกรรมอาหาร การลงนามระหว่างมหาวิทยาลัยชินหัวกับ Touch เพื่อบ่มเพาะนักวิจัย เพื่อให้สถาบันวิจัยของจีนได้ช่วยพัฒนางานวิจัยสมัยใหม่ตอบโจทย์อุตสาหกรรมกลุ่มเป้าหมาย

นายสมคิดกล่าวว่า สำหรับด้านการลงทุนของการนิคมอุตสหากรรม และ CPLand เพื่อรองรับอุตสาหกรรมของจีนมาตั้งในเขตนิคม และยังมีสภาอุตสาหกรรม ร่วมมือกับสภาธุรกิจไทย-จีน เพื่อยกระดับกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายเดิม และอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ 12 สาขา โดยมีอุตสาหกรรมที่ตรงกับจีนต้องการพัฒนาถึง 6 กลุ่มอุตสาหกรรม ได้แก่ หุ่นยนต์อัตโนมัติ  ยานยนต์ ไฟฟ้า ไบโอชีวภาพ ดิจิทัล อิเล็กทรอนิกส์ จึงต้องเร่งสร้างบุคลากรรองรับอุตสาหกรรมกลุ่มเป้าหมาย หลังจากได้ตั้งคณะทำงานร่วมสองฝ่ายไทย-จีน 3 กระทรวง คือ กระทรวงวิทยาศาสตร์ ดิจิทัล อุตสาหกรรม และสถาบัน VISTEC เพื่อสร้างนวัตกรรม ผู้ประกอบการสตาร์ตอัพ

นายสมคิดกล่าวว่า การลงนามเพื่อส่งเสริมพัฒนารถยนต์ไฟฟ้า เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมแนวใหม่ ไทย-จีน พร้อมร่วมมือด้านการท่องเที่ยว การสร้างสวนยางพารา น้ำพุร้อนให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ การร่วมพัฒนาเรือขนส่งผู้โดยสาร คล้ายเรือเฟอร์รี่ เพื่อเชื่อมเขตอีอีซีภาคตะวันออก กับเขตพัฒนาพิเศษในภาคใต้ เพื่อล่องเรือชายฝั่ง การส่งเสริมการตั้งกองถ่ายภาพยนตร์ เพื่อสร้างไทยนำออกไปฉายยังจีน เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวระหว่างสองประเทศ ยอมรับว่าปัญหาอุบัติเหตุเรือร่มเกาะสมุย จีนไม่ติดใจเรื่องดังกล่าวแล้ว หลังเห็นว่าไทยให้ความสำคัญดูแลปัญหาดังกล่าว

4ธุรกิจใหญ่เล็งเพิ่มลงทุนอีอีซี

นักธุรกิจจีนที่ร่วมการเดินทางมาไทยและลงพื้นที่อีอีซี กล่าวว่า ก่อนหน้านี้รัฐวิสาหกิจและเอกชนของจีน ที่เคยลงทุนในไทยแล้วและสนใจลงทุนในอีอีซีเพิ่มเติมและได้ไปลงพื้นที่ อาทิ state Grid Corporation of China ตั้งแต่ 10 ปีก่อน มีโครงการด้านการไฟฟ้าในไทยกว่า 91 โครงการ มูลค่ารวมกว่า 100 ล้านเหรียญสหรัฐ เหตุผลเลือกมาลงทุนเพราะไทยและจีนมีความสัมพันธ์กันยาวนานแล้ว นโยบายของไทยและสภาพแวดล้อมลงทุนโปร่งใส สำหรับโครงการ อีอีซีเป็นโครงการที่สามารถจะเชื่อมต่อกับหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (วันเบลต์วันโรด) ได้ ซึ่งพื้นที่อีอีซี มีโอกาสในการลงทุนสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานพลังงานไฟฟ้า เพราะไฟฟ้าเป็นเรื่องสำคัญและประชากรไทยใช้พลังงานไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น ไม่สามารถที่จะใช้ก๊าชธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้าอย่างเดียวได้ ต้องมีการใช้พลังงานอื่นเข้ามาเสริม ปัจจุบันจีนมีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าพลังงานสะอาดกว่า 40% รวมทั้งจีนมีการใช้รถไฟฟ้ามากขึ้น และมีการวางเครือข่ายการชาร์จไฟ และมองว่าในพื้นที่อีอีซีมีโอกาสจะร่วมกับผู้ประกอบการไทย เพื่อพัฒนาด้านพลังงานไฟฟ้าร่วมกันได้

ขณะที่บริษัทด้านโครงสร้างพื้นฐานของจีนรายหนึ่ง ระบุอีกว่า บริษัทได้เข้ามาทำธุรกิจในไทยกว่า 40 ปี โดยก่อสร้างในโครงการขนาดใหญ่ของไทย อาทิ ตึกใบหยก สะพานพระราม 8 ส่วนขยายสนามบิน  เป็นต้น ซึ่งที่ผ่านมามีการใช้ทรัพยากรในท้องถิ่นถึง 70% เพิ่มการจ้างงานในไทย บริษัทมีเป้าหมายทำธุรกิจในไทยเพื่อความยั่งยืน และประสานนโยบายไทย-จีน เพื่อร่วมการพัฒนาอีอีซี นอกจากนี้ ยังมีความร่วมมือกับกลุ่มซีพี ในการลงทุนเพื่อเป็นแพลตฟอร์มไปขยายตลาดในประเทศที่ 3 ด้วย

ส่วนบริษัท China Aerospace Science and Technology Corporation ระบุว่า ธุรกิจของบริษัทเกี่ยวข้องกับด้านอวกาศ ดาวเทียม จรวด สถานีอวกาศ มีโครงการสำรวจอวกาศต่างๆ เป็นต้น ที่ผ่านมาได้มีความร่วมมือกับภาครัฐไทยอยู่แล้ว ผ่านบริษัทย่อยและบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT ก่อนหน้านี้ได้ร่วมประกอบดาวเทียมกับไทยและยิงขึ้นสู่อวกาศ ซึ่งล่าสุดมีการใช้เทคโนโลยีรีโมตเซนซิ่งใช้ข้อมูลจากดาวเทียม ทั้งด้านการเกษตร การพยากรณ์อากาศ เป็นต้น เพื่อขับเคลื่อนนโยบายไทย-จีน นอกจากนี้ บริษัท Sentury Tire เป็นบริษัทที่ผลิตยางล้อเครื่องบิน ปัจจุบันมีโรงงานในจีนอยู่ที่ชิงเต่า โดยบริษัทเป็น 1 ใน 2 แห่งในจีนที่มีเครื่องทดสอบยางล้อเครื่องบิน อีกที่เป็นของสถาบันวิจัยในจีน ถือเป็นการทำลายการผูกขาดจากต่างชาติกับจีน ปัจจุบันบริษัทได้เข้ามาลงทุนผลิตยางรถยนต์ในไทย และอาจมีโอกาสขยายการลงทุนต่อยอดด้านอื่นๆ ได้เพิ่มเติมในอนาคต

อีอีซีดึงราคาที่ดินนอกเขตพุ่งตาม

นายวิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ในฐานะรักษาการ ผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ กล่าวว่า แนวโน้มราคาที่ดินในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) มีทิศทางที่ปรับเพิ่มขึ้น หากมีความต้องการของผู้ประกอบการที่เข้าไปซื้อที่ดินเพื่อเข้าไปพัฒนาโครงการใหม่ ตามหลักดีมานด์และซัพพลาย อย่างไรก็ตาม ในส่วนการพัฒนาพื้นที่อยู่อาศัยรัฐบาลยังไม่ได้มีการกำหนดพื้นที่ชัดเจน หากมีการกำหนดชัดเจน เชื่อว่าจะมีความสนใจเข้าไปพัฒนาโครงการมากขึ้นโดย เฉพาะ ผู้ประกอบการจากส่วนกลาง จะทำให้ราคาที่ดินยังมีโอกาสปรับขึ้นต่อเนื่อง ในส่วนของศูนย์ข้อมูลยังไม่ได้มีการเก็บข้อมูลราคาที่ดินในพื้นที่อีอีซีชัดเจน แต่จากการสำรวจราคาที่อยู่อาศัยในพื้นที่อีอีซี ทั้ง 3 จังหวัด คือ ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา พบว่าราคาขายบ้านมีแนวโน้มปรับสูงขึ้น ซึ่งหนึ่งเป็นผลจากต้นทุนราคาที่ดินที่ปรับเพิ่มขึ้น โดยบ้านแนวราบต้นทุนที่ดินอาจจะคิดเป็นสัดส่วนราว 30% ของต้นทุนทั้งหมด ขณะที่ คอนโดมิเนียมขึ้นอยู่ต้นทุนราคาที่ดินและทำเล

แหล่งข่าวจากวงการค้าที่ดินกล่าวว่า ขณะนี้ราคาที่ดินตามเป้าหมายผลักดันเป็นเขตเศรษฐกิจของภาครัฐ ได้เริ่มทยอยปรับขึ้นต่อเนื่อง แม้ราคาจะไม่สูงเร็วเท่าพื้นที่ในเขตอีอีซี แต่ก็เห็นการปรับราคาต่อเนื่อง ประมาณ 20-30% แล้ว ซึ่งขึ้นอยู่ว่ารัฐบาลจะเน้นการส่งเสริมเขตเศรษฐกิจใดต่อไป

ทุนนอก-ทุนในชิงซื้อที่ดิน

น.ส.ณัฏฐนันท์ คุณาจิระกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เพลินใจ กรุ๊ป จำกัด ผู้ประกอบการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในจังหวัดระยอง กล่าวถึงราคาที่ดินในพื้นที่อีอีซีว่า ราคาที่ดินจังหวัดระยองมีการปรับขึ้นมาตลอด ตั้งแต่รัฐประกาศอีอีซี ส่วนจะปรับขึ้นในสัดส่วนเท่าใดนั้นคงแล้วแต่พื้นที่ เช่น ริมถนนสุขุมวิท ซึ่งรถไฟความเร็วสูงจะวิ่งผ่านราคาที่ดินปรับขึ้นช่วง 1 ปีเป็น 40 ล้านบาทต่อไร่ จาก 20 ล้านบาทต่อไร่ หรือปรับขึ้น 100% และหลังจากที่รัฐประกาศให้ต่างชาติถือครองที่ดินอีอีซีได้ทำให้ตลาดการซื้อขายที่ดินในจังหวัดระยองคึกคักมาก โดยต่างชาติเริ่มติดต่อเข้ามาซื้อที่ดินจำนวนมาก เทียบสัดส่วนระหว่างคนไทย คือ 50 ต่อ 50 นักธุรกิจต่างชาติต้องการซื้อที่ดินเพื่อไปตั้งโรงงานหรือโกดัง ส่วนคนไทยต้องการซื้อไปเพื่อพัฒนาอสังหาริมทรัพย์

"ในช่วงนี้เพลินใจกรุ๊ปไม่มีแผนที่จะซื้อที่ดินเพิ่ม มองว่านาทีนี้คงไม่ไปแข่งซื้อที่ดิน เนื่องจากราคาที่ดินแถบจังหวัดระยองปรับขึ้นสูงมาก โดยมีแผนขายที่ดินที่มีในมือหลายแปลง ซึ่งมีการติดต่อเจรจาทั้งกับนักลงทุนไทยและต่างชาติ การเจรจาใกล้ได้ข้อสรุปแล้ว ตั้งแต่รัฐบาลประกาศอีอีซีในพื้นที่จังหวัดระยองส่งผลให้การซื้อขายที่ดินกลับมาคึกคักมาก นอกจากนี้ ส่งผลต่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์คึกคักเช่นกัน" น.ส.ณัฏฐนันท์กล่าว และว่า ส่วนการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์โครงการใหม่ของบริษัทนั้น ยังไม่มีแผนดำเนินการในช่วงนี้ โดยจะรอความชัดเจนในเรื่องอีอีซีให้มากกว่านี้ รวมถึงการเลือกตั้งของรัฐบาลว่าจะสรุปชัดเจนวันไหน

นพ.เชิดศักดิ์ อัมพรสุขสกุล กรรมการ ผู้จัดการบริษัท แสงฟ้าก่อสร้าง จำกัด ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์จังหวัดชลบุรี เปิดเผยว่า ปัจจุบันราคาที่ดินศรีราชาปรับขึ้นไปค่อนข้างมาก โดยเฉพาะหลังมีความชัดเจนเรื่องอีอีซี ทั้งเรื่องกฎหมายอีอีซีที่เพิ่งบังคับใช้ และการที่นักลงทุนเข้ามาลงทุนในพื้นที่ต่อเนื่อง โดยที่ดินติดถนนสุขุมวิทและติดทะเลราคาอยู่ที่ 100 ล้านบาทต่อไร่ และเชื่อว่านับจากนี้จะมีความคึกคักมากขึ้นไปอีก ทั้งด้านการลงทุนและการอยู่อาศัยโดยเฉพาะช่วงศรีราชาเนื่องจากยังมีที่ดินเหลืออยู่มาก

จีนสนใจธุรกิจท่องเที่ยวระยอง

นางอนุชิดา ชิดาชินศิรประภา ประธานกิตติมศักดิ์หอการค้า จ.ระยอง ที่ปรึกษาฝ่ายเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยวหอการค้าไทย กล่าวว่า นักลงทุนชาวจีนที่สนใจมาลงทุนใน จ.ระยอง ไม่ได้สนใจลงทุนประเทศไทยเท่านั้น แต่ไปลงทุนในกัมพูชากันมาก ที่ผ่านมานักลงทุนชาวจีนทำธุรกิจขอเป็นหุ้นส่วนกับคนไทยใน จ.ระยอง อาทิ โครงการอสังหาริมทรัพย์ครบวงจร ทั้งบ้านพัก คอนโดฯ ห้างร้าน และโรงแรม เน้นพื้นที่มาบตาพุดไปจนถึงบ้านฉาง ส่วนบางกลุ่มให้ความสนใจลงทุนการผลิตชิ้นส่วนและอะไหล่ แต่ส่วนใหญ่กำลังซื้อที่เข้ามาจากจีนคือมาท่องเที่ยว ทำให้นักลงทุนชาวจีนสนใจธุรกิจรองรับการท่องเที่ยวด้วย

เสวนามุมมอง'อีอีซีสู่การพัฒนา'

ที่โรงแรมโกลเด้นซิตี้ ระยอง ต.เนินพระ อ.เมืองระยอง ชมรมเครือข่ายนิด้าตะวันออกร่วมกับคณะบริหารและพัฒนาสิ่งแวดล้อมนิด้าระยอง โดยนางพรทิพย์ พรจะเด็ด ประธานชมรมเครือข่ายนิด้าภาคตะวันออก จัดเสวนา "มุมมอง EEC สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน" โดยมี น.ส.ทัศนีย์ เกียรติภัทราภรณ์ รองเลขาธิการอีอีซี สายงานปฏิบัติการเชิงพื้นที่ ดร.อภิชาต ทองอยู่ ที่ปรึกษาเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก รศ.ดร.มนตรี โสคติยานุรักษ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือนิด้า เข้าร่วมเสวนา

ดร.อภิชาตกล่าวว่า ประเทศไทยยุคนี้ต้องทันโลกต้องติดตามอย่างใกล้ชิด การค้าโลกมีสภาวะเปลี่ยนแปลง มีสงครามการเงินที่ประเทศไทยต้องใส่ใจ โดยเฉพาะจีนกับสหรัฐอเมริกาจะส่งผลกระทบต่อประเทศไทย แต่คิดว่าโดยหลักประเทศไทยเดินมาถูกทางแล้ว เราไม่ได้เป็นปฏิปักษ์กับฝ่ายใด ได้เชิญทั้งจีนและสหรัฐอเมริกาให้ลงทุนในประเทศไทย ที่สำคัญเราต้องเร่งให้ท้องถิ่นสนับสนุนการพัฒนาอีอีซีให้ก้าวหน้า จะเป็นกลไกทางเศรษฐกิจที่จะช่วยฉุดเปลี่ยนระยองไปสู่โฉมใหม่ 2-3 เรื่อง ทำให้ระยองออกจากสภาวะซึมเศร้าของสิ่งแวดล้อมแบบเก่าไปสู่สิ่งแวดล้อมใหม่ที่ดีขึ้น เศรษฐกิจจากฐานใหม่ที่เป็นการลงทุนใหม่จะทำให้ระยองมีความก้าวหน้า ยั่งยืนมากกว่าเดิม ทุกอย่างจะดีหมด ไม่ว่าภาคเกษตรและภาคบริการ ปรับตัวไปสู่เมืองที่พัฒนาที่เรียกว่าสมาร์ทซิตี้ เป็นเมืองรุ่นใหม่ที่มีความสะดวกในเรื่องการคมนาคม เป็นศูนย์กลางและเป็นเมืองท่าที่สำคัญของประเทศทั้งทางบก ทางเรือ และทางอากาศ เพราะระยองจะเชื่อมกับเขมร ลาว และเมียนมา

ที่ดินตราดราคาพุ่ง-เน้นเก็งกำไร

นายสิทธิลักษณ์ คุ้มครองรักษ์ ประธานสภาอุตสาหกรรม จ.ตราด เปิดเผยว่า หลังรัฐบาลมาลงทุนเปิดเขตอีอีซีที่ภาคตะวันออก และการตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษที่ อ.คลองใหญ่ จ.ตราด ราคาที่ดินของ จ.ตราด พุ่งสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะ อ.คลองใหญ่ เขตพัฒนาพื้นที่พิเศษ ราคาที่ดินสูงขึ้นมาถึง 2-3 เท่าตัว มีราคาถึง 3-5 ล้านบาทต่อไร่ แต่ยอมรับว่าส่วนใหญ่ถือครองเพื่อเก็งกำไรมากกว่าจะลงทุนจริง ทั้งนี้ จ.ตราด ได้รับงบประมาณก่อสร้างถนนสายสุขุมวิทจาก 2 เลน เป็น 4 เลน จากตัวเมืองตราดถึงจุดผ่านแดนถาวรบ้านหาดเล็ก กำหนดไว้ 4 ตอน จะแล้วเสร็จไม่เกินกลางปี 2562 และบางตอนเสร็จไปแล้ว

"ราคาที่ดินน่าจะสูงขึ้นอีก หากบริษัท พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค จำกัด ผู้เช่าที่ดินในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษลงมือดำเนินการจะทำให้ราคาที่ดินสูงขึ้นอีกมาก ทราบว่าหลังปี 2562 จะเริ่มมาลงทุน ช่วงนั้นถนน 4 เลน ระบบไฟฟ้า ประปาจะแล้วเสร็จ ทางบริษัทจะเริ่มลงทุน น่าจะมาพร้อมกับสนามบินตราดที่กำลังขยายรันเวย์ให้เครื่องบินพาณิชย์ลงได้ ทำให้ จ.ตราด มีความพร้อมเพิ่มขึ้น ปลายปีนี้จะมีการเพิ่มเที่ยวบินจาก 3 ไฟลต์มาเป็น 4 ไฟลต์ต่อวัน เพื่อรองรับนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวจีนที่เพิ่มสูงขึ้นมาก" นายสิทธิลักษณ์กล่าว

นายสิทธิลักษณ์กล่าวอีกว่า ที่ดินที่จะเป็นทำเลในการรองรับการลงทุน มี 2 ประเด็นคือ ที่ดินตามเส้นทางถนนสุขุมวิทจาก ต.แสนตุ้ง อ.เขาสมิง ที่พุ่งมา จ.ตราด และออกไปเชื่อมชายแดน ทั้งใน อ.บ่อไร่ ไปยัง จ.พระตะบอง ประเทศกัมพูชา และพุ่งที่ อ.คลองใหญ่ สู่ จ.เกาะกง ประเทศกัมพูชา จะมีนักลงทุนมาลงทุนด้านคลังสินค้า และด้านโลจิสติกส์ รวมทั้งด้านอสังหาริมทรัพย์ ที่จะมีราคาพุ่งสูงขึ้นอีก ซึ่งราคาน่าจะเพิ่มขึ้นในระดับ 4-6 ล้านบาทต่อไร่ และอีกประเด็นหนึ่ง ที่ดินที่ติดเขตเมือง 3 ตำบล คือ ต.วังกระแจะ, ต.เนินทราย และ ต.ท่าพริก ที่กำลังเจริญและมีการลงทุนทางธุรกิจเพิ่มขึ้นและเมืองจะขยายมาทางทิศทางนี้ และจะเป็นพื้นที่รองรับความเติบโตของ จ.ตราด ในอนาคต

เผยจีนชอบลงทุน'เกาะกง'

นายฐิติกร โลหะคุปต์ ที่ปรึกษาหอการค้า จ.ตราด และนักลงทุนชายแดนด้านกัมพูชา กล่าวว่า หลังจากรัฐบาลประกาศให้ อ.คลองใหญ่เป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งทำถนน 4 เลน ทำท่าเรือขนส่งสินค้า ทำให้มีการซื้อที่ดินอย่างคึกคัก แต่ขณะนี้ยังไม่มีการขับเคลื่อนให้เกิดขึ้นจริง ผิดกับ จ.เกาะกง ประเทศกัมพูชา นักลงทุนจีนเข้ามาลงทุนสูงมาก กว้านซื้อที่ดินในราคา 20-30 ล้านบาท เพื่อลงทุนทางธุรกิจ เพราะรัฐบาลกัมพูชาเปิดกว้าง หาก จ.ตราด ที่ติดกับเกาะกงผ่อนคลายหรือเปิดเป็นพื้นที่ฟรีโซนในการทำธุรกิจ จะเกิดผลดีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจมากกว่าที่เป็นอยู่

นายฐิติกรกล่าวอีกว่า พื้นที่ที่น่าลงทุนและรองรับการลงทุนขนาดใหญ่จะอยู่ที่ ต.แหลมกลัด เพราะกำลังจะเป็นพื้นที่เปิดจุดผ่านแดนถาวรแห่งใหม่ คือ ที่บ้านท่าเส้น กับบ้านทมอดา จ.โพธิสัตว์ และยังติดกับ ต.ไม้รูด อ.คลองใหญ่ เป็นที่ตั้งของเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษของตำบลแหลมกลัดมีพื้นที่ราบมาก เหมาะเป็นที่ตั้งของคลังสินค้าและโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูป และแหล่งท่องเที่ยว โดยราคาที่ดินใน ต.แหลมกลัด ที่ผ่านมาสูงขึ้นและอยู่ในมือของกลุ่มทุนใหญ่

ราคาทองดีดขึ้น200บาท

นายจิตติ ตั้งสิทธิ์ภักดี นายกสมาคมค้าทองคำ เปิดเผยว่า เปิดตลาดวันที่ 25 สิงหาคม ราคาทอง ขยับขึ้นทันที 200 บาท โดยราคารับซื้ออยู่ที่ 18,600 บาทต่อบาท (ทอง) และราคาขายออก อยู่ที่ 18,700 บาทต่อบาท (ทอง) โดยการปรับขึ้นตามราคาตลาดโลกที่สูงขึ้น จากความกังวลว่าธนาคารกลางของสหรัฐ (เฟด) ปรับขึ้นดอกเบี้ย ส่งผลให้ราคาทองทำตลาดโลกปรับขึ้นมาต่อเนื่อง มาอยู่ที่ 1,205 เหรียญสหรัฐต่อออนซ์ จากสัปดาห์ที่ผ่านมา อยู่ในระดับต่ำสุดที่ 1,162 เหรียญสหรัฐต่อออนซ์ ส่วนแนวโน้มสัปดาห์หน้ายังผันผวน และต้องติดตามราคาทองอย่างใกล้ชิด เพราะขณะนี้ผ่านพ้นแนวต้านมาแล้ว รวมถึงต้องติดตามกรณีนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ที่ออกมาพูดล่าสุดว่าไม่ต้องการให้เฟดขึ้นดอกเบี้ยว่าจะมีการขานรับเรื่องนี้อย่างไร

"ราคาทองคำในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาทำผันผวนมากจากเคยอยู่ 1,210 เหรียญสหรัฐต่อออนซ์ ลดลงมาอยู่ที่ 1,162 เหรียญสหรัฐต่อออนซ์ และปรับขึ้นล่าสุด 1,205 เหรียญสหรัฐต่อออนซ์ อย่างไรก็ตาม คาดว่าราคาทองคำที่ปรับขึ้นมาตลอดช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา จะมีการปรับฐานและอาจย่อตัวลงในช่วงสัปดาห์หน้า หรือจากนี้หากมีการปรับราคาขึ้น ก็คงยังไม่ทะลุบาทละ 19,000 บาท โดยปัจจัยที่มีผลต่อราคาทองที่ปรับขึ้น ขณะนี้มาจากเฟดเป็นหลัก ส่วนสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน มีผลต่อราคาทองคำบ้าง แต่คงไม่เท่ากับดอกเบี้ยเฟด" นายจิตติกล่าว

บาทแข็งค่าตามภูมิภาค

รายงายข่าวจากศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า เงินบาทแข็งค่าหลุดระดับ 33.00 บาทต่อเหรียญสหรัฐ และแข็งค่าสุดในรอบ 2 เดือน โดยปิดตลาดวันศุกร์ที่ 24 สิงหาคม อยู่ที่ระดับ 32.70 บาทต่อเหรียญสหรัฐ อ่อนลงเล็กน้อยเทียบ วันศุกร์ที่ 17 สิงหาคม อยู่ที่ระดับ 33.25 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ซึ่งบาทไทยแข็งค่าขึ้น ตามค่าเงินหยวนและสกุลเงินภูมิภาคที่แข็งค่าขึ้น ท่ามกลางความคาดหวังต่อการเจรจารอบใหม่ระหว่างสหรัฐและจีน เพื่อลดความขัดแย้งในประเด็นด้านการค้าระหว่างสองประเทศ ขณะที่เงินเหรียญสหรัฐกลับมาเผชิญแรงขายอย่างหนัก หลังจากนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) โดยไม่อยากให้เฟดดำเนินนโยบายการเงินอย่างเข้มงวดจนเกินไป

จีดีพีโตขึ้นหนุนดัชนีหุ้น

ศูนย์วิจัยระบุต่อว่า ดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน และศุกร์ที่ผ่านมาปิดที่ระดับ 1,703.82 จุด เพิ่มขึ้น 0.82% มีแรงหนุนในช่วงต้นสัปดาห์จากตัวเลขอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจ (จีดีพี) ไทยไตรมาส 2/2561 ที่ออกมาดีกว่าคาด ประกอบกับการปรับตัวขึ้นของราคาน้ำมันตลาดโลกช่วยหนุนหุ้นกลุ่มพลังงานและตลาดในภาพรวม อย่างไรก็ดี กรอบการปรับขึ้นของดัชนีหุ้นไทยเริ่มจำกัดลงในช่วงปลายสัปดาห์ ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับการเจรจาทางการค้า ที่ปราศจากข้อสรุประหว่างสหรัฐและจีน ขณะที่นักลงทุนต่างชาติยังคงขายสุทธิหุ้นไทย

ปัจจัยเสี่ยงรุม'บาท-หุ้น'

ศูนย์วิจัยระบุว่า สำหรับวันที่ 27-31 สิงหาคมนี้ ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาท 32.60-33.00 บาทต่อเหรียญสหรัฐ โดยจุดสนใจของตลาดน่าจะอยู่ที่รายงานเศรษฐกิจการเงินของไทยในเดือนกรกฎาคม 2561 โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สถานการณ์ค่าเงินหยวน และสัญญาณความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐและประเทศคู่ค้า รวมทั้งข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐที่สำคัญในระหว่างสัปดาห์ อาทิ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนสิงหาคม ยอดขายบ้านที่รอปิดการขายรายได้-รายจ่ายส่วนบุคคล ดัชนีราคาบ้านเดือนมิถุนายน และตัวเลขจีดีพีประจำไตรมาส 2/2561 เป็นต้น ส่วนดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,685-1,675 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,710-1,725 จุด โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ สัญญาณการตอบโต้ทางการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐ อื่นๆ ได้แก่ ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 2/2561 รายได้และรายจ่ายส่วนบุคคลเดือนกรกฎาคม ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศที่สำคัญอื่นๆ ได้แก่ดัชนีภาคการผลิตเดือนสิงหาคมของจีน และผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนกรกฎาคมของญี่ปุ่น

พณ.เกาะติดผลกระทบเทรดวอร์

แหล่งข่าวจากกระทรวงพาณิชย์เปิดเผยว่า กระทรวงได้มีการประชุมหารือกับผู้ผลิตและส่งออกในภาคอุตสาหกรรมสำคัญต่อเนื่อง เน้นในประเด็นการติดตามสถานการณ์การส่งออกไทยและตลาดนำเข้าทั่วโลกว่ามีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร หลังจากสหรัฐและจีน รวมถึงประเทศต่างๆ ทยอยออกมาตรการตอบโต้ทางการค้า เช่น การตั้งกำแพงภาษี การออกเกณฑ์มาตรฐานที่เข้มขึ้น เป็นต้น โดยจากการสำรวจผลกระทบการปรับขึ้นภาษีนำเข้าระหว่างสหรัฐและจีน ยังไม่ได้กระทบชัดเจนต่อการส่งออกไทย แม้ตลาดสหรัฐตัวเลขในเดือนกรกฎาคมติดลบเล็กน้อย เพราะก่อนหน้านั้นผู้นำเข้าเร่งนำเข้า หลีกหนีต้นทุนนำเข้าสูงจากการใช้ภาษีนำเข้าใหม่ ซึ่งหลังจากขึ้นภาษีอีก 2-3 เดือนจึงจะชัดเจน ว่าส่งออกไทยได้รับผลกระทบอย่างถาวรหรือไม่ นอกจากนี้กำลังตรวจสอบปัจจัยอื่นๆ ที่กระทบต่อการส่งออก ทั้งการปรับขึ้นค่าขนส่ง ค่าเงินผันผวน และการโยกย้ายแหล่งการผลิตเพื่อหนีต้นทุนหลังประเทศสหรัฐหรือจีนปรับขึ้นภาษี หรือประเทศในอาเซียนเริ่มออกมาตรการเพิ่มภาษีแล้ว เช่น อินโดนีเซีย ซึ่งต้องดูอีกระยะว่าจะกระทบต่อการส่งออกและตลาดนำเข้าทั่วโลกอย่างไร

 
ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน
ข่าว reic จากสื่อสิ่งพิมพ์ อื่นๆ