ยึดโมเดลไฮสปีดดึงต่างชาติลงทุนอีอีซี75%
Loading

ยึดโมเดลไฮสปีดดึงต่างชาติลงทุนอีอีซี75%

วันที่ : 11 มิถุนายน 2561
ยึดโมเดลไฮสปีดดึงต่างชาติลงทุนอีอีซี75%

รัฐบาลฟาสต์แทร็ก 6 เมกะโปรเจ็กต์ EEC มูลค่ากว่า 6 แสนล้าน ดึงต่างชาติร่วมลงทุน 75% ใช้โมเดล ไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบินเป็นต้นแบบ เพิ่มการแข่งขัน เฟ้นหาของดี ดีเดย์ ส.ค.ประกาศทีโออาร์พัฒนาท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 พื้นที่ 1.6 พันไร่ มูลค่า 1.5 แสนล้าน คาดเซ็นสัญญาครบทุกโครงการก่อนเลือกตั้ง ปีหน้า

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ภายในปีนี้รัฐบาลจะเร่งเปิดประมูลและเซ็นสัญญาโครงการลงทุนขนาดใหญ่ด้านโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นโครงการสำคัญในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) จำนวน 6 โครงการ เงินลงทุนกว่า 6 แสนล้านบาทให้เสร็จ เพื่อให้เริ่มเดินหน้าพัฒนาได้ตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นไป

โดยการลงทุนจะเป็นรูปแบบ PPP fast track เปิดให้เอกชนไทยและต่างชาติเข้าร่วมลงทุน โดยเฉพาะจากต่างประเทศมีเป้าหมายจะให้เข้าร่วมลงทุนให้มากที่สุด เนื่องจากเป็นโครงการที่ประเทศไทยยังไม่เคยมีการดำเนินการมาก่อน ซึ่งจะใช้ทีโออาร์ประมูลของรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา ระยะทาง 220 กม. วงเงินกว่า 2.2 แสนล้านบาท ที่กำลังประกาศเชิญชวนนักลงทุนทั่วโลกให้ซื้อเอกสารประมูลวันที่ 18 มิ.ย.นี้ เป็นโมเดลต้นแบบการเปิดประมูลโครงการที่เหลืออีก 5 โครงการ เช่น การให้ต่างชาติเข้าร่วมลงทุนได้ 75% เป็นต้น

สำหรับ 5 โครงการที่เหลือ ได้แก่ โครงการพัฒนาสนามบินนานาชาติอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก, พัฒนาท่าเรือมาบตาพุดระยะที่ 3, พัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3, โครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (MRO) และดิจิทัลพาร์ก (EECd)

"ทุกโครงการรัฐบาลขับเคลื่อนมากว่า 2 ปี ในปีนี้จะต้องเป็นปีแห่งการลงหลักปักฐานของโครงการต่าง ๆ ใน EEC จะประมูลให้ เสร็จอย่างช้าต้นปีหน้า และเซ็นสัญญาให้ได้ก่อนที่การเลือกตั้งจะเกิดขึ้น เพื่อให้นักลงทุนเชื่อมั่นว่า EEC จะเกิดขึ้นจริง และเพื่อไม่ให้โครงการ EEC ต้องเริ่มนับหนึ่ง ใหม่อีก"

นายกอบศักดิ์กล่าวว่า ล่าสุดกำลังทดสอบความสนใจ (market sounding) ภาคเอกชนลงทุนโครงการท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 เนื้อที่ 1,600 ไร่ มูลค่าลงทุน 1.5 แสนล้านบาทเป็นครั้งที่ 2 เพื่อรับฟังข้อเสนอแนะจากภาคเอกชน ซึ่งหลังจากนี้การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) จะนำไปจัดทำรายละเอียดให้สอดรับกับความต้องการต่อไป ซึ่งท่าเรือแหลมฉบังจะเป็นท่าเรือน้ำลึกที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นท่าเรือของประเทศในแถบอินโดจีนทั้งหมด เพราะจะต่อเนื่องเชื่อมโยงไปถึงทะเลจีนใต้ มหาสมุทรแปซิฟิก และมหาสมุทรอินเดีย ในอนาคต

ทั้งนี้ให้แนวคิด กทท.ในการจัดทำร่างทีโออาร์ไปว่า นอกจากการก่อสร้างท่าเรือแล้ว ต้องคำนึงถึงพื้นที่โรงงานภายในบริเวณท่าเรือและโครงข่ายการคมนาคมขนส่งที่จะเชื่อมต่อพื้นที่ทั้งหมดไปสู่พื้นที่ภายนอกด้วย รัฐบาลจึงมีการลงทุนโครงการมอเตอร์เวย์, ถนนเชื่อมโยงเป็นโครงข่าย และรถไฟทางคู่ที่สามารถขนส่งสินค้ามาที่ท่าเรือแหลมฉบังได้ และต้องมีระบบอัตโนมัติสำหรับเคลื่อนย้ายสินค้าจากเรือขนส่งสินค้ามาสู่ท่าเรือ และส่งต่อไปยังรถไฟได้อย่างรวดเร็ว

"ภายในเดือน ส.ค.นี้ทีโออาร์จะแล้วเสร็จ จากนั้นประมาณเดือน ธ.ค.กระบวนการประมูลจะต้องเสร็จ จะเปิดประมูลแบบนานาชาติ เพื่อเปิดกว้างให้ต่างชาติเข้ามาร่วมแข่งขันด้วย เพื่อให้ได้ของที่ดีที่สุด ส่วนจะให้ร่วมทุนได้สูงสุดถึง 75% แบบเดียวกับรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินหรือไม่นั้น ขอตรวจสอบกฎหมายที่เกี่ยวข้องก่อนว่า ติดขัดจุดใดหรือไม่ แต่ขอยืนยันว่าจะไม่มีการล็อกสเป็กผู้ชนะแต่อย่างใด ตั้งเป้าเริ่มก่อสร้างในเดือน ก.พ. 2562 ใช้เวลา 5 ปี จะสร้างเสร็จ ในปี 2568"

มีประมาณการไว้ใน 5 ปีข้างหน้า หากอัตราการส่งออกของประเทศไทยโตขึ้นอย่างน้อย 5% ขีดความสามารถที่มีอยู่ปัจจุบัน 11.1 ล้านคอนเทนเนอร์/ปีจะเต็มพอดี ยังไม่รวมความต้องการของต่างประเทศ จึงทำให้ยิ่งต้องเร่งสร้างท่าเรือเฟส 3 ตั้งแต่วันนี้เพื่อรองรับการเติบโตในอนาคต และลดต้นทุนของเอกชนด้วยในทางหนึ่ง โดยขีดความสามารถจะเพิ่มขึ้น 40% เป็น 18.1 ล้านคอนเทนเนอร์/ปี การส่งออกรถยนต์จะเพิ่มขึ้นเป็น 3 ล้านคัน จากปัจจุบันอยู่ที่ 2 ล้านคัน

ด้าน ร.ต.ต.มนตรี ฤกษ์จำเนียร ผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบัง กล่าวว่า ขณะนี้โครงการอยู่ระหว่างปรับแก้การทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) คาดว่าในเดือน ส.ค.นี้ น่าจะได้รับอนุมัติ จะเดินหน้าคู่ขนานไปกับการเปิดประมูลโครงการ

ขณะที่ผลตอบรับจากการทดสอบความสนใจครั้งนี้ มีนักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศให้ความสนใจถึง 90% ในส่วนงานก่อสร้างท่าเรือตู้สินค้าทั้ง 4 ท่า คือ E1, E2, F1 และ F2 ทั้งนี้จะแบ่งพื้นที่พัฒนาใหม่เป็นฝั่ง E มี ความยาวรวม 1,500 เมตร รองรับ ตู้สินค้าได้ 3 ล้านตู้/ปี และฝั่ง F มี ความยาว 2,000 เมตร รองรับตู้สินค้าได้ 4 ล้านตู้/ปี เพื่อป้องกันปัญหาการผูกขาด ในอนาคต

 
ที่มา : หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ
ข่าวเขตเศรษฐกิจพิเศษ อื่นๆ