แห่ซื้อทรัพย์รอขาย นักลงทุนหวังผลตอบแทน 15-20%
Loading

แห่ซื้อทรัพย์รอขาย นักลงทุนหวังผลตอบแทน 15-20%

วันที่ : 3 มิถุนายน 2561
แห่ซื้อทรัพย์รอขาย นักลงทุนหวังผลตอบแทน 15-20%

เศรษฐกิจหนุนคาดปีนี้ตลาดโต 4-5%

2 บริษัทบริหารสินทรัพย์รัฐชี้ นักลงทุนรายใหญ่ทั้งไทย-เทศ ผู้ประกอบการอสังหาฯ แห่ซื้อทรัพย์รอการขาย ส่งผลแบงก์เร่งขายหนี้ NPL-NPA ลดภาระกันสำรอง ด้านบสส.เผยอพาร์ตเมนต์-โรงงานแห่ซื้อเก็งยีลด์ระยะยาว 15-20% ขณะที่บสก.ระบุ 5 เดือนประมูลแล้ว 4,500 ล้าน

นายนิยต มาศะวิสุทธิ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัทบริหารสินทรัพย์ สุขุมวิท จำกัด(บสส.) หรือ SAM เปิดเผยว่า แนวโน้มการเติบโตของสินทรัพย์รอการขาย (NPA) ในปีนี้ จะเติบโตค่อนข้างดี โดยตัวเลขไตรมาสที่ 1 สามารถขายได้แล้วกว่า 1,375 ล้านบาท คิดเป็นการเติบโต 40% จากเป้าหมายปี 2561 ที่ตั้งไว้ 3,200 ล้านบาท เมื่อเทียบกับยอดขายช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 880 ล้านบาท

โดยปัจจัยการเติบโตมาจากทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ โดยในประเทศภาคเอกชนมีการขยายการลงทุน ส่งผลให้ยอดการเติบโตในไตรมาสที่ 1 ขยายตัวดีขึ้น ทั้งจากลูกค้าธุรกิจผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ที่กำลังหาโอกาสทำธุรกิจ เช่น ตึกแถว และกลุ่มนักลงทุนที่มองหาสินทรัพย์เพื่อการลงทุน อย่างไรก็ตาม ในกลุ่มสินทรัพย์รายย่อย จะเห็นการซื้อเพื่อลงทุนไม่มากประมาณ 20% แต่จะเห็นนักลงทุนที่ซื้อเพื่อการลงทุนเกือบ 100%

ด้านนายสหรัตน์ เพ็ญกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ กลุ่มบริหารสินทรัพย์รอการขาย บสส.กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันเริ่มเห็นสัญญาณผู้ประกอบการรายใหญ่หรือนักลงทุนเริ่มซื้อสินทรัพย์รอการขาย (NPA) เพื่อการลงทุนชัดเจนมากขึ้น เนื่องจากตลาด NPA มีแนวโน้มอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้น จากปีก่อนเติบโตทรงตัวอยู่ที่ระดับ 0% แต่ปีนี้คาดว่าอัตราการขยายตัวจะอยู่ที่ 4-5% ประกอบกับเศรษฐกิจมีอัตราการเติบโตเข้าสู่ New Normal ที่ขยายตัว 3-4% ซึ่งช่วยสนับสนุนการซื้อเพื่อลงทุนของผู้ประกอบการ

ส่วนปัจจัยสนับสนุนการเติบโตของตลาด NPA ในปีนี้ จะมาจาก 3 ปัจจัยด้วยกัน คือ 1.การเติบโตของเศรษฐกิจภายในประเทศ จะเห็นว่าภาครัฐได้อนุมัติโครงการลงทุนต่างๆ เริ่มทยอยออกมา เช่น รถไฟทางคู่ รถไฟความเร็วสูง และท่าเรือ ซึ่งหนุนให้ไทยเป็น Domestic Center 3.ราคาที่ดินของไทยยังมีราคาถูกเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซียถึง 2 ใน 3 ซึ่งเป็นโอกาสสำหรับคนที่ซื้อและถือครองไว้ เพราะราคาจะไม่กระโดด และ 3.ในระยะต่อไปที่ดินราคาถูกจะหาซื้อมือ 1 ค่อนข้างลำบาก เพราะจะเป็นมือ 2 หมด โดยปัจจุบันสัดส่วนประมาณ 2 ใน 3 จะเป็นมือ 2 และคาดว่าภายใน 5 ปี สินทรัพย์จะเป็นมือ 2 ทั้งหมด ทำให้ราคาบ้านมือ 2 จะเริ่มถูกลง

การซื้อสินทรัพย์เพื่อการลงทุนหรือแสวงหาผลตอบแทน (Yield) โดยเฉพาะอพาร์ตเมนต์ใหม่ อย่างน้อยเฉลี่ย 15-20% โดยจะคุ้มทุนระยะ 7-15 ปี หรือโรงงาน จะสร้างผลตอบแทนระยะยาวเฉลี่ย 8-12% โดยเฉลี่ยทั้งพอร์ตการลงทุนของผู้ประกอบการหรือธุรกิจเอสเอ็มอีจะอยู่ที่ราว 25-30%

"ตอนนี้ใครซื้อหรือถือครองสินทรัพย์เอ็นพีเอไว้น่าจะดี เพราะมีแนวโน้มเติบโตขยายตัวต่อเนื่อง เพราะราคาที่ดินเริ่มสูงขึ้นตามการเติบโตของตลาดที่ปีนี้น่าจะโตได้ราว 4-5% จากปีก่อนไม่โตเลย"

ขณะที่นายบรรยง วิเศษมงคลชัย กรรมการและรักษาการกรรม การบริษัทบริหารสินทรัพย์กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด(มหาชน) หรือ บสก.กล่าวว่า 5 เดือนที่ผ่านมา บริษัทเข้าประมูลซื้อเอ็นพีแอลประมาณ 4,500 ล้านบาท จากเป้าทั้งปีเกือบ 9,000 ล้านบาท โดยมีความคืบหน้า ประนอมหนี้ที่อนุมัติและรอรับชำระราว 12,000 ล้านบาทและอีกประมาณ 15,000 ล้านบาท กำลังเจรจาคาดว่า จะทำได้ตามเป้าจัดเก็บรายได้ที่ตั้งไว้ทั้งปี 16,436 ล้านบาท ซึ่งรวมเอ็นพีแอลและยอดขายเอ็นพีเอ

"ที่ผ่านมาโดยหน้าที่ บริษัทต้องเข้าประมูลทุกกอง เพื่อให้ราคาไม่ตก แต่ปีนี้มีผู้เล่นหน้าใหม่ทั้งบริษัทที่ชาวญี่ปุ่น และชาวตะวันตกถือหุ้น นอกจากนี้ ยังมีผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์สนใจซื้อที่ดินแปลงใหญ่ เพื่อลงทุนพัฒนาที่อยู่อาศัยแนวราบ จึงมีการแข่งขันในตลาดทำให้ขายทรัพย์ได้ราคา"

ส่วนแนวโน้มจะเห็นธนาคารขายเอ็นพีแอลและเอ็นพีเอออกมาเพื่อลดภาระกันสำรองหนี้ฯ ภาระด้านบุคลากรและมุ่งเน้นธุรกิจหลัก โดยทั้งปีนี้บริษัทจะเข้าประมูลเอ็นพีแอลราว 70% โดยเป็นเงินต้นที่ 4 หมื่นล้านบาท จากทรัพย์ที่ธนาคารขายออกกว่า 7 หมื่นล้านบาท

"ภาพรวมทุกธนาคารทั้งธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจต่างรับรู้ทิศทางกดดันต่อการแข่งขันในธุรกิจธนาคาร ดังนั้นในอนาคตจะเห็น ธนาคารปรับขนาดและวิธีการทำงานให้เกิดความคล่องตัว ประกอบกับภาวะการแข่งขันที่ปรับตัวสูงขึ้นตามกระแสของเทคโนโลยีหรือดิจิตอลที่เข้ามาทำตลาดทางการเงินเพิ่มขึ้น เหล่านี้ ล้วนเป็นปัจจัยสนับสนุนให้สถาบันการเงินต้องตัดภาระหนี้ที่จะเป็นปัจจัยถ่วงทั้งเงินทุนสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญและโอกาสสร้างกำไรในธุรกิจธนาคาร"

 
ที่มา : หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ
ข่าวบ้านมือสอง อื่นๆ