เตรียมลงทุนสายสีส้มตะวันตก 'รฟม.' ชงบอร์ดพิจารณาแผน PPP พ.ค.นี้
Loading

เตรียมลงทุนสายสีส้มตะวันตก 'รฟม.' ชงบอร์ดพิจารณาแผน PPP พ.ค.นี้

วันที่ : 30 เมษายน 2561
เตรียมลงทุนสายสีส้มตะวันตก 'รฟม.' ชงบอร์ดพิจารณาแผน PPP พ.ค.นี้

รฟม.จ่อชงบอร์ดเดือน พ.ค.นี้ พิจารณาแผนร่วมทุนรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก ชี้ใช้ PPP Net Cost 1 รายรับทั้งงานก่อสร้างและเดินรถตลอดสาย ภาครัฐอุดหนุนไม่เกินมูลค่าโยธา 8.5 หมื่นล้านบาท

นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ  ผู้ว่าการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม. เดือนพฤษภาคมนี้ จะเสนอผลการศึกษาการลงทุนโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ตะวันตก) ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย วงเงินค่าก่อสร้าง 85,288.54 ล้านบาท พร้อมแผนการร่วมทุน (PPP) ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทยมีนบุรี (สุวินทวงศ์) งานเดินรถสายสีส้มตลอดเส้นทางทั้ง สีส้มตะวันออก และสีส้มตะวันตก

ทั้งนี้ ล่าสุด รฟม. อยู่ระหว่างการปรับปรุงรายละเอียดโครงการใหม่ โดยเฉพาะตัวเลขผู้โดยสาร และตัวเลขด้านการเงิน เนื่องจากสมมติฐานด้านการเงินที่ รฟม.ใช้ประเมินโครงการเป็นฐานเดิมเมื่อ 10 ปีก่อน และขณะนี้กระทรวงการ คลังได้ประสานให้ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (ADB) ช่วยศึกษาสมมติฐานทางการเงินใหม่ ซึ่ง รฟม.จะใช้สมมติฐานดังกล่าวของ ADB มาประเมิน

ส่วนกรณีการประเมินจำนวนผู้โดยสารนั้น เนื่องจากก่อนหน้านี้ได้ทำการประเมินไว้ว่าเมื่อเปิดบริการรถไฟฟ้าสีส้มทั้งสายทางจะมีผู้โดยสารปีแรกที่ 3 แสนคนต่อวัน แต่เนื่องจาก รฟม.มีประสบการณ์จากการเปิดบริการรถไฟฟ้าสายสีม่วง บางใหญ่-เตาปูน ที่ผู้โดยสารไม่เป็นไปตามคาด โดยสาเหตุหนึ่งเป็นเพราะรถไฟชานเมืองสายสีแดงไม่ได้เปิดให้บริการตามแผน จึงต้องทบทวนการคาดการณ์ตัวเลขผู้โดยสารสายสีส้มใหม่ให้เป็นปัจจุบันมากที่สุด

สำหรับแผน PPP งานเดินรถนั้น มีความเป็นไปได้แล้วว่าจะใช้ PPP ประเภท Net Cost คือ เอกชนลงทุน บริหารโครงการ จัดเก็บรายได้ และแบ่งรายได้ให้รัฐ เนื่องจากภาคเอกชนจะมีศักยภาพด้านการลงทุน และสามารถรับความเสี่ยงได้มากกว่ารัฐ ซึ่งในการลงทุนรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตกนั้น ผู้รับงาน 1 รายจะได้รับทั้งงานโยธา วางระบบ จัดหารถไฟฟ้า และเดินรถทั้งสายทาง (ส้มตะวันออกและตะวันตก) เช่นเดียวกับโครงการลงทุนรถไฟฟ้าสายสีชมพู แคราย-มีนบุรี และสายสีเหลือง ลาดพร้าว-สำโรง โดย รฟม.จะให้การอุดหนุนไม่เกินมูลค่างานโยธา ดังนั้นหากเอกชนรายใดเสนอขอรับการอุดหนุนน้อยที่สุดก็จะเป็นผู้ได้รับงานไป

นายภคพงศ์  กล่าวอีกว่า  หากบอร์ดให้การอนุมัติ ขั้นตอนต่อไป รฟม.จะนำส่งแผนการลงทุนไปยังกระทรวงคมนาคม ซึ่งมีเวลาพิจารณา 60 วัน ก่อนนำส่งสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เพื่อเสนอคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (คณะกรรมการ PPP) พิจารณา โดยโครงการนี้อยู่ในแผนการลงทุนตามมาตรการเร่งรัดโครงการร่วมลงทุนระหว่างกิจการในรัฐกับเอกชน (PPP Fast Track) ด้วย

นายภคพงศ์  กล่าวต่อถึงความคืบหน้าโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสีเหลืองว่า รฟม.จะส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างทั้ง 2 สายทางให้ผู้รับงาน กลุ่มกิจการร่วมค้า BSR Joint Venture (บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ RATCH และบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STEC) ได้ในเดือนมิถุนายนนี้ โดยยอมรับว่าล่าสุดการส่งมอบพื้นที่มีความล่าช้า 6 เดือนแล้ว แต่ประเมินแล้วกำหนดการเปิดให้บริการทั้ง 2 สายทางยังคงอยู่ในปี 2564

นายภคพงศ์  กล่าวเพิ่มเติมถึง กรณีที่นายเปรมชัย กรรณสูต  กรรมการผู้จัดการ บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD กำลังถูกดำเนินคดีล่าสัตว์ป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรว่า ขณะนี้ยังต้องรอคำตัดสินจากศาลให้คดีถึงที่สุดก่อน หากนายเปรมชัยได้รับการตัดสินว่าผิดจริง เชื่อว่าทาง ITD ก็จะต้องมีการปรับออกจากตำแหน่งผู้บริหาร ซึ่งเป็นไปตามหลักธรรมาภิบาลตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) โดยในส่วนของ รฟม. แม้จะไม่มีการระบุเงื่อนไขเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ในสัญญาก่อสร้าง แต่ก็สามารถใช้หลักธรรมาภิบาล ตลท.มาประกอบได้

ดังนั้นหากได้รับการตัดสินว่ามีความผิด แล้ว ITD ไม่ปรับออกจากผู้บริหาร ทาง ITD ก็จะไม่สามารถรับงานใหม่ของ รฟม.ได้อีก ส่วนงานเดิมที่ดำเนินการไปแล้วนั้นจะไม่มีผลแต่อย่างใด

 
ที่มา : หนังสือพิมพ์ข่าวหุ้น
ข่าวพัฒนาสาธารณูปโภค อื่นๆ