จอมเทียนพุ่งไร่100ล้าน รับผังเมืองใหม่-ไฮสปีด
Loading

จอมเทียนพุ่งไร่100ล้าน รับผังเมืองใหม่-ไฮสปีด

วันที่ : 22 มีนาคม 2561
จอมเทียนพุ่งไร่100ล้าน รับผังเมืองใหม่-ไฮสปีด

ส่องราคาที่ดิน 3 ทำเลทองพุ่งรับอีอีซี  บิ๊กทุนเฮโลกว้านซื้อ  หลังกรมโยธาฯอัพเกรดจากที่เกษตรเป็นเมืองอยู่อาศัยพาณิชย์-อุตสาหกรรม  เผยรอบอู่ตะเภาจาก 2 หมื่นเป็น 1.5 แสน/ตร.ว. นาจอมเทียนฮอตพุ่งไร่ละ 100 ล้านรับไฮสปีดเทรน

ผลพวงจากกรมโยธาธิการและผังเมืองกำหนดโซนพื้นที่เมืองใหม่ 3 พื้นที่ในโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรืออีอีซี ในรอบสถานีพัทยา รอบสนามบินอู่ตะเภาและบริเวณท่าเรือจุกเสม็ดทำให้ที่ดินพุ่งพรวด

ขณะเดียวกัน การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ยังเปิดพื้นที่รอบสถานีสำคัญๆ อย่างสถานีศรีราชา ให้เอกชนเช่าระยะยาว ซึ่งส่งผลให้เกิดการกว้านซื้อที่ดิน-เก็งกำไรจนราคาพุ่งสูงขึ้น

นายอนวัช สุวรรณเดช รองอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมืองเปิดเผย"ฐานเศรษฐกิจ" ว่า กรมศึกษาวางผังพื้นที่เฉพาะ 3 ทำเลได้แก่ ท่าเรือจุกเสม็ด อู่ตะเภา และ สถานีพัทยาแต่เน้นวางผังบนที่ดินเอกชนให้เป็นพื้นที่ลงทุนทั้งที่อยู่อาศัย ,พาณิชยกรรมและอุตสาหกรรม  เนื่องจากใกล้จุดสำคัญของอีอีซี ตามนโยบายของสำนักอีอีซี  แต่จะมีพื้นที่อื่นเพิ่มเติมหรือไม่ต้องรอให้ แผนนโยบายฯผ่านความเห็นชอบพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีก่อน รวมถึงการได้รับสิทธิ์ส่งเสริมการลงทุนของบีโอไอ มากน้อยแค่ไหน ต้องตรวจสอบจากสำนักงานบีโอไอ ส่วนเจ้าของที่ดินจะได้อานิสงส์จากการวางผัง ก็ต้องรอผลศึกษาว่าเหมาะพัฒนาเป็นอะไร  แต่ยอมรับว่าราคาที่ดินขยับขึ้นตั้งแต่ประกาศนโยบายแล้ว

อย่างไรก็ดี ก่อนซื้อที่ดินต้องตรวจสอบรอบด้านทั้งผังเมือง เขตป่าที่ส.ป.ก.ฯลฯ หากซื้อแล้วพัฒนาไม่ได้ จะเกิดความเสียหายตามมา ด้านนายวสันต์ คงจันทร์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทโมเดิร์นพร็อพเพอร์ตี้คอนซัลแทน จำกัด กล่าวว่า มีความเคลื่อนไหวของบริษัทพัฒนา ที่ดินในตลาดหลักทรัพย์ฯ เข้าไปกว้านซื้อที่ดินนาจอมเทียน ก่อนถึงฐานทัพเรือสัตหีบ   อาทิ กลุ่ม บริษัท เจ.เอส.พี พร็อพเพอร์ตี้จำกัด(มหาชน) เคยพัฒนาโครงการสำเพ็ง2และคอนโดมิเนียมไมอามีบางปู ล่าสุดยังร่วมทุนกับทุนจีนซื้อที่ดินกว่า 100 ไร่ พัฒนาที่อยู่อาศัย ย่านหาดนาจอมเทียน  บริษัทณุศาศิริ จำกัด (มหาชน) ซื้อที่ดิน 20-50 ไร่ เพื่อพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยทั้งแนวราบและสูง เนื่องจากทำเลนี้ มีรถไฟความ เร็วสูงมาลงบริเวณ สถานีพัทยา ด้านหน้าโรงแรมแอมบาสเดอร์ นาจอมเทียน

นอกจากนี้ยังมีกลุ่มของซีพี ที่เข้ามากว้านซื้อที่ดิน บริเวณแยกนาจอมเทียนไปถึงระยอง  สำหรับราคาที่ดินบริเวณแยกนาจอมเทียน บริเวณโรงแรมแอมบาสเดอร์นาจอมเทียน มิโมซ่าพัทยา ศูนย์การแสดงคาบาเรต์ ราคาที่ดิน 40-50 ล้านบาทต่อไร่ บริเวณสวนนงนุช ราคา 4-10 ล้านบาทต่อไร่ ขณะที่บริเวณ 2 ฝั่งของถนนสุขุมวิท ฝั่งขวา ไม่ติดทะเล ราคา 4-5 หมื่นบาทต่อตารางวา ส่วนฝั่งติดทะเลตารางวาละ 1.5 แสนบาท

นายวสันต์กล่าวต่อว่า "บริเวณนี้ปัจจุบันเป็นทำเลทองอยู่แล้วยิ่ง มีรถไฟความเร็วสูงมาลง และกรมโยธาฯกำหนดโซนทีโอดีพัฒนาที่อยู่อาศัยและพาณิชยกรรม ยิ่งทำให้ราคาขยับขึ้นอีกกว่าเท่าตัว"

นอกจากนี้ ทำเลสนามบินอู่ตะเภา ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ของทหารเรือ  ซึ่งเข้าใจว่า กรมโยธาฯได้กำหนดโซนพัฒนาไว้เข้าใจว่าจะรวมที่ดินทหารและที่เอกชนไว้ด้วยกัน ส่วนราคาที่ดิน ไม่ติดทะเลปัจจุบัน 5 หมื่นบาทต่อตารางวา ติดทะเล 1.5 แสนบาทต่อตารางวา ก่อนหน้านี้ ราคาเพียง 1-2 หมื่นบาทต่อตารางวา ซึ่งบริเวณรอบฐานทัพสัตหีบมีนักลงทุนจากส่วนกลางซื้อที่ดินเก็บหลายราย เนื่องจาก เป็นทำเลขยายต่อจากนาจอมเทียน แต่ปัจจุบันมี บริษัทนาวีเฮ้าส์ จำกัด บริษัทพัฒนาที่ดินเจ้าถิ่น พัฒนาโครงการนาวีเฮ้าส์ ซึ่งเป็นบ้านจัดสรร จำนวน 30-40 โครงการจับตลาดทหารเรือ อีกทำเลคือบ้านฉาง บริษัทได้รับการติดต่อจากบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ ซื้อที่ดินลงทุนคอนโดมิเนียมและบ้านจัดสรร

ขณะที่ที่ดินใจกลางศรีราชา บริเวณห้างโรบินสัน หรือทำเลมินิโอซาก้า ราคา 3 แสนบาทต่อตารางวาหรือ 120 ล้านบาทต่อไร่  เนื่องจาก เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของคนญี่ปุ่นซึ่งทำงานในอีสเทิร์นซีบอร์ด ทั้งอพาร์ตเมนต์ และคอนโดมิเนียม ถัดจากใจกลางศรีราชา ติดถนนสุขุมวิท ราคา ไร่ละ 20 ล้านบาท ไม่ติดถนนราคา 5-10 ล้านบาทต่อไร่  ส่วนฉะเชิงเทรา ทำเลบางปะกง เชื่อมต่ออำเภอบ้านโพธิ์  ซึ่งมีค่ายเอสซีแอสเสท ค่ายมารวย ค่ายกระดาษดั๊บเบิ้ลเอพัฒนาบ้านจัดสรรอยู่ ซึ่งราคาที่นาอยู่ที่กว่า 1 ล้านบาท หาก อยู่ใกล้ถนนราคา 3-4 ล้านบาทต่อไร่ มองว่าฉะเชิงเทราเหมาะเป็นที่อยู่อาศัยเพราะใกล้กรุงเทพฯ และยังมีรถไฟความเร็วสูงเชื่อมต่ออีกด้วย

สำหรับลาดกระบัง ใกล้สุวรรณภูมิและแอร์พอร์ตลิงค์ เชื่อม 3 จังหวัดอีอีซี นักลงทุนต้องการที่ดินจำนวนมาก แต่มีข้อจำกัดเกี่ยวกับผังเมืองโดยโซนตะวันออกและหัวสนามบิน เป็นพื้นที่เขียวลายหรือฟลัดเวย์ ราคาไร่ละเกือบ 10 ล้านบาท พื้นที่สีม่วงสร้างโรงงานอุตสาหกรรม บริเวณฝั่งตะวันออกของวัดศรีวารีน้อยและบริเวณต่อจากมอเตอร์เวย์เกือบออกไปแปดริ้ว ไร่ละ 10ล้านบาท พื้นที่สีเหลืองที่อยู่อาศัยทำเลถนนกิ่งแก้ว บางพลี อ่อนนุช ไร่ละ 20 ล้านบาทซึ่งต้องรอผังเมืองกรุงเทพมหานครปรับลดพื้นที่

 
ที่มา: หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ
ข่าวพัฒนาสาธารณูปโภค อื่นๆ