เงินทุนจ่อทะลักเข้าอีอีซี ไทย-เทศขยับรับพรบ.คลอด
Loading

เงินทุนจ่อทะลักเข้าอีอีซี ไทย-เทศขยับรับพรบ.คลอด

วันที่ : 14 มีนาคม 2561
เงินทุนจ่อทะลักเข้าอีอีซี ไทย-เทศขยับรับพรบ.คลอด

"อุตตม" เผยผลพวง พ.ร.บ.อีอีซีผ่าน สนช.จ่อคลอดเร็วๆ นี้ส่งผลให้นักลงทุนไทย-เทศเริ่มขยับเดินหน้าตัดสินใจการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมายชัดเจนแล้ว ขณะที่บางรายยังหารือกันต่อเนื่อง โดยคาดว่ากลุ่มอาลีบาบาจะสรุปพื้นที่และแผนลงทุนอีคอมเมิร์ซปาร์กสิ้นเดือนนี้

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า หลังจากพระราชบัญญัติเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (พ.ร.บ.อีอีซี) ผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้ทำให้เอกชนทั้งไทยและต่างชาติเกิดความเชื่อมั่น แสดงความสนใจลงทุนยังไทยมากขึ้นต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน รัฐบาลก็กำลังเร่งเดินหน้าโครงสร้างพื้นฐานเพื่อกระตุ้นการลงทุนเช่นกันโดยมั่นใจว่าภายใต้ พ.ร.บ.อีอีซีการลงทุนทุกรูปแบบจะมีการดูแลด้านผลกระทบสิ่งแวดล้อมและชุมชนเป็นอย่างดีจึงขอให้ภาคประชาชนมั่นใจได้ว่านโยบายนี้จะสร้างความเจริญทางเศรษฐกิจควบคู่กับวิถีชีวิตชุมชนและสิ่งแวดล้อมที่ดีกว่าเดิม

สำหรับการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายพื้นที่อีอีซี ได้แก่ จ.ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรามีนักลงทุนได้ตัดสินใจเดินหน้าลงทุนจริงแล้ว โดยล่าสุดได้รับแจ้งว่า มาสด้ายื่นขอส่งเสริมการลงทุนภายใต้แพกเกจรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ประเภทไฮบริด กับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) แล้ว หลังจากก่อนหน้านี้ค่ายบีเอ็มดับเบิลยู และเมอร์เซเดส-เบนซ์ ลงทุนตั้งโรงงานแบตเตอรี่อีวี ขณะที่แอร์เอเชียเตรียมลงนามความร่วมมือกับอีอีซีเพื่อลงทุนในโครงการพัฒนาธุรกิจซ่อมบำรุงอากาศยาน (MRO) หลังจากแอร์บัสมีการลงนามความร่วมมือกับการบินไทยไปก่อนหน้านี้แล้ว

"หลายรายที่คุยๆ กันอยู่ก็ยังมีการพูดคุยในรายละเอียดต่อเนื่องอีกพอสมควรเช่น บริษัท ซาบ (SAAB) ผู้ผลิตเครื่องบินรบและพาณิชย์จากสวีเดน ซึ่งสนใจลงทุนในอีอีซี ขณะที่อุตสาหกรรมดิจิทัล ล่าสุดเมื่อเร็วๆ นี้ได้หารือกับอาลีบาบาถึงความคืบหน้าการลงทุนในพื้นที่อีอีซี คาดว่าทางอาลีบาบาจะประกาศสรุปแผนการลงทุนและพื้นที่ลงทุนอีคอมเมิร์ซพาร์คภายในสิ้นเดือนนี้" นายอุตตม กล่าว

สำหรับหุ่นยนต์ ปีนี้จะมีบริษัทเอกชนรายใหญ่ของไทยเตรียมลงทุนด้านหุ่นยนต์รวมประมาณ 12,000 ล้านบาท อาทิ บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) และมีบริษัทจากจีนสนใจลงทุน นอกจากนี้ นักลงทุนญี่ปุ่นสนใจลงทุนเช่นกัน อาทิ ฮิราตะ กำลังหารืออยู่ รวมทั้งเดนโซ่ ที่นำระบบเข้ามาช่วยเหลืออุตสาหกรรมหุ่นยนต์ของไทยและอยู่ที่ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมกล้วยน้ำไท และฮิตาชิ ที่ลงทุนด้านบิ๊กดาต้าในอีอีซี เพื่อให้บริการหน่วยงานรัฐและเอกชนในพื้นที่

นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า หลังพ.ร.บ.อีอีซีผ่านความเห็นชอบจาก สนช.แล้วคาดว่าจะส่งผลให้นักลงทุนทยอยตัดสินใจเดินหน้าลงทุนได้ในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ (เม.ย.-มิ.ย. 61) เนื่องจากขณะนี้นักลงทุนรอ พ.ร.บ. อีอีซีประกาศใช้อย่างเป็นทางการ โดยนักลงทุนที่สนใจลงทุนอีอีซีอาทิ นักลงทุนจากไต้หวัน จีน และญี่ปุ่นโดยเฉพาะญี่ปุ่นที่ต้องการใช้ไทยเป็นฐานการลงทุนและผลิตหลักในอาเซียน

 
ที่มา : ผู้จัดการรายวัน 360 องศา
ข่าวเขตเศรษฐกิจพิเศษ อื่นๆ