นิคมจี้เว้นภาษีแลนด์แบงก์ หวั่นต้นทุนที่ดินรอขายพุ่ง
Loading

นิคมจี้เว้นภาษีแลนด์แบงก์ หวั่นต้นทุนที่ดินรอขายพุ่ง

วันที่ : 26 กุมภาพันธ์ 2561
นิคมจี้เว้นภาษีแลนด์แบงก์ หวั่นต้นทุนที่ดินรอขายพุ่ง

กลุ่มผู้ประกอบการ นิคมฯห่วงภาษีที่ดินฯฉบับใหม่ ดันต้นทุนภาษีเพิ่ม เสนอ สนช. ยกเว้นภาษีแลนด์แบงก์ ที่รอการ  พัฒนาขาย เพราะต้องใช้เวลา 5-10 ปี จึงจะขายได้ เป็นต้นทุนที่ยังไม่สร้างรายได้

นางอัญชลี ชวนิชย์ นายกสมาคมนิคมอุตสาหกรรมไทยและพันธมิตร เปิดเผยถึงผลกระทบจากร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. ... ว่า สำหรับ ผู้ประกอบการนิคมอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบจากกฎหมายภาษีที่ดินฯฉบับนี้พอสมควร เนื่องจากนิคมฯเป็นการรวมที่ดินแปลงใหญ่ และต้องใช้เวลาการขออนุญาตทำนิคมฯ การทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) และขั้นตอนต่างๆที่ใช้เวลานาน และจะต้องใช้เวลาในการพัฒนาที่ดินทำให้กว่าจะขายที่ดินได้ก็ใช้เวลา 5-10 ปี ซึ่งตามกฎหมายฉบับใหม่จะต้องมีภาระด้านภาษีในส่วนของที่ดินรกร้างว่างเปล่าที่รอการพัฒนาเพิ่มขึ้นอีกมาก (เพดานจัดเก็บ 5%) เนื่องจากในหลักการของกฎหมาย จะมีเพดานจัดเก็บสูงกว่าที่ดินประเภทอื่น เพราะต้องการให้นำที่ดินของมาพัฒนาเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มระบบเศรษฐกิจ

โดยในขณะนี้ที่ดินของนิคมฯ อยู่ในกลุ่มของหมู่บ้านจัดสรร ที่ได้รับการยกเว้นภาษีที่ดินที่รอการขาย 3 ปี แต่สำหรับนิคมจะใช้เวลานานกว่านี้ไม่ต่ำกว่า 5 ปี ซึ่งได้เสนอสภานิติบัญญัติ แห่งชาติ (สนช.) พิจารณาแก้ไขในเรื่องนี้ รวมทั้งจะขออัตราภาษีที่แยกการพัฒนาเป็นเฟส เช่น นิคมมีที่สต็อกที่ดิน 1 หมื่นไร่ จะทยอยพัฒนาที่ดินสาธารณูปโภคต่างๆเป็นเฟส เฟสละ 2 พันไร่ ซึ่งจะใช้เวลาไม่น้อยกว่า 3-5 ปี จึงจะขายได้ ส่วนสต็อกที่ดินที่ยังไม่ได้พัฒนาขอให้ภาครัฐไม่ถือว่าเป็นที่ดินรกร้างว่างเปล่าที่มีอัตราภาษีสูง ขอให้ สนช. ยกเว้นเก็บภาษีในส่วนนี้ เพราะเป็นต้นทุนของนิคมฯที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้

นอกจากนี้ โรงงานภายในนิคมฯ ก็ได้รับผลกระทบพอสมควร เนื่องจากแต่ละโรงงานมีที่ดินและอาคารเป็นจำนวนมาก โดยขอให้ผ่อนผันเก็บภาษีที่ดินในอัตราผ่อนปรนไปก่อน หากปรับขึ้นใช้อัตราใหม่ทั้งหมดจะต้องจ่ายภาษีที่ดินเพิ่มขึ้น 200-300% เมื่อเทียบกับอัตราเดิมตามกฎหมาย ฉบับเก่า

"ผู้ประกอบการยังกังวลในเรื่องการให้อำนาจองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น อบต.(องค์การบริหารส่วนตำบล) ต่างๆ จัดเก็บภาษีที่ดินเพิ่มขึ้นได้ไม่เกินเพดานที่กำหนด ภายหลังระยะเวลาผ่อนปรน ที่กำหนดไว้ที่ 5 ปี ทำให้ผู้ประกอบการขาดความไม่มั่นใจในเรื่องของอัตราภาษี ดังนั้นจึงจะต้องแจ้งล่วงหน้าให้กับนักลงทุนได้รับทราบ เพื่อใช้คำนวณต้นทุนการผลิต โดยเฉพาะรายใหม่ที่จะเข้ามาลงทุน เพราะภาษีที่ดินเป็นต้นทุนระยะยาวที่ต้องจ่ายทุกปี จะต้องมีความชัดเจนว่าในอนาคตจะปรับเพิ่มขึ้นมากน้อยแค่ไหน" นางอัญชลี กล่าว

นายทวิช เตชะนาวากุล กรรมการ ผู้จัดการ บริษัท ไทยอินดัสเตรียล เอสเตท จำกัด ผู้ประกอบการนิคมอุตสาหกรรมไฮเทค กล่าวว่า ผลกระทบของกฎหมายนี้มีทั้งด้านบวกและลบ โดยในด้านบวก จะทำให้การประเมินภาษีที่ดินมีมาตรฐานเดียวกัน เพราะจะใช้ราคาประเมินที่ดินจากกรมที่ดินเป็นราคากลางในการคิดภาษี

นอกจากนี้ ตัวโรงงานที่อยู่ภายในนิคมฯ ที่มีเป็นร้อยโรงงาน บางรายก็มีปัญหาในเรื่องการประเมินภาษีที่ดิน ขึ้นอยู่กับ อบต. ว่าจะประเมินรายได้แต่ละโรงงานอย่างไร ขึ้นอยู่กับบุคคลและการเจรจา หากไม่เห็นด้วยก็จะเกิดการฟ้องร้องตามมา ซึ่งกฎหมายภาษีใหม่ จะเข้ามาช่วยแก้ไขในเรื่องนี้ได้ ดังนั้นในภาคอุตสาหกรรมที่จะต้องเสียภาษีต่างๆอยู่แล้ว จึงมีปัญหาไม่มาก

ส่วนผลด้านลบ จะกระทบกับสต็อกที่ดินที่แต่ละนิคมฯจะต้องมีเก็บไว้เพื่อทยอยพัฒนาขายให้กับโรงงาน ที่จะปรับสูงขึ้น แต่มองว่าไม่ส่งผลกระทบมากนัก เพราะราคาที่ดินจะขึ้นตามตลาดอยู่แล้ว และสามารถนำต้นทุนส่วนนี้ไปเพิ่มเป็นต้นทุน การขายที่ดินไปสู่ผู้ซื้อได้ และยังเป็นห่วงในเรื่องของการประเมินราคาที่ดินใน บางพื้นที่ ที่สูงกว่าราคาขาย เช่น ตั้งราคาขายไว้ ที่ไร่ละ 1.2 ล้านบาท แต่ราคาประเมิน 1.5 ล้านบาท ทำให้ผู้ประกอบการต้อง เสียภาษีในอัตรา 1.5 ล้านบาท ซึ่งสูงเกินราคาขายจริง ต่างจากอดีตที่ราคาประเมินจะต่ำกว่าราคาขาย ซึ่งผู้ประกอบการจะจ่ายภาษีตามราคาประเมิน ซึ่งเป็นอัตราที่เป็นธรรมกว่า

นายวิบูลย์ กรมดิษฐ์ กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่การตลาด บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า กฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของ สนช. มองว่าจะไม่กระทบต่อบริษัทฯมากนัก เพราะภาษีที่เพิ่มขึ้นในส่วนของสต็อกที่ดินสามารถผลักภาระภาษีนี้ไปสู่ผู้ซื้อได้ นอกจากนี้ ที่ดินของนิคมฯ อมตะ อยู่ในพื้นที่ อีอีซี ซึ่งเป็นที่ต้องการของ นักลงทุนอยู่แล้ว จึงมองว่าต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจะมีไม่มากจนกระทบต่อการขาย

 
ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
ข่าวกฎหมายอสังหาฯ อื่นๆ