รัฐบาลติดเครื่อง อีอีซี ดันเศรษฐกิจปีจอ
Loading

รัฐบาลติดเครื่อง อีอีซี ดันเศรษฐกิจปีจอ

วันที่ : 2 มกราคม 2561
รัฐบาลติดเครื่อง อีอีซี ดันเศรษฐกิจปีจอ

อนันญา มูลเพ็ญ

ดวงนภา ประเสริฐพงษ์

รัฐบาลเร่งเครื่องลุยอีอีซีหมุนเศรษฐกิจปีจอ

ปี 2560 ที่ผ่านไปของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เร่งขับเคลื่อนโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ในพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ จ.ระยอง ชลบุรี และฉะเชิงเทรา ให้เป็นรูปเป็นร่าง ทั้งกำหนดกรอบเวลาการประกาศร่างทีโออาร์ การเชิญชวนเอกชนเข้าร่วมลงทุน ระยะเวลาการเปิดให้บริการโครงการหลัก ตลอดจนการกำหนดสิทธิประโยชน์สำหรับผู้ลงทุนให้เกิดความชัดเจน ตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นไป รัฐบาลได้ตั้งความหวังไว้สูงว่าอีอีซีจะเป็นแรงส่งที่สำคัญของเศรษฐกิจปีนี้และปีต่อๆ ไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมขั้นสูงเป้าหมาย 10 กลุ่ม

สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จะเร่งรัดโครงการในอีอีซีต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา โดยหลังจากร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก เริ่มมีผลบังคับใช้แล้ว รัฐบาลโดยกระทรวงอุตสาหกรรมมีแผนการที่จะโรดโชว์เพื่อดึงดูดการลงทุนในประเทศต่างๆ

"โครงการที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่อีอีซีทั้งหมด จะต้องผ่านการประกวดราคาและเริ่มการก่อสร้างในปีนี้ อีอีซีเป็นโครงการสำคัญและได้รับการตอบรับดีตั้งแต่ปีที่แล้ว หากเราไม่มีโครงการนี้ นักลงทุนจะไปเวียดนามแน่นอน ดังนั้นรัฐบาลจะขับเคลื่อนโครงการนี้ให้ต่อเนื่อง" สมคิด กล่าว

สำหรับโครงการที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญๆ ในอีอีซีที่คณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (กนศ.) หรือบอร์ดอีอีซี ที่นายกรัฐมนตรีเป็นประธานได้เห็นชอบกรอบเวลาการเปิดให้เอกชนเข้าร่วมประมูลไปในปลายปี 2560 มี 3 กลุ่ม ประกอบด้วย 1.โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสนามบิน 3 แห่ง (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) ที่จะจัดทำร่างทีโออาร์เสร็จในเดือน ม.ค. ประกาศเชิญชวนเอกชนเริ่มลงทุนเดือน ก.พ. เจรจาต่อรองเอกชนแล้วเสร็จในเดือน ก.ค. 2561 และเปิดให้บริการในปี 2566

กลุ่มที่ 2 กลุ่มโครงการเกี่ยวกับเมืองการบินภาคตะวันออก ประกอบด้วย โครงการเมืองการบินภาคตะวันออกจะทำทีโออาร์และเชิญเอกชนร่วมลงทุนในเดือน พ.ค. เจรจาต่อรองแล้วเสร็จในเดือน ต.ค. 2561 เปิดให้บริการปี 2566 โครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา ทำรายละเอียดร่วมทุนกับเอกชนได้ในเดือน มี.ค. 2561 เริ่มดำเนินธุรกิจในปี 2564 และโครงการพัฒนาศักยภาพสนามบินอู่ตะเภา ประกอบด้วยหลายส่วน เช่น ก่อสร้างทางวิ่งที่ 2 ก่อสร้างแท็กซี่เวย์จะดำเนินการให้สอดคล้องกับเมืองการบินภาคตะวันออก

กลุ่มที่ 3 กลุ่มเกี่ยวข้องกับท่าเรือและการขนส่งทางรางเพื่อเชื่อม 3 ท่าเรือ โครงการท่าเรือแหลมฉบังขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาสิ่งแวดล้อม จะเปิดเชิญชวนเอกชนในเดือน มิ.ย. คัดเลือกและเจรจาแล้วเสร็จ ต.ค. 2561 โครงการท่าเรือมาบตาพุด อยู่ระหว่างพิจารณาอนุมัติสิ่งแวดล้อม จะประกาศเชิญชวนเอกชนร่วมลงทุน และเจรจาต่อรองแล้วเสร็จในเดือน มิ.ย.และ ก.ย. 2561 ตามลำดับ โครงการท่าเรือพาณิชย์สัตหีบ อยู่ระหว่างก่อสร้างอาคารผู้โดยสารเรือเฟอร์รี่ คาดว่าจะเปิดให้บริการเดือน ก.พ. 2562 โครงการรถไฟทางคู่เชื่อมท่าเรือ 3 แห่ง จะจัดทำรายงานการศึกษาสิ่งแวดล้อมเสร็จปี 2562 คัดเลือกเอกชนมาดำเนินการในปี 2563 โครงการเชื่อมโยงแบบไร้รอยต่อให้การท่าเรือฯ ไปศึกษาและทำข้อเสนอจัดหาระบบโปรแกรมเชื่อมข้อมูล โครงการไอซีดี จ.ฉะเชิงเทรา จะจัดจ้างที่ปรึกษาได้ไม่เกินเดือน ก.พ. 2561

ด้าน อุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า ปี 2561 รัฐบาลจะสามารถบรรลุข้อตกลงกับนักลงทุนในหลายอุตสาหกรรมที่จะเข้าไปลงทุนในอีอีซี โดยเฉพาะนักลงทุนจากจีนที่จะเพิ่มขึ้นตามที่รัฐบาลตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะเข้าไปเจรจาและดึงการลงทุนตั้งแต่ช่วงเดือน ม.ค. 2561 มีเป้าหมายคือต้องเป็นอุตสาหกรรมที่ยึดโยงกับนโยบายหลักของรัฐบาล คือ การเดินหน้าบนพื้นฐานการพัฒนาประเทศไทยสู่ 4.0

ทั้งนี้ กลางเดือน ธ.ค. 2560 ที่ผ่านมา บริษัท การบินไทย ได้มีการลงนามเอ็มโอยูเพิ่มเติม เพื่อประเมินโอกาสธุรกิจของโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานในพื้นที่สนามบินอู่ตะเภากับแอร์บัส ซึ่งคาดว่าจะมีการลงทุนระยะที่ 1 ประมาณ 7,000 ล้านบาท ขณะเดียวกันยังมีผู้ประกอบการให้ความสนใจดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการพัฒนาพื้นที่สนามบินอู่ตะเภาที่อยู่ระหว่างขั้นตอนการเจรจา หากสามารถบรรลุข้อตกลงต่างๆ ได้จะมีเม็ดเงินลงทุนกว่า 1.2 หมื่นล้านบาท

ส่วนการเข้ามาลงทุนของกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ มีหลายกลุ่มไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมยานยนต์ มีการยื่นขอส่งเสริมไปแล้ว คาดว่ามูลค่าการลงทุนจะอยู่ที่ประมาณ 1.47 หมื่นล้านบาท อุตสาหกรรมดิจิทัลและอี-คอมเมิร์ซ ที่ลาซาด้าซึ่งเป็นอี-คอมเมิร์ซในเครือ อาลีบาบาเข้ามาลงทุนแล้วและได้วางแผนการลงทุนเพื่อพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการกระจายสินค้าอี-คอมเมิร์ซของภูมิภาคอาเซียน โดยตั้งเป้าหมายกระจายสินค้าได้สูงสุดปีละ 100 ล้านชิ้น และอาลีบาบายังมีแผนจัดตั้งศูนย์พัฒนาบุคลากรด้านดิจิทัล และแผนการจัดตั้งดาต้าเซ็นเตอร์ในพื้นที่อีอีซี โดยมูลค่าการลงทุนเบื้องต้นเฉพาะศูนย์กระจายสินค้าอี-คอมเมิร์ซจะอยู่ที่ 5,000-6,000 ล้านบาท

"เชื่อว่าอีอีซีจะเป็นตัวกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหม่ เป็นชุดความเจริญใหม่ที่จะมีความชัดเจนมากขึ้นในปี 2561 เนื่องจากจะเริ่มเห็นความชัดเจนของระบบโครงสร้างพื้นฐานที่เริ่มมีควา มคืบหน้าการร่วมลงทุนกับเอกชน หรือพีพีพี โดยจะเห็นการนำร่องของการพัฒนาท่าเรือมาบตาพุด เฟส 3 ท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 และศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา" อุตตม กล่าว

ปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า โครงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานหลักของอีอีซีคาดว่าจะได้รับการผลักดันให้เข้า ครม.ทั้งหมดภายในปี 2561 ก่อนจะมีการเลือกตั้ง เพราะหากเริ่มต้นได้ในรัฐบาลนี้ หลังจากนี้ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลใดเข้ามาโครงการต่างๆ จะได้รับการสานต่อไม่ว่าจะเป็นโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินเส้นทางกรุงเทพฯ-ระยอง ศูนย์ซ่อมบำรุงในสนามบินอู่ตะเภา ท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 ท่าเรือมาบตาพุด เฟส 3

ทั้งนี้ เมื่อ พ.ร.บ.อีอีซีมีผลใช้บังคับ โครงการหลักๆ ได้รับการขับเคลื่อนเป็นรูปธรรมด้วยมาตรการเร่งด่วน หรือพีพีพี ฟาสต์แทร็ก จะสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนในการตัดสินใจเข้ามาลงทุนในอีอีซีอย่างต่อเนื่อง ในส่วนของมาตรการให้สิทธิประโยชน์ที่รัฐบาลประกาศให้นักลงทุนหรือเงื่อนไขพิเศษต่างๆ เช่น การเปิดให้สถาบันการศึกษาชั้นนำจากต่างประเทศเข้ามาตั้งในอีอีซีไปแล้วนั้น ก็จะยังคงต่อเนื่อง

"อีอีซีจะเป็นอีกแรงขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจปี 2561 เพราะโครงการหลักๆ รัฐบาลจะต้องเร่งผลักดันให้เริ่มต้นลงทุนในปีนี้ก่อนมีการเลือกตั้งเพื่อให้รัฐบาลถัดไปได้สานต่อ ซึ่งที่ผ่านๆ มา โครงการขนาดใหญ่หากได้มีการเริ่มต้นไปแล้วจะไม่มีการไปยกเลิกรวมถึงสิทธิประโยชน์ต่างๆ เมื่อให้แล้วก็ไม่เคยเปลี่ยน ซึ่งเมื่อเป็นไปตามแนวทางนี้แล้วจะสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนเพิ่มขึ้น แม้ประเทศไทยจะเข้าสู่การเลือกตั้งแล้ว" ปรเมธี กล่าว

 
ที่มา : หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์
ข่าวเขตเศรษฐกิจพิเศษ อื่นๆ