ทีมข่าวภูมิภาคโพสต์ทูเดย์
Loading

ทีมข่าวภูมิภาคโพสต์ทูเดย์

วันที่ : 2 ธันวาคม 2560
ทีมข่าวภูมิภาคโพสต์ทูเดย์

ท่าเรือดอนสักนั้นเป็นที่รู้จักกันมานานในฐานะท่าเรือเฟอร์รี่ข้ามฟาก จากแผ่นดินใหญ่ จ.สุราษฎร์ธานี ไปยังเกาะสมุย แหล่งท่องเที่ยวซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีทั่วโลก ในยุคที่ประเทศไทยกำลังเร่งพัฒนาระบบโลจิสติกส์ การคมนาคม และการขนส่งสินค้า การขนส่งทางน้ำที่มีต้นทุนต่ำกว่าการขนส่งในรูปแบบอื่นๆ จึงเป็นเป้าหมายสำคัญในการพัฒนาเชื่อมโยงโลจิสติกส์ทั้งระบบ

แต่เดิมนั้นโครงการก่อสร้างท่าเทียบเรืออเนกประสงค์ดอนสัก (แหลมทวด) ต.ดอนสัก อ.ดอนสัก จ.สุราษฎร์ธานี เกิดขึ้นเมื่อปี 2544 ที่ผู้บริหารท้องถิ่นใน อ.ดอนสัก ได้ผลักดันจากปัญหาการขนส่งผู้โดยสารทางเรือข้ามฟากจากดอนสัก-เกาะสมุย-เกาะพะงัน ซึ่งฝั่งดอนสักไม่มีท่าเรือของรัฐเลย มีแต่ของเอกชนเพียงแห่งเดียว

ในสมัยนั้นกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชย์นาวี หรือกรมเจ้าท่า ได้จัดงบประมาณ 393 ล้านบาท ก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อปี 2549 มีขนาดท่าเทียบเรือความยาวหน้าท่า 42 เมตร กว้าง 22 เมตร ท่าเรือห่างจากฝั่ง 470 เมตร ความลึกของน้ำ 3-6 เมตร เรือขนาดใหญ่ที่สุดเทียบท่าได้กินน้ำลึก 24 ฟุต และให้เทศบาลเมืองดอนสักเป็น ผู้บริหารท่าเทียบเรือ

ภายหลังการท่องเที่ยวฝั่งเกาะสมุยและเกาะพะงันบูมมาก บริษัท ซีทรานเฟอร์รี่ ได้ลงทุนก่อสร้างท่าเทียบเรือเฟอร์รี่เพิ่มอีก 1 ท่า เป็นเอกชนรายที่ 2 ส่วนท่าเทียบเรืออเนกประสงค์ดอนสักได้มีบริษัท ส่งเสริมสุราษฎร์ธานี และบริษัท เรือเร็วลมพระยา มาเช่าใช้เป็นท่าเทียบเรือเร็วขนาดกลางปรับอากาศขนส่งผู้โดยสารไปยังเกาะสมุยเกาะพะงัน และเกาะเต่า เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่สามารถเกาะท่องเที่ยวหลักและเกาะบริวารได้ทั้งหมด

ด้วยศักยภาพจุดที่ตั้งของท่าเทียบเรืออเนกประสงค์ดอนสักที่บ้านแหลมทวดที่มีระดับความลึกของน้ำถึง 6 เมตร และมีสะพานเทียบเรือที่ยาวมาก ที่สำคัญเป็นจุดที่สามารถเชื่อมการขนส่งเป็นเส้นตรงจากดอนสักสู่แหลมฉบัง จ.ชลบุรี โดยมีเรือบรรทุกสินค้ามาใช้บริการทั้งเรือบรรทุกน้ำมันปาล์ม ยางพารา และเรือขนส่งวัสดุก่อสร้างไปยังเกาะสมุย

จ.สุราษฎร์ธานี ได้เล็งเห็นศักยภาพของท่าเรือแห่งนี้ โดยมีแผนโครงการขยายเป็นท่าเรือน้ำลึก รองรับการขนส่งในอนาคต สอดรับกับนโยบายกระทรวงคมนาคมในการลดปริมาณการขนส่งทางถนน เพื่อลดต้นทุนสินค้าโดยใช้ทางเรือให้มากขึ้น

เมื่อครั้งที่ พิชิต  อัคราทิตย์ ยังดำรงตำแหน่ง รมช.คมนาคม ในฐานะกำกับดูแลกรมเจ้าท่าได้ลงมาดูพื้นที่ท่าเทียบเรืออเนกประสงค์ดอนสัก โดยมีแผนที่จะพัฒนาท่าเรืออเนกประสงค์ดอนสักให้เป็นส่วนหนึ่งในระบบการขนส่งโลจิสติกส์ของ จ.สุราษฎร์ธานี

พิชิต บอกว่า ในปัจจุบันมี ตู้คอนเทนเนอร์จากภาคใต้สู่ภาค ตะวันออกประมาณ 1 ล้านตู้/ปี และ ขากลับอีกกว่า 8-9 แสนตู้/ปี หากคิดเป็นจำนวนรถบรรทุกเกือบ 2 ล้านคัน ถ้าสามารถขับเคลื่อนให้มีการขนส่ง

สินค้าทางน้ำจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง

นโยบายสำคัญในการผลักดันการขนส่งทางน้ำก็เพื่อต้องการลดต้นทุนการขนส่งสินค้าของประเทศไทยจากที่ปัจจุบันอยู่ที่ประมาณร้อยละ 14 ของ จีดีพี ให้เหลือร้อยละ 12 ซึ่งการขนส่งทางน้ำมีต้นทุนการขนส่งต่ำที่สุดต่อตันต่อกิโลเมตรอยู่ที่ 65 สตางค์ แต่หากเป็นทางรถยนต์อยู่ที่ 2.12 บาท ซึ่งท่าเรือที่ อ.ดอนสัก มีศักยภาพสูงที่จะพัฒนาการขนส่งทางน้ำจากภาคใต้เชื่อมไปถึงแหลมฉบัง จ.ชลบุรี มีความเป็นไปได้สูงมาก

นอกจากนี้ กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย โดย จ.สุราษฎร์ธานี ได้ขอให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ศึกษาและออกแบบทางรถไฟสายใหม่จาก อ.ดอนสัก ไปยังสถานีสุราษฎร์ธานี ที่ อ.พุนพิน ระยะทางประมาณ 77 กิโลเมตร เพื่อเชื่อมโยงโครงข่ายทางรถไฟสายใหม่จาก จ.สุราษฎร์ธานี ฝั่งอ่าวไทยไปยังฝั่งอันดามัน ที่ จ.พังงา ซึ่งผลการศึกษาเบื้องต้นพบว่าคุ้มค่าต่อการลงทุน

สนข.ระบุว่า ผลประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจะเป็นการส่งเสริมท่องเที่ยวสายใหม่ในภาคใต้ เชื่อมโยงเข้ากับแหล่งท่องเที่ยวสำคัญในฝั่งอ่าวไทยยังเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งต้นทุนต่ำที่ส่งผลต่อการลดต้นทุนโลจิสติกส์ และสนับสนุนการขนส่งสินค้าทางน้ำที่ท่าเรือดอนสัก รวมทั้งลดมลพิษที่เกิดจากการคมนาคมขนส่งประหยัดพลังงานเชื้อเพลิง

น่าจับตาโครงการพัฒนาท่าเรือดอนสักและโครงการทางรถไฟสายใหม่นี้เป็นอย่างยิ่ง ในฐานะที่จะเป็นจุดเชื่อมต่อฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน จากท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี ผ่านแลนด์บริดจ์ทางรถไฟเส้นนี้ออกสู่ทะเลอันดามันและมหาสมุทรอินเดีย ซึ่งหากเกิดขึ้นได้ก็จะเป็นอีกหนึ่งจุดเปลี่ยนสำคัญของ จ.สุราษฎร์ธานี

 
ที่มา : หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์
ข่าวพัฒนาสาธารณูปโภค อื่นๆ