ยกระดับต้านผังเมืองอีอีซีดึงแนวร่วมทั่วปท.ตั้งกลุ่ม ซีโซน
Loading

ยกระดับต้านผังเมืองอีอีซีดึงแนวร่วมทั่วปท.ตั้งกลุ่ม ซีโซน

วันที่ : 7 พฤศจิกายน 2560
ยกระดับต้านผังเมืองอีอีซีดึงแนวร่วมทั่วปท.ตั้งกลุ่ม ซีโซน

จากกรณีคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีคำสั่งที่47/2560 ว่าด้วยข้อกำหนดในการใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) จนเป็นที่กังวลของประชาชนในพื้นที่ว่าจะเกิดผลกระทบกับความเป็นอยู่แบบเดียวกับโครงการในอดีต รวมทั้งจะเป็นการตัดขั้นตอนการรับฟังความเห็นประชาชน

จนนำไปสู่การที่องค์กรประชาชนภาคตะวันออกเปิดเวทีสาธารณะระดมความคิดเห็น และร่วมกันออกแถลงการณ์ย้ำจุดยืนให้ประชาชนในพื้นที่ได้ร่วมแสดงความคิดเห็น ระบุเป็นห่วงผลกระทบสิ่งแวดล้อมในอนาคตนั้น

ล่าสุดหลังมีการตอบรับเป็นอย่างดีจึงได้มีแนวคิดที่จะระดมแนวร่วมที่ประสบปัญหาคล้ายกันทั่วประเทศตั้งเป็นกลุ่มเพื่อเตรียมเคลื่อนไหวต่อไป

นายสมนึก จงมีวศิน นักวิชาการอิสระ ด้านทรัพยากรและสิทธิชุมชน กล่าวถึงเวทีเสวนาที่กลุ่มศึกษาการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรืออีอีซี วอทช์ ร่วมกับเครือข่ายประชาชน ภาคตะวันออก จัดกิจกรรมเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจพร้อมกับระดมความเห็นของภาคประชาชนต่อโครงการอีอีซี ที่อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา เมื่อวันที่ 5 พ.ย.ที่ผ่านมาว่า ได้รับความสนใจจากประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคตะวันออก เป็นจำนวนมาก ต่างเข้ามาเสนอความคิดเห็นในประเด็นต่างๆ ไว้อย่างหลากหลายจากหัวข้อที่กำหนดไว้

โดยได้สรุปความต้องการของประชาชนเบื้องต้นไว้ 3 ประการ ประกอบด้วย 1.ต้องการให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ยกเลิกประกาศคำสั่งที่เกี่ยวข้องกับ อีอีซี รวม 3 ฉบับ คือ คำสั่ง คสช. ฉบับที่ 2/2560 เรื่องการจัดตั้งคณะกรรมการอีอีซี คำสั่ง คสช.ที่ 28/2560 เรื่องการทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ที่กำหนดให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี และคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 47/2560 ที่ต้องการยกเว้นการบังคับใช้กฎหมายผังเมืองทั้งหมด

ทั้งนี้เพราะคำสั่งทั้ง 3 ฉบับ ถือเป็นกระบวนการที่รวบรัดโครงการอย่างไม่มีความรอบคอบ ตัดตอนการมีส่วนร่วมของประชาชน เช่น การรายงานอีเอชไอเอ ซึ่งการเร่งรัดอาจทำให้ผลของการศึกษาผลกระทบไม่รอบด้าน ไม่ตรงกับความเป็นจริง

2.ร้องขอให้รัฐบาลหันกลับมาปรับปรุง ร่างพระราชบัญญัติเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ ร่าง พ.ร.บ.อีอีซี เพื่อให้การผลักดันโครงการเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมายปกติ ไม่ใช่เร่งร้อนจนต้องยกเลิกพระราชบัญญัติ อันเป็นข้อบังคับที่จะปกป้องคุ้มครองประชาชนอย่างมีธรรมาภิบาล และสุดท้าย

ข้อ 3. ซึ่งต่อเนื่องกันคือเมื่อหันมาเข้าสู่กระบวนการปกติแล้ว ก็ขอให้หันกลับไปถามประชาชน ให้การพัฒนาเมืองใหม่ที่มีการจัดอุตสาหกรรมขนาดใหญ่และมีการประกอบธุรกิจ เติบโตไปตามวิถีไทยที่สร้างสรร

"ขอย้ำประโยคเดิมๆ ว่า ชาวระยอง ชลบุรี และฉะเชิงเทรา ไมได้รังเกียจอีอีซี แค่ไม่อยากเห็นการเติบโตทางเศรษฐกิจซ้ำรอยโครงการอีสเทิร์น ซีบอร์ด คือ อุตสาหกรรมที่จากภายนอกเข้ามาลงทุนแล้วเติบโต แต่ประชาชนในพื้นที่กลับไม่ได้อะไรเลย"

นายสมนึก กล่าวว่า ทราบดีถึงความเคลื่อนไหวของภาครัฐและภาคอุตสาหกรรม ที่กำลังเดินหน้าไปสู่เป้าหมายนั้น แต่ตนคิดว่า ตอนนี้ก็ยังไม่สายที่จะหันกลับมาปรับเข้าสู่กระบวนที่เหมาะสมกว่า เพราะการพัฒนาอีอีซี ยังเป็นเพียงโครงการที่ยังไม่มีการก่อสร้างมากนัก เช่น รายงานอีเอชไอเอ โครงการถมทะเล มาบตาพุด  ซึ่งเป็น 1 ใน 5 โครงการ กำลังอยู่ถูกพิจารณาในชั้นคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม(คชก.) ตามคำสั่ง คสช.ฉบับที่ 28/2560 ก็ยังมีเวลาอย่างน้อย 1 ปี เพื่อเปิดทางให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมผลักดันการพัฒนา

อย่างไรก็ตาม อีอีซี ไม่ได้มีผลกระทบเฉพาะภาคตะวันออกเท่านั้น ยังพบว่า อีก 6 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่จะใช้ประโยชน์จากอีอีซีเช่นจ.ขอนแก่นจ.อุดรธานี ที่จะประกาศพื้นที่เหล่านี้เป็นกลุ่มไบโอ เคมีคอลคลัสเตอร์ ซึ่งก็คือ โรงอ้อย โรงน้ำตาล เพื่อนำไปผลิตกระแสไฟฟ้า ผลิตเอทานอล พลังงานชีวมวล และผลิตปุ๋ย ซึ่งเท่าที่รู้ มีโรงงานผลิตน้ำตาลแห่งใหม่ จำนวน 23 โรง ผ่านการรับรองผลการศึกษา อีไอเอแล้ว 21 แห่ง มี 2 โรงงาน คือ ที่บ้านโคกสะอาด ต.อุ่มจาน อ.กุสุมาลย์ จ.สกลนคร และ ที่ต.วังใหม่ อ.วังสมบูรณ์ จ.สระแก้ว กำลังมีปัญหาชาวบ้านเพราะยังกังวลในผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม

นอกจากนี้ยังมี จ.นนทบุรี และอีกหลายจังหวัดในเขตเศรษฐกิจตามแนวชายแดนที่รัฐบาลได้กำหนดแผนไว้ล่วงหน้า โดยไม่ได้ถามความคิดเห็นของประชาชน ทำให้เราเตรียมการร่วมกลุ่มกันของภาคประชาชน ที่ได้รับผลกระทบจากความพยายามผลักดันเขตเศรษฐกิจพิเศษทั้งประเทศ ในชื่อ Special Economics Zone Thailand  หรือ ซีโซน ไทยแลนด์ เพื่อรวมพลังประชาชนส่งไปถึงรัฐบาล ให้ได้รับทราบถึงความต้องการมีส่วนร่วมพัฒนาประเทศ  ทั้งนี้รายละเอียดและเป้าหมายต่างๆ จะนำเสนอในโอกาสต่อไป โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการประสานงาน

 
ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
ข่าวเขตเศรษฐกิจพิเศษ อื่นๆ