ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการปรับขึ้นห่วง6เดือนข้างหน้า กำลังซื้อไม่ฟื้น-ศก.ผันผวน
Loading

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการปรับขึ้นห่วง6เดือนข้างหน้า กำลังซื้อไม่ฟื้น-ศก.ผันผวน

วันที่ : 13 ตุลาคม 2560
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการปรับขึ้นห่วง6เดือนข้างหน้า กำลังซื้อไม่ฟื้น-ศก.ผันผวน

          ศูนย์ข้อมูลฯเผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการอสังหาฯในเขตกรุงเทพฯ-ปริมณฑล ไตรมาส 3/60 อยู่ที่ระดับ 54.8 จุด เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 2 ที่ระดับ 53.1 จุด ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นในอีก 6 เดือนข้างหน้าปรับลดลงจาก 67.0 จุดในไตรมาส 2 เหลือ 61.0 จุด เหตุผู้ประกอบการระมัดระวังการลงทุน กำลังซื้อยังไม่ฟื้นตัว ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจ

          ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ รักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ เปิดเผยถึงผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ และปริมณฑล 5 จังหวัด (นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร และนครปฐม) โดยดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยมีค่ากลางของดัชนีเท่ากับ 50 ดังนั้น หากค่าดัชนีสูงกว่าค่ากลาง มีนัยว่าผู้ประกอบการเห็นว่าเป็นภาวะที่ดี ในทางตรงข้าม หากค่าดัชนีต่ำกว่าค่ากลาง มีนัยว่าผู้ประกอบ การเห็นว่าเป็นภาวะที่ไม่ดี โดยให้น้ำหนักในการคำนวณดัชนี บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ (Listed Companies) ต่อบริษัทที่ไม่จดทะเบียนในตลาดหลัก ทรัพย์ (Non-listed Companies) เป็น 60 : 40

          สำหรับภาพรวมของดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล ไตรมาส 3 ปี 2560 พบว่า มีค่าดัชนีความเชื่อมั่นในภาวะปัจจุบัน (Current Situation Index) เท่ากับ 54.8 จุด เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่แล้ว ที่ระดับ 53.1 จุด ซึ่งสูงกว่าค่ากลางที่ระดับ 50 จุด ดัชนีที่เพิ่มขึ้นนี้เป็นผลมาจากปัจจัยความเชื่อมั่นด้านผลประกอบการ การลงทุน และต้นทุนการประกอบการ แต่ในด้านยอดขาย การจ้างงาน และการเปิดโครงการใหม่มีการปรับลดลง

          สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นในอีก 6 เดือนข้างหน้าในไตรมาส 3 ปี 2560 มีค่าเท่ากับ 61.0 จุด ลดลงจากไตรมาส 2 ปี 2560 อยู่บ้าง ซึ่งมีค่าเท่ากับ 67.0 จุด ดัชนีที่ลดลงนี้เป็นผลมาจากปัจจัยความเชื่อมั่นด้านผลประกอบการ ยอดขาย การลงทุน การจ้างงาน และการเปิดโครงการใหม่ ซึ่งอาจได้รับอิทธิพลจากการคาดการณ์ผลกระทบจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่อาจลดลงในช่วงต้นไตรมาส 3 ปี 2560 ประกอบกับปัจจัยในด้านต้นทุนการประกอบการที่มีการปรับเพิ่มขึ้น

          ทั้งนี้ ผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการ ได้สะท้อนให้เห็นความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการในมุมมองด้านอุปสงค์ในตลาด คือ ในไตรมาส 3 ปี 2560 ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ ด้านยอดขายมีค่าเท่ากับ 53.1 จุด ลดลงจากไตรมาส 2 ปี แต่ยังใกล้เคียงเดิมและอยู่ในระดับที่สูงกว่าค่ากลางที่ระดับ 50 จุด สะท้อนในทิศทางเดียวกันกับผลจากดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ยังฟื้นตัวไม่มากนัก ในไตรมาส 3 ปี 2560 ประกอบกับผู้บริโภคมีความตระหนักในการใช้จ่ายมากขึ้น เนื่องจากผู้บริโภคมีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ปัจจุบัน

          อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการ ในด้านผล ประกอบการไตรมาส 3 ปี 2560 ที่มีค่าเท่ากับ 53.4 จุด ซึ่งมีการปรับเพิ่มขึ้นจากไตรมาส 2 ปี 2560 ที่มีค่า 45.4 จุด สะท้อนว่าการปรับตัวของผู้ประกอบการดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากผู้ประกอบการมีการลงทุนเปิดโครงการใหม่ในกลุ่มระดับราคาที่สูงขึ้น

          นอกจากนี้ ผลการสำรวจ ยังได้สะท้อนให้เห็นความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการในมุมมองด้านอุปทานในตลาด ด้านการลงทุนเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน ขณะที่ดัชนีในด้านการเปิดโครงการใหม่ไตรมาส 3 ปี 2560 ลดลงจากไตรมาส 2 ปี 2560 ประกอบกับยังมีผลให้การจ้างงานลดลงด้วย

          ด้านความเชื่อมั่นต่อด้านต้นทุนการประกอบการ ในไตรมาส 3 ปี 2560 มีค่าเท่ากับ 45.0 จุด เพิ่มขึ้น ซึ่งน่าจะเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง 2 ที่ปรับเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะหมวดซีเมนต์ที่มีความต้องการใช้เพิ่มขึ้น และผลิตภัณฑ์เหล็กที่ราคาปรับเพิ่มขึ้นตามราคาในตลาดโลกและต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้น ประกอบกับค่าแรงที่ปรับเพิ่มขึ้นจากการปรับขึ้นอัตราค่าแรงขั้นต่ำ

          สำหรับดัชนีความคาดหวังในอีก 6 เดือนข้างหน้า (Expectations Index) ของผู้ประกอบการประจำไตรมาส 3 ปี 2560 มีค่าเท่ากับ 61.0 จุด ซึ่งปรับลดลงจากไตรมาส 2 ปี 2560 ซึ่งมีค่าเท่ากับ 67.0 จุด อย่างไรก็ตาม ในภาพรวมแนวโน้มในช่วง 6 เดือนข้างหน้าได้สะท้อนมุมมองของผู้ประกอบการที่ยังมีความคาดหวังในเชิงบวกต่อทิศทางตลาดที่อยู่อาศัย โดยดัชนีในแต่ละด้านยังอยู่ในระดับที่สูงกว่าค่ากลางที่ระดับ 50 ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่าผู้ประกอบการยังคงระมัดระวังในการลงทุนและจากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ยังฟื้นตัวไม่มาก จากสถานการณ์ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ ซึ่งอาจได้รับอิทธิพลจากการคาดการณ์ผลกระทบจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่อาจลดลงในช่วงต้นไตรมาส 3 ปี 2560

ที่มา : ผู้จัดการรายวัน 360 องศา