บอร์ดรฟม.ไฟเขียวทำระบบราง 3 จังหวัด ภูเก็ต-พังงา-เชียงใหม่ เริ่มปี 62-63
Loading

บอร์ดรฟม.ไฟเขียวทำระบบราง 3 จังหวัด ภูเก็ต-พังงา-เชียงใหม่ เริ่มปี 62-63

วันที่ : 23 สิงหาคม 2560
บอร์ดรฟม.ไฟเขียวทำระบบราง 3 จังหวัด ภูเก็ต-พังงา-เชียงใหม่ เริ่มปี 62-63

บอร์ด รฟม.ไฟเขียวร่างพ.ร.ฎ.ให้ดำเนินกิจการรถไฟฟ้าในพื้นที่ภูเก็ต พังงา และเชียงใหม่ คาดเริ่มการก่อสร้างได้ช่วงปี 2562-2563 ส่วนความคืบหน้าสายสีชมพู-สายสีเหลือง คาดเริ่มก่อสร้างได้ภายใน ธ.ค.นี้

นายฤทธิกา สุภารัตน์ รักษาการผู้ว่าการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม.ที่มีพล.อ.ยอดยุทธ บุญญาธิการ เป็นประธาน เมื่อวันที่ 21 สิงหาคมที่ผ่านมา ได้มีมติเห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) ให้ รฟม.ดำเนินกิจการรถไฟฟ้าในจังหวัดเชียงใหม่ พังงา และภูเก็ต เนื่องจากตามพระราชบัญญัติการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยนั้น กำหนดให้ รฟม.ดำเนินกิจการรถไฟฟ้าในกรุงเทพมหานคร (กทม.) และปริมณฑลเท่านั้น เมื่อ รฟม.ต้องดำเนินงานนอกพื้นที่ จึงต้องมีการออกเป็นพระราชกฤษฎีกาใหม่

สำหรับขั้นตอนจากนี้ รฟม.จะนำส่งร่าง พ.ร.ฎ.ให้กระทรวงคมนาคม เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาออกพ.ร.ฎ. จากนั้นรฟม.จะส่งผลการศึกษาของสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจรที่ได้ดำเนินการศึกษาระบบขนส่งมวลชนที่เหมาะสมใน 3 จังหวัดดังกล่าวมาจัดทำรายละเอียด ออกแบบ และทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 1 ปี คาดว่าจะเสนอครม.พิจารณาอนุมัติโครงการระบบขนส่งมวลชนในพื้นที่จ.ภูเก็ตและพังงาได้ในเดือนตุลาคม 2561 และเสนอโครงการระบบขนส่งมวลชนในพื้นที่จ.เชียงใหม่ได้ในเดือนมกราคม 2562 เริ่มก่อสร้างประมาณมีนาคม 2563 แล้วเสร็จทั้ง 2 พื้นที่ภายในปี 2566

สำหรับระบบขนส่งมวลชนจ.ภูเก็ต จะเชื่อมโยงจ.พังงา ซึ่งตามที่ สนข.ศึกษา คือ รถไฟฟ้ารางเบา หรือรถราง (Tram) ระดับดินตลอดแนวเส้นทาง บนทางหลวงหมายเลข 402 หรือถนนเทพกระษัตรี เส้นทางรถราง เริ่มจากท่านุ่น บริเวณสะพานสารสิน เชื่อมจังหวัดพังงากับภูเก็ต ข้ามสะพานไปตามแนวเกาะกลางถนนเทพกระษัตรี ช่วงท่านุ่นประตูเมืองภูเก็ต สิ้นสุดที่ห้าแยกฉลอง ระยะทาง 60 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 2.4 หมื่นล้านบาท

ส่วนระบบขนส่งมวลชนที่จ.เชียงใหม่ สนข.ได้ข้อสรุปว่าจะใช้ระบบรถไฟฟ้ารางเบา โดยมีทางเลือก 2 รูปแบบ คือ แบบ A เป็นโครงข่ายผสมผสานที่ใช้ทางวิ่งบนดินและใต้ดิน และแบบ B เป็นโครงข่ายทางวิ่งบนดิน มี 3 เส้นทางหลัก คือ สายสีแดง ระยะทาง 15.65 กม. สายสีน้ำเงิน 13.81 กม. และสายสีเขียว 11.11 กม.

นอกจากนี้ รฟม.ยังได้รายงานความคืบหน้าให้บอร์ดรับทราบหลังการเปิดให้บริการเดินรถเชื่อมต่อ 1 สถานี เตาปูน-บางซื่อ โดยพบว่าสายสีม่วง บางใหญ่-เตาปูน มีผู้มาใช้บริการเพิ่มขึ้น เฉลี่ยวันธรรมดาอยู่ที่ 4.7-5 หมื่นคนต่อวัน จากเดิม 3 หมื่นคนต่อวัน ส่วนวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ เฉลี่ยอยู่ที่ 2.9 หมื่นคนต่อวัน จากเดิม 2.2 หมื่นคนต่อวัน

นายฤทธิกา กล่าวเพิ่มเติมถึง ความคืบหน้าโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู แคราย-มีนบุรี และสายสีเหลือง ลาดพร้าว-สำโรง ว่า ขณะนี้รฟม.ยังอยู่ระหว่างเคลียร์พื้นที่เพื่อเร่งส่งมอบให้ผู้รับงาน คือ กลุ่มกิจการร่วมค้า BSR Joint Venture (BTS บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ RATCH และบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STEC) โดยคาดว่าจะทยอยส่งมอบพื้นที่ และเริ่มการก่อสร้างได้ในเดือนธันวาคม 2560 ส่วนการต่อขยายเส้นทางรถไฟฟ้า 2 สายดังกล่าวนั้น รฟม.ได้ว่าจ้างให้ที่ปรึกษาควบคุมงานรถไฟฟ้าสายสีชมพูและเหลืองทำการศึกษาแล้ว

ด้านโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) ระยะทาง 23.6 กม. วงเงิน 101,112 ล้านบาท จะประกาศประกวดราคาในเดือน ธันวาคม 2560 เริ่มการก่อสร้างช่วงปลายปี 2561 ขณะที่สายสีส้ม (ตะวันตก) ตลิ่งชัน-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย วงเงิน 85,288.54 ล้านบาท จะเลื่อนแผนเสนอครม.เพื่อขออนุมัติโครงการจากเดิมปลายปีนี้ เป็นต้นปี 2561 เพราะกระทรวงคมนาคม สั่งการให้ รฟม.ปรับรูปแบบการลงทุน โดยต้องการให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนมากขึ้น เป็นไปได้ว่าอาจให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนแบบ 100% เช่นเดียวกับสายสีชมพูและเหลือง

 
ที่มา : หนังสือพิมพ์ข่าวหุ้น
ข่าวพัฒนาสาธารณูปโภค อื่นๆ