รัฐปลุกเศรษฐกิจพิเศษ แม่สอด เปิดทางธุรกิจ เอสเอ็มอี สู่เมียนมาร์
Loading

รัฐปลุกเศรษฐกิจพิเศษ แม่สอด เปิดทางธุรกิจ เอสเอ็มอี สู่เมียนมาร์

วันที่ : 8 สิงหาคม 2560
รัฐปลุกเศรษฐกิจพิเศษ แม่สอด เปิดทางธุรกิจ เอสเอ็มอี สู่เมียนมาร์

สุรัตน์ อัตตะ www.komchadluek.net

อีกไม่กี่อึดใจชายแดนไทย-เมียนมาร์ ฝั่ง อ.แม่สอด จ.ตาก จะกลายเป็นเมืองอุตสาหกรรมใหม่อย่างเต็มรูปแบบ เมื่อรัฐบาลมีเป้าหมายพัฒนาเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษเชื่อมโยงกับเขตเศรษฐกิจพิเศษเมียวดี ประเทศเมียนมาร์ ที่มีมูลค่านับหมื่นล้านบาท ขณะที่กระทรวงอุตสาหกรรมร่วมกับ กระทรวงมหาดไทย สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย และหน่วยงานเครือข่ายการพัฒนาเอสเอ็มอี เร่งเดินหน้าสานต่อ "กองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ" มุ่งเป้าหมายพื้นที่เขตเศรษฐกิจจังหวัดตาก กลุ่มภาคเหนือตอนล่าง ประกอบด้วย จ.ตาก จ.สุโขทัย จ.อุตรดิตถ์ จ.เพชรบูรณ์ จ.พิษณุโลก จ.พิจิตร จ.กำแพงเพชร จ.นครสวรรค์ และ จ.อุทัยธานี พร้อมเร่งบูรณาการส่งเสริมเอสเอ็มอีไทยเข้าสู่อุตสาหกรรม 4.0 เสริมแกร่งเอสเอ็มอีไทยครอบคลุมทุกมิติอย่างสมดุล รองรับการขยายตัวของเมืองทั้งด้านศักยภาพและความพร้อม ได้แก่ ด้านเศรษฐกิจ การลงทุนภาคอุตสาหกรรม ภาคเกษตร และการท่องเที่ยว

อุตตม สาวนายน  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวระหว่างเป็นประธานเปิดงาน "คลินิกเอสเอ็มอีสัญจรแนวประชารัฐ" ครั้งที่ 7 อ.แม่สอด จ.ตาก โดยระบุว่า ตามนโยบายของรัฐบาล ที่กระทรวงอุตสาหกรรมมุ่งเน้นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจตามนโยบายอุตสาหกรรม 4.0 ด้วยการเร่งพัฒนาเอสเอ็มอี และเศรษฐกิจท้องถิ่นให้เข้มแข็ง  โดยมีเป้าหมาย จ.ตาก ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญระเบียงเศรษฐกิจตามแนว ตะวันออก-ตะวันตก หรือ East-West Economic Corridor (EWEC) หรือที่เรียกว่าเส้นทาง R9 ที่เชื่อมระหว่าง 2 มหาสมุทร คือ มหาสมุทรอินเดีย กับ มหาสมุทรแปซิฟิก หรือทะเลจีนใต้ จากเมืองเมาะละแหม่ง ประเทศเมียนมาร์ ผ่าน จ.ตาก จ.พิษณุโลก จ.ขอนแก่น จ.มุกดาหาร ข้ามเขตแดนไปยังเมืองดองฮาและไปจรดปลายทางที่เมืองดานัง ประเทศเวียดนาม

"จ.ตาก ถือเป็นจุดแข็งที่รัฐบาลเล็งเห็นความสำคัญ ซึ่งได้มีการกำหนดบทบาทของเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดตาก ให้เป็น ศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้าระหว่างประเทศ เครือข่ายอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น โดยมีอุตสาหกรรมเป้าหมายคือ สิ่งทอเครื่องนุ่งห่ม เกษตรแปรรูปและอาหาร เครื่องเรือนจากไม้ และอัญมณีเครื่องประดับ"

จากลักษณะภูมิศาสตร์ที่เป็นพื้นที่ชายแดน และเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพในเรื่องของระบบโครงสร้างพื้นฐาน สาธารณูปโภค รวมถึงความเข้มแข็งทางด้านเศรษฐกิจการค้า การลงทุนภาคอุตสาหกรรม ภาคเกษตร และการท่องเที่ยว โดยพื้นที่แม่สอดสามารถเชื่อมโยงกับเขตเศรษฐกิจพิเศษเมียวดี ของเมียนมาร์ ซึ่งตั้งอยู่ห่างออกไปเพียง 10 กิโลเมตร และมีพื้นตั้งอยู่ปลายแนวเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก เป็นจุดตัดระหว่างแนวเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจเหนือ-ใต้ (NorthSouth Economic  Corridor : NSEC) มีโครงข่ายการคมนาคมทางบกที่สนับสนุนการขนส่งทั้งผู้โดยสารและสินค้า มีสนามบินพาณิชย์เป็นแหล่งผลิตทางการเกษตรและแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่มีความโดดเด่นเฉพาะตัว ตลอดจนเป็นประตูสู่อันดามัน และประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง คือ เมียนมาร์ จีน  และสามารถเชื่อมโยงกับเส้นทางการค้าขายเป็นประตูสู่ยุโรปได้

รมว.อุตสาหกรรม กล่าวต่อว่า ในส่วนของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ก็ได้เตรียมโครงการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดตากไว้แล้ว ณ ต.ท่าสายลวด อ.แม่สอด บนเนื้อที่ประมาณ 671 ไร่ อยู่ห่างจากห่างจากทางหลวง EWEC ประมาณ 7 กิโลเมตร ในบริเวณที่ติดกับพื้นที่ก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมาร์แห่งที่ 2 โดยขณะนี้มีระบบไฟฟ้าเข้าถึงพื้นที่แล้ว และมีแหล่งน้ำคือแม่น้ำเมย ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของเขตเศรษฐกิจจังหวัดตาก คือ การให้บริการโลจิสติกส์ เช่น คลังสินค้า ศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้าและยานพาหนะ (มีพื้นที่รวมประมาณ 33%) และอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น สิ่งทอเครื่องนุ่งห่ม เกษตรแปรรูปและอาหาร เครื่องเรือนจากไม้ และอัญมณีเครื่องประดับ (มีพื้นที่รวมประมาณ 66%) โดยมีการกำหนดพื้นที่โซนสำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี รวมทั้งมีศูนย์ SMEs Development Center ซึ่งจะให้บริการสนับสนุนเครื่องมืออุปกรณ์กลาง เช่น 3D-Priner Co-Working Space และการพัฒนาเอสเอ็มอีที่ตั้งอยู่ในนิคมและบริเวณใกล้เคียงด้วย

"ในส่วนพื้นที่ที่เหลือจะถูกกันไว้เป็นเขตพาณิชยกรรม ระบบสาธารณูปโภค และพื้นที่สีเขียวเพื่อเป็นแนวกันชน โดยประมาณการมูลค่าการพัฒนาไว้ที่ 835 ล้านบาท คาดว่าจะเริ่มเปิดดำเนินการพื้นที่ในเฟสแรกได้ตั้งแต่ปลายปี 2561 เป็นต้นไป" รมว.อุตสาหกรรม กล่าวยืนยัน

แน่งน้อย เวทยพงษ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริม

อุตสาหกรรม เผยว่า เพื่อเป็นการสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของเมืองหน้าด่านชายแดนไทยและเมียนมาร์ รองรับก่อนเปิดเป็นเขตเศรษฐกิจอย่างเป็นทางการ ขณะนี้กรม ส่งเสริมอุตสาหกรรมได้เร่งให้การช่วยเหลือ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในประเทศไทยผ่านเครื่องมือในการช่วยต่อยอดทางธุรกิจให้แก่ ผู้ประกอบการไทยในทุกมิติอย่างสมดุล ทั้งการต่อยอดการออกแบบผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ที่ตรงความต้องการของตลาด เพื่อยกระดับและเพิ่มมูลค่าให้แก่สินค้าและบริการ การขับเคลื่อนผลงานนวัตกรรมไปสู่เชิงพาณิชย์ในรูปแบบของศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรมเพื่ออนาคต

"มีการพัฒนาผู้ประกอบการโดยการเติมองค์ความรู้ในการเพิ่มผลิตภาพและมาตรฐาน การพัฒนาระบบบริหารจัดการ การบัญชีและการเงินให้ก้าวสู่ SMART SMEs พร้อมส่งเสริมการใช้ระบบดิจิทัลเพื่อเชื่อมโยงสู่โลกการค้าสมัยใหม่ โดยมีศูนย์สนับสนุนและช่วยเหลือเอสเอ็มอีทำหน้าที่สนับสนุนการดำเนินการภายใต้กลไกประชารัฐ ซึ่งกองทุนตามแนวประชารัฐดำเนินการให้ความช่วยเหลือในรูปแบบกองทุนต่างๆ" รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมกล่าวระหว่างนำสื่อมวลชนลงพื้นที่ดูงานเอสเอ็มอีตามโครงการประชารัฐ

พร้อมย้ำว่า การลงพื้นที่ จ.ตาก ครั้งนี้มุ่งเน้นการสร้างการรับรู้และความเข้าใจในนโยบายการสนับสนุนและช่วยเหลือเอสเอ็มอี จังหวัดยุทธศาสตร์ภาคเหนือตอนล่าง 9 จังหวัด ประกอบด้วย ตาก สุโขทัย อุตรดิตถ์ เพชรบูรณ์ พิษณุโลก พิจิตร กำแพงเพชร นครสวรรค์  และอุทัยธานี โดยขณะนี้มีผู้ประกอบการจาก ทั่วประเทศยื่นคำขอทั้ง 4 มาตรการแล้ว 10,558 ราย วงเงิน 30,161.60 ล้านบาท อนุมัติแล้วจำนวน 2,954 ราย ในวงเงิน 8,514.86 ล้านบาท

 
ที่มา: หนังสือพิมพ์คม ชัด ลึก
ข่าวเขตเศรษฐกิจพิเศษ อื่นๆ