ส่องความพร้อม ปราจีนบุรี โอกาสสูงผนวกเข้า อีอีซี
Loading

ส่องความพร้อม ปราจีนบุรี โอกาสสูงผนวกเข้า อีอีซี

วันที่ : 9 มิถุนายน 2560
ส่องความพร้อม ปราจีนบุรี โอกาสสูงผนวกเข้า อีอีซี

ภายหลังมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 28 มิ.ย.2559 เห็นชอบหลักการโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) รัฐบาลได้เร่งแผนงาน ในอีอีซีอย่างรวดเร็ว ทั้งในเรื่องการจัดตั้ง หน่วยงานขึ้นมาดูแลและการออกกฎหมายขึ้นมารองรับ โดยหวังว่าจะเป็น เขตเศรษฐกิจใหม่ของประเทศเพื่อผลักดัน การพัฒนาประเทศในอนาคต

 

รัฐบาลได้กำหนดพื้นที่ "อีอีซี" รวม 3 จังหวัด คือ ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา โดยมีพื้นที่อุตสาหกรรมช่วงแรกกว่า 2 หมื่นไร่ ทั้งพื้นที่ของการนิคมอุตสาหกรรม (กนอ.) และนิคมอุตสาหกรรมของภาคเอกชน

 

ล่าสุด มีการเสนอเพิ่มพื้นที่ "อีอีซี" อีก "หนึ่งพื้นที่" โดยมีความเป็นไปได้ว่า "ปราจีนบุรี" เป็นพื้นที่เป้าหมายที่จะถูกรวมเอาไว้ด้วยเนื่องจากมีศักยภาพเรื่องเส้นทางขนส่งและการพัฒนาอุตสาหกรรมในพื้นที่

 

ด้านการขนส่ง ปราจีนบุรีถือเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งในการเชื่อมกับประเทศเพื่อนบ้าน มีเส้นทางคมนาคมเชื่อมโยงกับระบบคมนาคมขนส่งที่สำคัญ โดยมีเส้นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 304 ซึ่งเป็นแนวพื้นที่อุตสาหกรรมสำคัญของจังหวัด เชื่อมบริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออก กับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และมีเส้นทางเชื่อมระหว่างตะวันออก-ตะวันตก ตามเส้นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 33 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ Southern Economic Corridors เชื่อมโยงทางเศรษฐกิจจากประเทศ พม่า-ไทย-กัมพูชา-เวียดนาม

 

พื้นที่ดังกล่าวถือเป็นแหล่งพัฒนาอุตสาหกรรมขั้นสูง มีเขตประกอบการอุตสาหกรรมและสวนอุตสาหกรรม  เป็นพื้นที่ รองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมจากภาคเอกชน ตามแนวทางหลวงหมายเลข 304 และ 33

 

อุตสาหกรรมหลักที่ลงทุน คือ  เครื่องใช้ ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าเกษตร และสิ่งทอ รวมถึงอุตสาหกรรมที่ดูแลด้านสิ่งแวดล้อม เช่น กระดาษรีไซเคิล

 

นิคมอุตสาหกรรม 304 ปราจีนบุรีก่อตั้งเมื่อปี 2537 ตั้งอยู่ที่ อ.ศรีมหาโพธิ จ.ปราจีนบุรี ทุนจดทะเบียน 830 ล้านบาท พื้นที่โครงการ 7,500 ไร่ พื้นที่ขาย 4,800 ไร่

 

นิคมอุตสาหกรรมไฮเทคกบินทร์ พื้นที่ 1,075 ไร่ พื้นที่สำหรับขาย 710ไร่ เป็นพื้นที่ที่ขายไปแล้ว 257 ไร่ และเป็นพื้นที่ว่างสำหรับขาย 453 ไร่ มีโรงงาน ในพื้นที่ทั้งสิ้น 71 โรง

 

เขตอุตสาหกรรมกบินทร์บุรี อ.กบินทร์บุรี ก่อตั้งปี 2554 พื้นที่โครงการ 4,048 ไร่ แบ่งเป็น 3 ส่วนด้วยกัน คือ เขตอุตสาหกรรม พื้นที่ กว่า 2,530 ไร่ ที่เหลือเป็นเขตการค้า และเขตที่อยู่อาศัย มีจำนวนโรงงาน 75 โรง

 

สวนอุตสาหกรรมเครือสหพัฒน์กบินทร์บุรี ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ.2532 บนเนื้อที่กว่า 3,500ไร่ ใน อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี บริหารโดย บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน)

 

สวนอุตสาหกรรมโรจนะ ปราจีนบุรี  มีพื้นที่รวม 653 ไร่ แบ่งเป็น พื้นที่อุตสาหกรรมมีประมาณ 387.97 ไร่ พื้นที่ระบบสาธารณูปโภค มีพื้นที่ประมาณ 146.95 ไร่ และพื้นที่สีเขียวและแนวกันชน มีพื้นที่ประมาณ 118.14 ไร่

 

นายทวิช เตชะนาวากุล กรรมการ ผู้จัดการ และประธานกรรมการบริษัท กลุ่มนิคมอุตสาหกรรมไฮเทค ตั้งอยู่ที่จ.ปราจีนบุรี กล่าวว่า จ.ปราจีนมีความพร้อมในการเข้าร่วม เป็นส่วนหนึ่งของ อีอีซี เนื่องจากเป็นพื้นที่เชื่อมต่อไปยังจ.สระแก้ว รวมทั้งยังเป็นการเชื่อมโยงแนวเส้นทางเศรษฐกิจอีสต์-เวสต์คอริดอร์ส ระหว่างตะวันออกผ่านพื้นที่ ภาคกลางไปยังฝั่งตะวันตกของไทย

 

นายทวิช กล่าวว่า ยังมีพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม และเขตประกอบการอุตสาหกรรมอยู่ 5-6 แห่ง มีพื้นที่รวมกันกว่า 2 หมื่นไร่ เป็นพื้นที่พัฒนาแล้วพร้อมขายประมาณ 1 หมื่นไร่เศษ และยังไม่ได้พัฒนาประมาณ 1 หมื่นไร่ สามารถรองรับอุตสาหกรรมได้อีกเป็นจำนวนมาก รวมทั้ง ยังเป็นแหล่งผลิตของอุตสาหกรรมสนับสนุนอยู่พอสมควรในกลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์ และอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อต่อยอดให้กับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่จะเข้ามาลงทุนได้

 

อย่างไรก็ตาม ต้องติดตามการ ประชุมคณะกรรมการอีอีซีในครั้งหน้า ว่าจะมีการพิจารณาหรือไม่ แต่หาก พิจารณาดูศักยภาพของปราจีนบุรี จะเห็นได้ว่ามีโอกาสสูงที่จะเข้าเป็น ส่วนหนึ่งของอีอีซี

ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

 

 

 

ข่าวเขตเศรษฐกิจพิเศษ อื่นๆ