เปิดเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีชมพู-เหลืองครม.ไฟเขียวเชื่อมกรุงเทพฯ-ปริมณฑล
Loading

เปิดเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีชมพู-เหลืองครม.ไฟเขียวเชื่อมกรุงเทพฯ-ปริมณฑล

วันที่ : 31 พฤษภาคม 2560
เปิดเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีชมพู-เหลืองครม.ไฟเขียวเชื่อมกรุงเทพฯ-ปริมณฑล

          เจอโรคเลื่อนมาครั้งหนึ่งแล้วในที่สุดที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2560 ก็มีมติอนุมัติผลการคัดเลือกเอกชนและ ร่างสัญญาร่วมลงทุน (PPP Net Cost) โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแครายมีนบุรี ระยะทาง 34.5 กม. วงเงิน 5.4 หมื่นล้านบาท และสายสีเหลือง ช่วง ลาดพร้าว-สำโรง ระยะทาง 30.4 กม. วงเงิน 5.2 หมื่นล้านบาท ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ซึ่งนายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุว่าทั้ง 2 โครงการจะเป็นรถไฟฟ้าแบบโมโนเรล ซึ่งผู้ชนะการประมูลคือ กิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ (BSR Joint Venture:BSR JV) ประกอบด้วย บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์(BTS), บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง (RATCH) และบมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (STEC)

          หลังจากการประชุมคณะรัฐมนตรีก่อนหน้านี้ตีกลับ โดยได้มอบหมายให้กระทรวงคมนาคมกลับไปพิจารณาเงื่อนไขและข้อสัญญาก่อนการลงนามให้ละเอียดรอบคอบอีกครั้ง โดยมอบให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ทำหนังสือรวบรวมความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องส่งกลับไปให้คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 35 แห่ง พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมทุนในกิจการของรัฐ (พีพีพี) ได้ประเมินเอกสารข้อเสนอที่ 2 ด้านการลงทุนและผลตอบแทนทั้งสองสายเพื่อนำความเห็นดังกล่าวไปพิจารณาและปรับแก้ไขสัญญาสอดรับกัน ขณะเดียวกันกระทรวงคมนาคมยังอยู่ระหว่างรอความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีก 3 หน่วยที่ยังไม่ได้ส่งข้อมูลมา คือสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงบประมาณ และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา

          ถึงแม้การลงนามในสัญญารถไฟฟ้าทั้ง 2 เส้นล่าช้ากว่ากำหนดมาเกือบ 2 เดือน แต่นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ยืนยันว่าการดำเนินโครงการยังอยู่ในแผนใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี 3 เดือนเช่นเดิม  เนื่องจากโครงการรถไฟฟ้าทั้ง 2 เส้นทางนั้นมีการประกวดและได้ตัวผู้ชนะการประมูลไปแล้วและอยู่ระหว่างรอลงนามในสัญญาเท่านั้น

          สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูนั้น เป็นโครงการก่อสร้างระบบขนส่งมวลชนในพื้นที่ จ.นนทบุรี และกรุงเทพฯ ใช้ระบบรถไฟฟ้ารางเดี่ยว (โมโนเรล) ในระยะแรกมีระยะทางรวมทั้งสิ้น 27 กิโลเมตร แต่ต่อมาก็มีการขยายต้นทางจากปากเกร็ดมายังแครายเพื่อเชื่อมกับโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม ทำให้เส้นทางของโครงการเริ่มต้นและสิ้นสุดที่ศูนย์ราชการจังหวัดนนทบุรี-มีนบุรี ระยะทางรวม 34.5 กิโลเมตร

          แนวเส้นทางเริ่มจากจุดเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม บริเวณสถานีศูนย์ราชการจังหวัดนนทบุรี ถ.รัตนาธิเบศร์ แล้วเลี้ยวซ้ายผ่านทางแยกแครายเข้าสู่ ถ.ติวานนท์ วิ่งไปตามเกาะกลาง ถ.ติวานนท์ จนถึงห้าแยกปากเกร็ด เลี้ยวขวา เข้า ถ.แจ้งวัฒนะ ผ่านทางเข้าเมืองทองธานีจะมีสายแยกเข้าศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี ผ่านทางพิเศษอุดรรัถยามาเชื่อมต่อระบบขนส่งมวลชนสายสีแดง (บางซื่อ-รังสิต) ที่ทางแยกหลักสี่บน ถ.วิภาวดีรังสิต และเชื่อมต่อกับระบบขนส่งมวลชนสายสีเขียว (หมอชิตสะพานใหม่) บนถนนพหลโยธิน บริเวณวงเวียนอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ

          จากนั้นแนวเส้นทางจะวิ่งไปตาม ถ.รามอินทรา ถึงมีนบุรี ตามแนว ถ.สีหบุรานุกิจ จนถึงสะพานข้ามคลองสามวาก็จะเลี้ยวขวาข้ามคลองแสนแสบและข้ามถนนรามคำแหง (สุขาภิบาล 3) มาสิ้นสุดสถานีปลายทางที่บริเวณใกล้แยกรามคำแหง-ร่มเกล้า ซึ่งเป็นสถานีเชื่อมต่อการเดินทางกับรถไฟฟ้ามหานคร สายสีส้ม

          ส่วนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-บางกะปิ-สำโรง) หรือรถไฟฟ้าบีทีเอส สายสีเหลือง เป็นโครงการระบบขนส่งมวลชนในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรบน ถ.ลาดพร้าว โดยจะเป็นรถไฟฟ้ายกระดับแบบโมโนเรลเช่นกันทั้งหมด 102 ตู้หรือ 17 ขบวน ขบวนละ 6 ตู้ มีแนวเส้นทางอยู่ด้านตะวันออกของกรุงเทพฯ และสิ้นสุดเส้นทางใน จ.สมุทรปราการ เริ่มต้นช่วงที่ 1 จากสี่แยกรัชโยธิน โดยเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีเขียวอ่อนช่วงหมอชิตpคูคตแล้ววิ่งผ่านศาลอาญาจนถึงสี่แยกรัชดา-ลาดพร้าว เชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินแล้วเลี้ยวซ้ายเข้าถนนลาดพร้าวฝั่งขาออกเมืองไปจนถึงด้านหน้าตลาดแฮปปี้แลนด์

          จากนั้นเลี้ยวขวาไปตาม ถ.ศรีนครินทร์ มีจุดปลายทางบริเวณแยกต่างระดับพระราม 9 โดยเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (แอร์พอร์ต เรล ลิงค์) มีทั้งหมด 14 สถานี จากนั้นเริ่มช่วงที่ 2 บริเวณทางแยกต่างระดับพระราม 9 วิ่งไปตามถนนศรีนครินทร์ เลี้ยวขวาสู่ถนนเทพารักษ์ มีจุดปลายทางที่สำโรง อันเป็นจุดเชื่อมต่อการเดินทางกับรถไฟฟ้าสายสีเขียวอ่อนช่วงแบริ่งp สมุทรปราการ มีสถานีทั้งหมด 11 สถานี ระยะทางรวมประมาณ 30.4 กิโลเมตร มีสถานีทั้งหมด 25 สถานี เป็นสถานียกระดับทั้งหมด

          อย่างไรก็ตามโครงการสัมปทานรถไฟฟ้าทั้งสองสาย เป็นของกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ ประกอบด้วย บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS), บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง (RATCH) และบมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (STEC) ระยะเวลาสัมปทาน 33 ปี แบ่งเป็นระยะเวลาก่อสร้าง 3 ปีตามแผนจะเริ่มสร้างต้นปี 2560 เปิดบริการกลางปี 2563

          อสังหาฯ ตีปกพรึบ รับรถไฟฟ้าสีชมพู-เหลือง

          น่าจะ คึกคักขึ้นมาทันตาเห็นสำหรับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ทั้งบ้าน ที่พักอาศัยและที่ดินที่ปรับตัวสูงขึ้นตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสีเหลือง หลังผ่านการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2560  เห็นได้จากการวิเคราะห์ของนายสุรเชษฐ กองชีพ รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและพัฒนา บริษัท คอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) ที่ปรึกษาอสังหาริมทรัพย์ใน "กรุงเทพธุรกิจ" ที่มองว่ามีการขยายตัวของโครงการบ้านและคอนโดมิเนียมมากทีเดียว โดยเฉพาะแถววงเวียนหลักสี่ และปลายสถานีแถวมีนบุรี แม้จะยังไม่ถึงกับคึกคักนัก แต่ก็มีการทยอยกว้านเก็บที่ดินกันไว้แล้วก่อนราคาขยับ โดยราคาที่ดินแนวรถไฟฟ้าสายสีชมพูปัจจุบันเฉลี่ย 1-2 แสนบาทต่อตารางวา ส่วนย่านมีนบุรี ราคาค่อนข้างสูงอยู่ที่ 3 แสนบาทต่อตารางวา  คาดว่าอีก 2 ปีข้างหน้าราคาที่ดินสายสีชมพูปรับเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว

          ขณะที่นลินรัตน์ เจริญสุพงษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เน็กซัส พรอพเพอร์ตี้ มาร์เก็ตติ้ง จำกัด ที่ปรึกษาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ระบุจุดเด่นของแนวรถไฟฟ้าสายสีชมพูเป็นเส้นทางเชื่อมต่อการเดินทางระหว่างฝั่งตะวันตก และตะวันออกของกรุงเทพฯ โดยมีจุดเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีม่วง สายสีแดง สายสีเขียว และสายสีส้ม นับว่า เป็นพื้นที่ศักยภาพสำหรับธุรกิจอสังหาฯ โดยปัจจุบันซัพพลายที่อยู่อาศัยเหลือขายแนวสายสีชมพูมีประมาณ 2,000 ยูนิต จากจำนวนรวม 10,000 ยูนิต หรือเหลือขายเพียง 20% อีก 80% ที่ขายได้ส่วนใหญ่เป็นที่อยู่อาศัยใกล้ศูนย์การค้าเซ็นทรัล พลาซา แจ้งวัฒนะ และศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ ขณะที่โซนรามอินทราราคายังไม่ปรับขึ้นมากนัก แต่คาดว่าจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงในระยะเวลา 3 ปีนี้  พร้อมกับการเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีชมพูในปี 2563

          ส่วนแนวเส้นทางรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเหลืองขณะนี้ราคาที่ดินที่อยู่ในรัศมี 5-10 กิโลเมตรเริ่มมีการปรับตัวสูงขึ้น

          นายเอกรัฐ จำปา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสเอ็ม พรอพเพอร์ พลัส จำกัด (SMPP) เผยว่า ปัจจุบันราคาเฉลี่ยตารางวาละ 250,000-300,000 บาท หากรถไฟฟ้าเสร็จราคาในรัศมีใกล้เคียงจะพุ่งพรวดขึ้นไปที่ 275,000-330,000 บาทต่อตารางวา ส่วนในอนาคตโซนนี้จะยังคงเป็นทำเลที่ดีเวลลอปเปอร์อีกมากเตรียมจะพัฒนาการโครงการเพื่อตอบโจทย์ดีมานด์ที่เพิ่มขึ้น  จะได้เห็นราคาที่ดินที่สูงขึ้น ดังนั้นใครที่มีกำลังซื้อในช่วงนี้ย่อมเป็นโอกาสที่ดี เพราะเป็นการลงทุนที่มีแต่กำไรเพิ่มขึ้น ในขณะที่โครงการวาเลอรี  ออฟฟิศ เซ็นเตอร์ของเขา ก่อนหน้านี้มีการเจรจากับกลุ่มนักลงทุนจากสิงคโปร์เพื่อขายบิ๊กลอต ขณะนี้ได้ข้อสรุปตกลงเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยเป็นการขายออฟฟิศ เซ็นเตอร์ 10 ยูนิต มูลค่ารวม 500 ล้านบาท คาดว่าจะสามารถรับรู้รายได้ก่อนสิ้นปี 2560 นี้

ที่มา : หนังสือพิมพ์คม ชัด ลึก

ข่าวพัฒนาสาธารณูปโภค อื่นๆ