'คอนกรีตดีไซน์'นวัตกรรมไร้ขีดจำกัด
Loading

'คอนกรีตดีไซน์'นวัตกรรมไร้ขีดจำกัด

วันที่ : 21 เมษายน 2560
'คอนกรีตดีไซน์'นวัตกรรมไร้ขีดจำกัด

บุษกร ภู่แส

เอสซีจีจับมือ 2 นักออกแบบชื่อดังเปิดโครงการ Designer Collaboration Project by SCG สะท้อนนวัตกรรมวัสดุก่อสร้างผ่านการออกแบบผลิตภัณฑ์ คอลเลคชั่นพิเศษ 4 ดีไซน์ ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนยุคใหม่ ทั้งยังเป็นครั้งแรกของวงการสถาปัตยกรรมไทยที่ออกแบบผลิตภัณฑ์ตกแต่งภูมิสถาปัตยกรรมจากเทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติโดยใช้ปูนซีเมนต์สูตรเฉพาะของเอสซีจี

4 คอลเลคชั่นพิเศษจากการออกแบบไร้ขีดจำกัดด้วยนวัตกรรมวัสดุก่อสร้างของเอสซีจี ประกอบด้วย เฟอร์นิเจอร์สวนหิน จากเครื่องพิมพ์ 3 มิติที่ใช้สอยได้จริง ระแนงสำเร็จรูปเป็นมากกว่าม่านบังแดดโดยสามารถเปิดทัศนวิสัยคนในอาคารสู่ภายนอก ระแนงสำเร็จรูปผสานดีไซน์กับความเชื่อในรูปปลาคู่ และพาวิลเลี่ยนรูปไข่ จากไม้สังเคราะห์กว่า 1,000 ชิ้น สะท้อนการหลอมรวมศาสตร์ด้านการออกแบบกับวิศวกรรมศาสตร์ได้อย่างสวยงามดีไซน์ผสานเทคโนโลยี

นายอนุวัตร เฉลิมไชย แบรนด์ไดเร็คเตอร์ เอสซีจีซิเมนต์-ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง กล่าวว่า แนวทางการพัฒนานวัตกรรมก่อสร้างของเอสซีจี ทั้งในแง่ของงานฟังก์ชันและงานดีไซน์ ในหลายปีที่ผ่านมามีความชัดเจนที่จะตอบสนองความต้องการที่อยู่อาศัยและสิ่งปลูกสร้างของลูกค้า ทั้งเรื่องวัสดุและเทคนิคการติดตั้งในแบบใหม่ๆ

"การสร้างนวัตกรรมให้สินค้ามีมูลค่าที่สามารถตอบโจทย์งานออกแบบได้นั้น จะต้องมีเรื่องความสวยงามเข้ามาเกี่ยวข้อง ไม่ใช่แค่เรื่องของประโยชน์ใช้สอยอย่างเดียว ขณะที่บุคลากรเอสซีจีส่วนใหญ่เป็นวิศวกร การจะผลิตชิ้นงานที่สวยงามเหมือนกับดีไซเนอร์จึงยาก แม้จะมีทีมงานออกแบบอยู่ก็ตาม  แต่ด้วยคอนเซปต์การพัฒนานวัตกรรม จึงต้องอาศัยนักออกแบบเข้ามาร่วมเปิดมุมมองที่แตกต่าง โดยนำนวัตกรรมของเอสซีจีมาเป็นพื้นฐานต่อยอดให้เกิดงานออกแบบหรือสร้างเป็นแอพพลิเคชันที่น่าสนใจ" นายอนุวัตรถึงที่มาแนวคิดโครงการ Designer Collaboration Project by SCG

ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา เอสซีจีได้ทำงานร่วมกันกับดีไซเนอร์หลายคน และล่าสุดในปีนี้กับ 2 นักออกแบบชั้นนำคือ นายอานนท์ ไพโรจน์ นักออกแบบเฟอร์นิเจอร์แนวสถาปัตยกรรมที่ก้าวไกลถึงระดับโลก ร่วมดูแลการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่เป็นนวัตกรรมจากปูนซีเมนต์สูตรเฉพาะสำหรับใช้กับเทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติ ขณะที่ นายจีรเวช หงสกุล สถาปนิกที่โดดเด่น ด้วยงานออกแบบที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จะออกแบบผลิตภัณฑ์ที่เป็นนวัตกรรมจากไฟเบอร์ซีเมนต์ตอบโจทย์จินตนาการ

นายอนุวัตร กล่าวต่อว่า ผลงานการออกแบบจากเทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติครั้งนี้เป็นครั้งที่ 4 หลังจากที่ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ สหรัฐอเมริกา พัฒนาเทคโนโลยีการพิมพ์แบบ 3 มิติ โดยใช้ปูนซีเมนต์ผงมาออกแบบและพิมพ์ขึ้นรูปชิ้นงานด้านสถาปัตยกรรม ส่วนในปีนี้มีความพร้อมที่จะออกแบบเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีความสวยงาม ใช้ประโยชน์ได้หลากหลายและจำหน่ายได้ด้วย หรือเป็นชิ้นงานที่สามารถนำไปจัดวางตกแต่ง ภูมิสถาปัตย์ภายนอกได้จริง ไม่ใช่เป็นเพียงชิ้นงานตัวอย่างสำหรับตั้งแสดงเท่านั้น

ส่วนอีกผลิตภัณฑ์ทำมาจากไฟเบอร์ซีเมนต์ ซึ่งเดิมใช้ทำเป็นเพดานและผนัง ในรูปแบบของไม้สังเคราะห์ ก็นำมาต่อยอด เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ในรูปแบบระแนง กึ่งสำเร็จรูปและระแนงตกแต่งสำเร็จรูปรุ่น dot ออกแบบให้สามารถมองเห็นจากภายในสู่ภายนอก เมื่อเทียบกับระแนงทั่วไปจะให้ความสำคัญกับการบังแดดและลวดลาย ที่มองเห็นจากภายนอกเท่านั้น ทั้งๆ ที่คนส่วนใหญ่จะอยู่ในอาคารมากกว่า จึงใช้วิธีการเจาะรูไล่ระดับการมองเห็นจากเล็กไปใหญ่  สลับไปมา ทำให้เกิดแสงเงาที่สวยงามสู่พื้นที่ภายในด้วย

ขณะที่ระแนงตกแต่งสำเร็จรูปรุ่น fish จะให้ความรู้สึกอ่อนนุ่มและพลิ้วไหวบนวัสดุที่แข็งแรง ด้วยดีไซน์ความเคลื่อนไหวของน้ำเชื่อมโยงกับปลาคู่ ทั้งยังสื่อความหมายที่เป็นมงคล นอกจากนี้ได้ออกแบบและสร้างศาลาอเนกประสงค์รูปทรงไข่จากไม้สังเคราะห์กว่า 1,000 ชิ้นมาประกอบต่อกัน ในระดับโมดูล่า

ผลิตภัณฑ์นี้อยู่ระหว่างการพัฒนาวัสดุและกระบวนการขึ้นรูป เพื่อให้สามารถรองรับรูปทรงเหนือจินตนาการได้ทุกรูปแบบ เหมือนกับการต่อเลโก้ โดยเตรียมกำหนดเปิดตัวปลายปีนี้

ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ