คลังลุยแก้กฎหมายแบงก์รัฐหาทุนเพิ่ม-ออกสลากขาย
Loading

คลังลุยแก้กฎหมายแบงก์รัฐหาทุนเพิ่ม-ออกสลากขาย

วันที่ : 28 มีนาคม 2560
คลังลุยแก้กฎหมายแบงก์รัฐหาทุนเพิ่ม-ออกสลากขาย

          รายงานข่าวกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ได้เปิดรับแสดงความคิดเห็นการแก้ไขกฎหมายสถาบันการเงินเฉพาะกิจประกอบด้วย การแก้กฎหมายธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) และบรรษัทประกันสินเชื่อขนาดกลางและขนาดย่อม (บสย.) เพื่อให้การขยายงานของทั้ง 3 แห่ง มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยจะเร่งแก้ไขให้เสร็จภายในปีนี้ และเสนอให้ ครม. คณะกรรมการกฤษฎีกากลั่นกรอง และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาเห็นชอบ

          สำหรับการแก้ไขร่าง พ.ร.บ. ธนาคารออมสิน จะเปิดให้ธนาคารออมสินสามารถเพิ่มทุนได้ จากเงินงบประมาณ หรือจากแหล่งเงินอื่น เช่น กองทุนพัฒนาระบบสถาบันการเงินโดยต้องได้รับอนุมัติจาก ครม. เพื่อทำให้ธนาคารออมสินสามารถขยายงานตามพันธกิจของธนาคารหรือตามนโยบายของรัฐบาล เช่น สนับสนุนสินเชื่อให้ผู้มีรายได้น้อย นอกจากนี้ยังแก้ไขให้คณะกรรมการของธนาคารออมสินสามารถอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี ประกาศงบแสดงฐานะการเงินและรายงานประจำปี เพื่อความคล่องตัวการบริหารงาน

          ด้านการแก้ไขร่าง พ.ร.บ. ธอส. มี 2 เรื่องสำคัญ ได้แก่ การขยายขอบเขตการดำเนินธุรกิจ ธอส.ให้สามารถบริการสินเชื่อบ้านเพื่อผู้สูงอายุ และบริการทางการเงินอิเล็กทรอนิกส์ด้านสินเชื่อ รวมถึงแก้ไขข้อติดขัดดำเนินธุรกิจเพื่อความคล่องตัวในการบริหาร เช่น ให้คณะกรรมการของธนาคารมีอำนาจแต่งตั้ง หรือถอดถอนผู้บริหารสูงสุดได้ผ่านความเห็นชอบจาก ครม. และให้ธนาคารระดมทุนด้วยการออกพันธบัตรและสลากฯเพื่อบริหารสภาพคล่องของธนาคารดีขึ้น ปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยได้อย่างมั่นคง ขณะที่การแก้ไขร่างพ.ร.บ. บสย. เพื่อให้การดำเนินงานของ บสย. ครอบคลุมถึงการค้ำประกันธุรกรรมที่มีลักษณะการให้สินเชื่อ ซึ่งจะทำให้สถาบันการเงินมั่นใจในการให้สินเชื่อกับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมากขึ้น

          รายงานข่าวจากธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์) กล่าวว่า ผลการดำเนินงานของธนาคาร ณ สิ้นเดือน ก.พ. 60 มีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือเอ็นพีเอฟ เพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากสิ้นปีที่แล้วกว่า 4,000 ล้านบาท ส่งผลให้สถานะหนี้เสียรวมถึงล่าสุดอยู่ที่ 57,300 ล้านบาท คิดเป็น 61.54% ของสินเชื่อรวมทั้งสิ้น 93,200 ล้านบาท โดยเอ็นพีเอฟเพิ่มขึ้นมาจากการตกชั้นของลูกหนี้รายใหญ่ ในเดือน ม.ค. 60 เกือบ 3,000 ล้านบาท และเดือนก.พ. อีก 1,000 ล้านบาท

          ทั้งนี้หากธนาคารไม่สามารถปรับโครงสร้างหนี้ได้สำเร็จ อาจส่งผลให้ลูกหนี้ตกชั้นเป็นเอ็นพีเอฟเพิ่มขึ้นในเดือน มี.ค.นี้ เกือบ 2,000 ล้านบาท โดยสาเหตุและปัญหาของลูกหนี้ส่วนใหญ่มีรายได้ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย รวมถึงมีความขัดแย้งในการบริหารงานภายในบริษัท และยังมีบางรายขาดสภาพคล่อง ไม่สามารถเปิดดำเนินการได้ รวมถึงยังพบว่า          บางบริษัทนำเงินไปใช้ผิดวัตถุประสงค์

          ด้านนายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กล่าวว่า ได้สั่งการไปยังคณะกรรมการและผู้บริหารธนาคารให้เร่งดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้เป็นการด่วน เพราะแนวโน้มของหนี้เสียมีอัตราที่สูงขึ้นมาก แต่ที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่เป็นลูกหนี้รายใหญ่ ทำให้การแก้ไขปรับโครงสร้างยังทำได้ง่ายกว่าที่เป็นรายย่อยที่มีจำนวนมากรายกว่า

ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์