เร่งโมเดลบริหารสถานีกลางบางซื่อ รฟท.แยกพื้นที่ร้านค้าประมูลตรง
Loading

เร่งโมเดลบริหารสถานีกลางบางซื่อ รฟท.แยกพื้นที่ร้านค้าประมูลตรง

วันที่ : 4 กุมภาพันธ์ 2562
ร.ฟ.ท.เร่งสรุปการศึกษาบริหารพื้นที่ภายในสถานีกลางบางซื่อ วางโมเดล จ้างเอกชนบริหารพื้นที่ดูแล ความสะอาด ความปลอดภัย ส่วนพื้นที่ร้านค้า เชิงพาณิชย์ ร.ฟ.ท.แยกสัญญาประมูลเอง "วรวุฒิ" เผยให้สัมปทานเอกชนคุมเบ็ดเสร็จไม่คุ้มค่า ส่วน บ.ลูกสีแดงรับ 10 สถานีหารายได้
          ร.ฟ.ท.เร่งสรุปการศึกษาบริหารพื้นที่ภายในสถานีกลางบางซื่อ วางโมเดล จ้างเอกชนบริหารพื้นที่ดูแล ความสะอาด ความปลอดภัย ส่วนพื้นที่ร้านค้า เชิงพาณิชย์ ร.ฟ.ท.แยกสัญญาประมูลเอง "วรวุฒิ" เผยให้สัมปทานเอกชนคุมเบ็ดเสร็จไม่คุ้มค่า ส่วน บ.ลูกสีแดงรับ 10 สถานีหารายได้ 

          นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ ร.ฟ.ท.อยู่ระหว่างการศึกษาความเหมาะสมด้านธุรกิจและการลงทุน ค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการพื้นที่สถานีกลางบางซื่อ เพื่อรองรับการเปิดให้บริการรถไฟสายสีแดงในต้นปี 2564

          โดยได้ว่าจ้างสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และบริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด เป็นที่ปรึกษา ซึ่งได้มีการส่งรายงานความคืบหน้าการศึกษาบางส่วนแล้ว ส่วนผลการศึกษาสมบูรณ์ จะแล้วเสร็จใน 2 เดือนนี้ จากนั้นจะเข้าสู่ขั้นตอนการจัดทำร่าง ทีโออาร์ ต่อไป

          ทั้งนี้ หลักการบริหารพื้นที่ของสถานีกลางบางซื่อ เพื่อรองรับผู้ใช้บริการ รถไฟสายสีแดงนั้น ร.ฟ.ท. จะคัดเลือกเอกชนโดยทำสัญญาในลักษณะจ้างบริหารตามสัญญา (Management Contract)  เช่น บริหารงาน ด้านความสะอาด การรักษาความปลอดภัย ด้านประชาสัมพันธ์ เป็นต้น ซึ่ง ร.ฟ.ท. จะตั้งใช้งบประมาณประจำปีสำหรับจ่ายค่าจ้าง ซึ่งไม่เกี่ยวกับพื้นที่ร้านค้า พื้นที่หรือกิจกรรมเชิงพาณิชย์ ที่จะเป็นส่วนที่สามารถสร้างรายได้

          โดยในส่วนของร้านค้า ร้านอาหาร พื้นที่เชิงพาณิชย์ภายในสถานีกลางบางซื่อ ร.ฟ.ท.จะแยกประมูลต่างหาก โดยคาดว่าจะแบ่งเป็นกลุ่มงาน เช่น สัญญาพื้นที่ร้านค้า สัญญาป้ายโฆษณา เป็นต้น เนื่องจากในตัวสถานีจะมีพื้นที่สำหรับเชิง พาณิชย์ไม่มากนัก และคาดว่าจะไม่ได้ สร้างรายได้ให้มากนัก ดังนั้น การเปิดประมูลให้สัมปทานเอกชนเข้ามาจะไม่คุ้มค่า

          "ร.ฟ.ท.จะเป็นผู้บริหารพื้นที่ของ สถานีกลางบางซื่อ สถานีดอนเมืองและสถานีรังสิตเอง โดยจะนำร่องที่สถานีบางซื่อก่อน   แต่ไม่ใช่รูปแบบสัมปทานพัฒนาพื้นที่ในสนามบินสุวรรณภูมิ เพราะพื้นที่ส่วนใหญ่สถานีบางซื่อใช้ สำหรับการให้บริการเดินรถค่อนข้างมาก ส่วนบริษัทลูก รถไฟสายสีแดง จะเป็นผู้บริหารอีก 10 สถานีตามแนวสายสีแดง ซึ่งยอมรับว่ารายได้จากพื้นที่ เชิงพาณิชย์ตามแนวสถานี ไม่มากนัก โดยคาดว่ารถไฟสายสีแดงจะมีรายได้จากค่าโดยสารมากกว่า" นายวรวุฒิกล่าว

          อย่างไรก็ตาม เพื่อให้จำนวน ผู้โดยสารเป็นไปตามคาดการณ์ ร.ฟ.ท. จะต้องเร่งวางแผนในการจัดทำระบบเชื่อมต่อ หรือ ฟีดเดอร์เพื่อให้การเดินทางเข้าสู่สถานีรถไฟสายสีแดง ทุกๆ สถานีมีความสะดวกในหลายๆ รูปแบบ เพื่อจูงใจให้ประชาชนใช้บริการ

          ส่วนบริษัทลูก สายสีแดงอยู่ในขั้นตอนการเสนอขออนุมัติ เพื่อจัดตั้ง โดยจะโอนพนักงานจากบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท.จำกัด ที่มีประมาณ 400 คน และรับเพิ่มเพื่อให้ครบตามที่ต้องการประมาณ 700 คน

          ส่วนผู้บริหาร หรือซีอีโอของบริษัทลูกสายสีแดง จะมีการสรรหาโดยคณะกรรมการ(บอร์ด) ร.ฟ.ท.จะพิจารณาการสรรหา โดยมีคณะกรรมการ สรรหาฯ กำหนดเกณฑ์คุณสมบัติให้สอดคล้องกับภารกิจของสายสีแดง ต่อไป เนื่องจากสายสีแดงมีสเกลและขอบเขตการทำงานที่ใหญ่กว่ารถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ ส่วนซีอีโอของ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท.จำกัด จะเป็นตัวเลือกที่จะเข้ารับการสรรหาได้
 
ข่าวพัฒนาสาธารณูปโภค อื่นๆ