อสังหาฯใจชื้นดอกเบี้ยส่อไม่ขยับขึ้น แอสเซทไวส์ เดินหน้า7โครงการใหม่8,800ล.
Loading

อสังหาฯใจชื้นดอกเบี้ยส่อไม่ขยับขึ้น แอสเซทไวส์ เดินหน้า7โครงการใหม่8,800ล.

วันที่ : 25 มีนาคม 2562
"แอสเซทไวส์" มองตลาดอสังหาฯหลังไตรมาส 2 เรื่อยไป ยังเติบโต หนุนภาคท่องเที่ยว โรงแรม การบินดีขึ้น ใจชื้นดอกเบี้ยปีนี้ ไม่ขยับ หลังเฟดส่งสัญญาณไม่ขยับ เผยคงแผนเปิด 7 โครงการใหม่ มูลค่า 8,800 ล้านบาท เล็งทำเลศักยภาพ แนวรถไฟฟ้า
          "แอสเซทไวส์" มองตลาดอสังหาฯหลังไตรมาส 2 เรื่อยไป ยังเติบโต หนุนภาคท่องเที่ยว โรงแรม การบินดีขึ้น ใจชื้นดอกเบี้ยปีนี้ ไม่ขยับ หลังเฟดส่งสัญญาณไม่ขยับ เผยคงแผนเปิด 7 โครงการใหม่ มูลค่า 8,800 ล้านบาท เล็งทำเลศักยภาพ แนวรถไฟฟ้า

          นายกรมเชษฐ์ วิพันธ์พงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอสเซทไวส์ จำกัด เปิดเผยถึงภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ว่า คาดว่าในช่วงไตรมาสแรกของปี 62 ผู้บริโภคยังคงมีความกังวลอยู่ เนื่องจากมีปัจจัยภายนอกระดับมหภาคที่ยังคงไม่ดี ซึ่งโลกเปลี่ยนแปลงเร็ว ทำให้ตนต้องเฝ้าตลอดเวลา มองไม่ไกล คิดว่าการประเมินสถานการณ์ในช่วง 3 เดือน ก็ถือว่าแม่นแล้ว ขณะที่ประเทศไทยกำลังมีการเปลี่ยนแปลง โดยการเลือกตั้งจะมีผลต่อทิศทางเศรษฐกิจ แต่คิดว่าไม่มีอะไรทำให้แย่ไปกว่าเดิม คาดเศรษฐกิจน่าจะเป็นบวกได้

          ขณะที่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ จะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อมั่น โดยคาดว่าในไตรมาส1ของปี 62 ผู้ซื้อยังคงมีความกังวลต่อปัจจัยในประเทศ แต่คาดว่าไตรมาส 2-4 อารมณ์คนซื้อจะดีขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งจะส่งผลดีต่ออสังหาริมทรัพย์ต่อเนื่องถึงภาคการก่อสร้าง ในขณะที่การท่องเที่ยวจะมีแนวโน้มเติบโต ทำให้ธุรกิจโรงแรม อาหาร และอุตสาหกรรมการบิน ดีขึ้นตามไปด้วย ในส่วนของราคาพืชผลการเกษตร แม้จะมีภัยแล้งเข้ามาแต่คิดว่าภาคเกษตรยังดี ไม่ถึงขั้นแย่

          "เรื่องเบาใจ คือ อัตราดอกเบี้ยไม่ขึ้นแล้ว ดูจากนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟด ทำให้ไม่กดดันต่อทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้นในไทย ต้นทุนไม่ขยับตาม แต่ก็มีเรื่องกังวลคือ มาตรการควบคุมสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ของภาครัฐ หรือ LTV จะเบรกอสังหาฯที่ร้อนแรงเกินไป คิดว่า กลุ่มเก็งกำไรจะหายไป ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี ไม่ให้เกิดการปั่นราคา ขณะที่ช่วง 6 เดือนหลัง ธปท.ได้ประกาศกฎดังกล่าว ทำให้อสังหาฯปรับตัว บริหารซัปพลายให้ดีขึ้น ให้มีความสมดุล และให้เวลานักพัฒนาปรับตัว มุ่งสู่ตลาดเรียลดีมานด์จริงๆ"

          ในส่วนธุรกิจของแอสเซทไวส์ การจะพัฒนาโครงการในทำเลไหน จะต้องมีการสำรวจถึงความต้องการของตลาด เพื่อหาแพกเกจสินค้าให้ตรงกับกำลังซื้อ ซึ่งหลังจากมีประเด็นเรื่อง LTV ทางบริษัทจะมีนโยบายพิจารณาสภาพตลาดเป็นรายไตรมาส เช่น ถ้าทำเลแจ้งวัฒนะ จะมีลูกค้าที่ทำงานในอาคารสำนักงานจำนวนมาก เป็นกลุ่มเรียลดีมานด์ที่ต้องการที่อยู่อาศัย แต่หากเป็นโซนรัชดาภิเษก อาจต้องพิจารณาลูกค้าเป็นรายเฉพาะๆ ไป แต่ด้วยความเป็นบริษัทขนาดเล็ก ทำให้มีความคล่องและความรวดเร็วในการปรับแผนธุรกิจเพื่อให้ทันกับตลาด เช่น การเพิ่มประสิทธิภาพการทำตลาดในกลุ่มลูกค้าออนไลน์ เป็นต้น

          "ทำเลที่แอสเซทไวส์ฯทำอยู่ ก็โอเคแล้ว เราจะไม่ไปทำเลที่เสี่ยง โดยจะให้น้ำหนักกับแนวรถไฟฟ้า เช่น เขียวดี เหลืองดี สายสีส้มดีกว่าเหลือง สายสีชมพู กลางๆ สีม่วงแย่ ส่วนสายสีน้ำเงิน ก็น่าสนใจอยู่ หรือแม้แต่โซนปิ่นเกล้า ผมว่าดี ซึ่งสภาพทำเลคล้ายๆโซนลาดพร้าว ที่รองรับประชาชนที่อยู่รอบนอกเมือง ต้องเข้าใจ ตอนนี้ ผังเมืองเปลี่ยนไป การพัฒนาโครงการใหม่ที่ไม่เคยเห็นมาก่อน และในอนาคตจะเกิดขึ้นมากขึ้น เพื่อรองรับการเป็นศูนย์กลางในแต่ละพื้นที่  เช่น โซนบางใหญ่ สำโรง หรือแม้แต่มีนบุรี เป็นต้น ถามว่า ใจผมชอบนักธุรกิจคนไหน  ผมอยากไปแบบคุณอนันต์ อัศวโภคิน เราฝันอยากมีรายได้ที่สม่ำเสมอทุกๆปี การจะมีแอสเสท 10,000 ล้านบาท เราทำได้ แต่ดูว่า เสี่ยงแค่ไหน ต้องมองว่า ปัจจุบัน อสังหาฯเปลี่ยนไป มีผู้เล่นใหม่ได้ เพราะเมืองเปลี่ยน ที่ดินเปลี่ยน ทำให้การทำธุรกิจอสังหาฯต้องเปลี่ยนไป"

          สำหรับแผนธุรกิจในปี 2562 วางเป้าเปิด 7 โครงการใหม่ มูลค่า 8,800 ล้านบาท แบ่งเป็นคอนโดมิเนียม 5 โครงการ และโครงการร่วมทุนแนวราบ 2 โครงการ ซึ่งในครึ่งปีแรกจะเปิด 4 โครงการและ 3 โครงการในครึ่งปีหลัง กลุ่มราคา 60-70% จะทำราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท และเกิน 30-40% จะราคาเกิน 2 ล้านบาท รายได้จากโครงการที่เปิดในปีนี้จะรองรับไปถึงปี 2565 โดยไฮไลต์โครงการใหม่ คือ การเปิดตัวแบรนด์ "IVORY" (ไอโวรี่) คอนโดมิเนียมแบบ Low Rise ในซอยรัชดาภิเษก 32 บนพื้นที่กว่า 600 ตารางวา มูลค่า 500 ล้านบาท และ "โครงการมิกซ์ยูส  "KAVE Town" (เคฟ ทาวน์) บนทำเลรังสิต  มาพร้อมคอมมูนิตี้มอลล์ บริเวณด้านหน้าโครงการ และโครงการ "MODIZ" (โมดิซ) บางโพ ที่มีราคาแพงสุด 1.3-1.4 แสนบาทต่อตารางเมตร(ตร.ม.)

          ในด้านเป้ายอดขายปีนี้วางไว้ 5,800 ล้านบาท ยอดรับรู้รายได้ 4,200 ล้านบาท เนื่องจากมีโครงการที่ก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 61 และทยอยมารับรู้รายได้ในปี 62 หลายโครงการ โดยได้วางเป้าระบายสต๊อกในช่วงก่อนมาตรการ LTV ประมาณ 150 ยูนิต มูลค่าประมาณ 300-400 ล้านบาท
 
ข่าวโครงการอสังหาฯ ภาคเอกชน อื่นๆ