ปลุกพันธมิตรอสังหาฯ ผ่าดีมานด์ เมียนมา-กัมพูชา
Loading

ปลุกพันธมิตรอสังหาฯ ผ่าดีมานด์ เมียนมา-กัมพูชา

วันที่ : 26 มีนาคม 2562
หลังการเลือกตั้งในกัมพูชาจบลง ในปี 2561 และเมียนมาจบลงในปี 2558 มีส่วนผลักดันให้เศรษฐกิจ 2 ประเทศเติบโต ต่อเนื่อง กลายเป็นปัจจัยบวกทำให้ ความร้อนแรงตลาดอสังหาริมทรัพย์ใน 2 ประเทศเพิ่มอีกขึ้นเป็นลำดับ กลายเป็นโอกาส ของนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ไทยรุกเข้าไปปักธงประเทศเพื่อนบ้าน
        ประกายดาว แบ่งสันเทียะ

        กรุงเทพธุรกิจ


        หลังการเลือกตั้งในกัมพูชาจบลง ในปี 2561 และเมียนมาจบลงในปี 2558 มีส่วนผลักดันให้เศรษฐกิจ 2 ประเทศเติบโต ต่อเนื่อง กลายเป็นปัจจัยบวกทำให้ ความร้อนแรงตลาดอสังหาริมทรัพย์ใน 2 ประเทศเพิ่มอีกขึ้นเป็นลำดับ กลายเป็นโอกาส ของนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ไทยรุกเข้าไปปักธงประเทศเพื่อนบ้าน

          เกรียงไกร กาญจนะโภคิน ผู้ก่อตั้ง และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ จำกัด (มหาชน) ประเมินตลาดในกัมพูชา และเมียนมาในงาน สัมมนาโอกาสการลงทุนCLMV (เมียนมาและกัมพูชา) ว่า ภายหลังการเลือกตั้งครั้งแรก ในเมียนมาช่วงปี2558 เมียนมาได้เปลี่ยนโครงสร้างในหลากหลายด้านส่งผลทำให้เศรษฐกิจเติบโต เช่นเดียวกับกัมพูชา นำไปสู่ ความต้องการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ส่งผลให้ ภาคอสังหาฯเติบโตตาม

          เขายังกล่าวต่อว่า นอกจากอินเด็กซ์ฯเข้าไปพัฒนางานแสดงสินค้าใน 2 ประเทศ พร้อมกับจัดโรดโชว์นำนักธุรกิจแสวงหาโอกาสในการลงทุนแล้ว ยังมีแผนจะนำนักธุรกิจเข้าไปรุกธุรกิจอสังหาฯ ผ่านงานแสดงสินค้าที่เจาะลึกการออกแบบ ตกแต่ง และการดีไซน์ โดยเฉพาะเพื่อเชื่อมโยงผู้ประกอบการ  กลุ่มธุรกิจ ที่ต้องการมีเครือข่ายกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเจาะผู้บริโภคที่กำลังซื้อ ต้องการ ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ และความคิดสร้างสรรค์มากขึ้น

          "อุตสาหกรรมก่อสร้างใน 2 ประเทศ มีศักยภาพสูง โดยกัมพูชามีมูลค่าการก่อสร้างโครงการต่างๆ เพิ่มขึ้นกว่า 22% จากปีที่ผ่านมา อยู่ที่ 6,400 ล้านดอลลาร์ ส่วนภาคการก่อสร้างของเมียนมา เติบโตเฉลี่ยปีละ 7.2% ตั้งแต่ปี 2544 ถึงปี 2558 และคาดว่าจะเติบโตเพิ่มเป็น 10.37% ในปี 2563 อยู่ที่ 13,500 ล้านดอลลาร์"

          ขณะที่ภาพรวมเศรษฐกิจของเมียนมายังคงร้อนแรง และภาคอสังหาฯและก่อสร้าง มีสัดส่วนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายใน เมียนมา (GDP) 6.40% กองทุนการเงิน ระหว่างประเทศ(IMF-International Monetary Fund)อัดฉีดเงินทุนเข้าไปสนับสนุนภาคการก่อสร้างที่มีส่วน ผลักดันจีดีพีเพิ่มขึ้นทุกปี โดยในปี 2560 มีสัดส่วนถึง 5.1%

          โดยภาคอสังหาฯ เริ่มได้รับความสนใจจากนักลงทุนมากขึ้น มีอัตราการลงทุนต่างชาติ เพิ่ม จาก 11% ของมูลค่าการอนุมัติการลงทุนในปี 2560 เพิ่มเป็นสัดส่วน 22%ของมูลค่าการอนุมัติการลงทุนในปี 2561 เมื่อการลงทุนเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจึงส่งผลทำให้ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ราคาอสังหาฯเริ่มชะลอตัวประมาณ 3-4% เนื่องจากซัพพลายเริ่มเพิ่มขึ้น

          ทั้งนี้ ราคาปัจจุบันที่อยู่อาศัยคอนโดมิเนียม ใน ย่างกุ้งเฉลี่ยอยู่ที่ 300,000 ดอลลาร์ต่อหน่วย (ยูนิต) หรือประมาณ 10 ล้านบาทต่อยูนิต ส่วนใหญ่จับตลาดหรูเป็นหลัก ขณะที่เซอร์วิส อพาร์ตเมนต์ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 50,000 ดอลลาร์ต่อยูนิตต่อเดือน  หลังจากซัพพลายเริ่มเพิ่มขึ้นแต่ดีมานด์เริ่มลดลง ส่งผลทำให้ราคาอสังหาฯในเมียนมา เริ่มลดลงสู่ระดับที่เหมาะสม ขณะที่ความต้องการเพิ่มขึ้น ดังนั้นนักพัฒนาอสังหาฯ ชาวไทยควรเร่งเข้าไปแสวงหาโอกาสลงทุน อสังหาฯในเมียนมาในช่วงนี้ โดยเฉพาะ ตลาดระดับกลางถึงล่าง ราคาต่ำกว่า 100,000 ดอลลาร์ต่อยูนิตซึ่งเป็นตลาดที่จะมีความต้องการเพิ่มขึ้น เมื่อประชากรในประเทศเริ่มมีรายได้เพิ่มขึ้น ประกอบกับ อสังหาฯ ในระดับนี้ยังมีช่องว่างในตลาดอยู่มาก เพราะที่ผ่านมาส่วนใหญ่นักลงทุนจะเข้าไปพัฒนาอสังหาฯจะเน้นตลาดบนเป็นหลัก

          ด้านเชีย คิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธุรกิจโมเดิร์นเทรดค้าวัสดุก่อสร้าง เฮง เอเชีย กัมพูชา กล่าวว่า เศรษฐกิจในกัมพูชาเติบโตเฉลี่ยปีละ 7-8% มาโดยตลอดตั้งแต่เปิดรับการลงทุนจากเกาหลี และญี่ปุ่น ในช่วงกว่า 10 ปีที่ผ่านมา ส่งผลต่อการเติบโตของภาคธุรกิจ อสังหาฯ ทั้งโรงแรม อพาร์ตเมนต์ คอนโด รวมถึงค้าปลีก เพิ่มขึ้นไปพร้อมกับการเติบโต ของความต้องการ โดยเฉพาะภาคท่องเที่ยว และการลงทุนในจังหวัดใหญ่ๆ ที่เป็น แหล่งท่องเที่ยว ทำให้ภาพรวมธุรกิจก่อสร้างขยายตัวตามขยายตัวปีละ10-20% มากว่า 10ปี โดยในช่วงหลังๆ เริ่มมีนักลงทุน จากจีนเข้ามาพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน จึงเพิ่มพลังในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ต่อเนื่อง

          "ผลมาจากการเปิดรับนักลงทุนจาก ต่างชาติในช่วงกว่า 10 ปีที่ผ่านมา ที่เริ่มต้นจาก เกาหลี และญี่ปุ่นเข้ามาพัฒนาห้างสรรพสินค้า ที่พักอาศัย นิคมอุตสาหกรรม ทำให้เศรษฐกิจเติบโตร้อนแรง ทำให้ภาคก่อสร้างขยายตัว ตามทุกปี และในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาจีน เริ่มเข้ามาพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่อเนื่อง จึงทำให้ความต้องการก่อสร้างและ วัสดุก่อสร้างเติบโตตามทุกปี"
 
ข่าวโครงการอสังหาฯ ภาคเอกชน อื่นๆ