บีจีเอฟ รุกวัสดุก่อสร้าง ทุ่มพันล.ซื้อธุรกิจอลูมิเนียม
Loading

บีจีเอฟ รุกวัสดุก่อสร้าง ทุ่มพันล.ซื้อธุรกิจอลูมิเนียม

วันที่ : 3 เมษายน 2562
"บางกอกกล๊าส"ประกาศตัวเองเป็นผู้นำในตลาดบรรจุภัณฑ์ขวดแก้วมูลค่า 4 หมื่นล้านบาท และเป็นเบอร์ 1 ในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งอยู่เครือบุญรอด บริวเวอรี่
          บุษกร ภู่แส

          กรุงเทพธุรกิจ


          "บางกอกกล๊าส"ประกาศตัวเองเป็นผู้นำในตลาดบรรจุภัณฑ์ขวดแก้วมูลค่า 4 หมื่นล้านบาท และเป็นเบอร์ 1 ในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งอยู่เครือบุญรอด บริวเวอรี่

          ทว่าช่วง 10 ปีที่ผ่านมาบรรจุภัณฑ์แก้วได้รับผลกระทบจากบรรจุภัณฑ์ขวด PET ในกลุ่มน้ำอัดลมส่งผลให้การเติบโต "ลดลง " ในฐานะผู้นำตลาดบรรจุภัณฑ์ ขวดแก้ว "บางกอกกล๊าส"จึงปรับโครงสร้างองค์กร กระจายธุรกิจต่างๆ ออกมาเป็นบริษัทเพื่อความคล่องตัว และเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานเพื่อ ก้าวสู่ความเป็น "Total Glass Solutions" ตามแผน ของ "ปวิณ ภิรมย์ภักดี"กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางกอกกล๊าส จำกัด (มหาชน) หรือ BG ที่มี เป้าหมายจะผลักดันรายได้บริษัทใน 5 ปีข้างหน้า (2561-2565) เพิ่มขึ้นเป็น 3 หมื่นล้านบาท

          โดยหนึ่งในบริษัทที่แยกออกมา คือ บริษัท บีจี คอนเทนเนอร์ กล๊าส จำกัด (BGC)เพื่อผลิตและจัดจำหน่ายบรรจุภัณฑ์แก้วโดยเฉพาะ และในปี 2561 ที่ผ่านมาได้เข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์

          ในช่วงปีครึ่งที่ผ่านมา บางกอกกล๊าส ยังได้เริ่มเข้าสู่ธุรกิจวัสดุก่อสร้าง โดยตั้งบริษัท บีจี โฟลต กล๊าส จำกัด (BGF) เพื่อตั้งโรงงานผลิตกระจกแผ่น มูลค่าการลงทุน 5,000 ล้านบาท ที่โรงงาน กบินทร์บุรีกล๊าส อินดัสทรี อ.ศรีมหาโพธิ จ.ปราจีนบุรี ด้วยกำลังการผลิต 219,000 ตันต่อปี  ล่าสุด ในปีนี้ได้ทุ่มงบ 1,000 ล้านบาทเข้าซื้อกิจการอลูมิเนียมจาก บริษัท ยูแซม อินเตอร์กรุ๊ป จำกัด เข้ามาต่อยอดธุรกิจหลัก เนื่องจากเป็น ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวเนื่องกันและสามารถที่ตอบสนองความต้องการของกลุ่มลูกค้า ได้มากขึ้น เป็นการสร้าง"จุดแข็ง"ให้กับแบรนด์และการบริการที่เข้าไปนำเสนอ ให้กับกับโครงการอสังหาริมทรัพย์ต่างๆ รวมทั้งตัวแทนจำหน่ายในต่างจังหวัด

          ศุภสิน ลีลาฤทธิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บีจี โฟลต กล๊าส จำกัด ระบุว่า แนวทางการขยายธุรกิจให้เติบโตก้าวกระโดดผ่าน "พันธมิตร" ไม่จำกัดว่าจะเป็น ร่วมทุน ซื้อกิจการ หรือร่วมลงทุน ขึ้นอยู่กับการเจราจาและความเหมาะสม หลักๆ จะเน้นการต่อยอดไปยังธุรกิจวัสดุก่อสร้าง ในผลิตภัณฑ์ประเภท พื้น กำแพง ฝ้า เพดาน และยิปซั่มบอร์ดเพื่อให้ครอบคลุมทุกความต้องการของลูกค้า ทั้งในประเทศและต่างประเทศ

          "ในอนาคตเราเข้าไปร่วมในโปรเจคโครงการอสังหาฯต่างๆ ด้วยการเข้าไป ติดตั้งผ่านพาร์ทเนอร์ เพราะมีสินค้าที่พร้อมให้บริการแก่ดีเวลอปเปอร์ จากเดิม คนที่ติดตั้งจะเป็นผู้ที่เข้าไปประมูลงาน ซึ่งรูปแบบดังกล่าวจะเป็นการทำธุรกิจ แบบใหม่ ในการสร้างรายได้และกระจายความเสี่ยงจากความผันผวนของตลาด"

          ส่วนเป้าหมายในปี 2562 คาดว่าจะมีรายได้ 4,000 ล้านบาท มาจากผลิตภัณฑ์ กระจก 2,500 ล้านบาท และมาจากผลิตภัณฑ์อลูมิเนียม 1,500 ล้านบาท หรือมี อัตราการเติบโต 10-15 % สูงกว่าอุตสาหกรรมกระจกในไทยมูลค่าตลาดรวม ประมาณ 12,000 ล้านบาท เติบโตปีละ 5-7 % ทั้งนี้เพราะบริษัท ยูแซม อินเตอร์กรุ๊ป  จำกัด ที่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของบริษัทมีลูกค้าอยู่ในมือแล้ว โดยแต่ละปีมีรายได้ ประมาณ 1,000ล้านบาท และในอนาคต3-5 ปีต่อจากนี้คาดว่า จะมีรายได้ 6,000-7,000 ล้านบาทพร้อมทั้งมีแผนจะเข้าไประดมทุนตลาดหลักทรัพย์  นอกจากนี้ ตลาดใหญ่ที่น่าสนใจ และมีความสำคัญในสายตา ของ ศุภสิน ยัง"ไม่ใช่" ตลาดในประเทศ แม้ว่าปัจจุบันสัดส่วนรายได้ 60%จะมาจากตลาดในประเทศ ส่วนที่เหลือ 40% มาจากตลาดในประเทศเพื่อนบ้าน กลุ่ม CLMV  ที่ถือเป็นตลาดที่น่าสนใจที่บริษัทกำลังศึกษาความเป็นไปได้ที่จะ เข้าไปสร้างโรงงานผลิต