ชงบิ๊กโปรเจ็กต์ลอตสุดท้าย
Loading

ชงบิ๊กโปรเจ็กต์ลอตสุดท้าย

วันที่ : 8 เมษายน 2562
รมว.คมนาคมวางคิวประมูลเมกะโปรเจ็กต์รอยต่อ รัฐบาลเก่า-ใหม่ รถไฟฟ้า "สีส้ม-ม่วงใต้" พรึ่บ 10 สาย ปูพรมทางคู่ทั่วประเทศ เร่งมอเตอร์เวย์นครปฐม-ชะอำ รถไฟไทย-จีน ลุยขยายสนามบินดอนเมือง สุวรรณภูมิ หัวเมืองรอง ทุ่มซื้อฝูงบินใหม่ 1.6 แสนล้าน ยกยอดสายสีแดงส่วนต่อขยาย รถไฟฟ้าเชื่อมพุทธมณฑลสาย 4-บางปู-ลำลูกกา ไฮสปีด 4 สายคาบเส้น 2 รัฐบาล ลุ้นปิดดีล 3 สัมปทาน "ทางด่วน-ดิวตี้ฟรี-ไฮสปีดอีอีซี"จังหวะเปลี่ยนผ่านรัฐบาล
          ปิดดีล3สัมปทาน-รถไฟฟ้า10สาย

          รมว.คมนาคมวางคิวประมูลเมกะโปรเจ็กต์รอยต่อ รัฐบาลเก่า-ใหม่ รถไฟฟ้า "สีส้ม-ม่วงใต้" พรึ่บ 10 สาย ปูพรมทางคู่ทั่วประเทศ เร่งมอเตอร์เวย์นครปฐม-ชะอำ รถไฟไทย-จีน ลุยขยายสนามบินดอนเมือง สุวรรณภูมิ หัวเมืองรอง ทุ่มซื้อฝูงบินใหม่ 1.6 แสนล้าน ยกยอดสายสีแดงส่วนต่อขยาย รถไฟฟ้าเชื่อมพุทธมณฑลสาย 4-บางปู-ลำลูกกา ไฮสปีด 4 สายคาบเส้น 2 รัฐบาล ลุ้นปิดดีล 3 สัมปทาน "ทางด่วน-ดิวตี้ฟรี-ไฮสปีดอีอีซี"จังหวะเปลี่ยนผ่านรัฐบาล

          นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ถึงรายละเอียดโครงการขนาดใหญ่ และการให้สัมปทานในช่วงรอยต่อของรัฐบาลเก่า-รัฐบาลใหม่ว่า คมนาคมเป็นกระทรวงที่มีเงินลงทุนมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่ง เฉลี่ยปีละกว่า 1 แสนล้านบาท เนื่องจากมีโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งที่ต้องพัฒนาเพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขันของประเทศ ทั้งทางบก ระบบราง น้ำและอากาศ ในระยะเวลา 8 ปี (2558-2565) ปัจจุบันมีโครงการต้องเร่งผลักดัน 21 โครงการ มูลค่าลงทุนรวม 1.29 ล้านล้านบาท

          "เวลารัฐบาลที่ยังเหลืออยู่ไม่มาก จะพยายามเสนอโครงการที่พร้อมจะดำเนินการให้คณะรัฐมนตรีอนุมัติให้มากที่สุด เตรียมความพร้อมเพื่อส่งต่อให้รัฐบาลชุดใหม่ ส่วนใหญ่เป็นโครงการที่ประชาชนรอคอยกันมานาน ซึ่งการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมเป็นสิ่งที่ประเทศเราต้องการ ทุกรัฐบาลต้องให้ความสำคัญ มีส่วนทำให้อันดับขีดความสามารถการแข่งขันของไทยดีขึ้น"

          จัดคิวโปรเจ็กต์เสนอ ครม.ช่วงเดือน เม.ย.-พ.ค.นี้ มีโครงการเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติ มีรถไฟทางคู่ 8 เส้นทาง มูลค่า 304,129 ล้านบาท ในนี้มีทางคู่สายใหม่ช่วงบ้านไผ่-มุกดาหาร-นครพนม ระยะทาง 355 กม. วงเงิน 67,965.33 ล้านบาท ได้รับความเห็นชอบจากสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (บอร์ดสภาพัฒน์) แล้วรอเสนอให้ ครม. จะรองรับเขตเศรษฐกิจพิเศษ

          อีก 7 เส้นทาง ได้แก่ ปากน้ำโพ-เด่นชัย 62,848.74 ล้านบาท, เด่นชัย-เชียงใหม่ 56,826.78 ล้านบาท, จิระ-อุบลราชธานี 37,523.61 ล้านบาท, ชุมพร-สุราษฎร์ธานี 24,287.36 ล้านบาท, สุราษฎร์ธานีหาดใหญ่-สงขลา 57,369.43 ล้านบาท และหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ 6,657.37 ล้านบาท อยู่ระหว่างขอความคิดเห็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

          เร่งรถไฟฟ้าอนุมัติครบ 10 สาย

          รถไฟฟ้าในกรุงเทพฯและปริมณฑล 10 เส้นทาง ตามแผนแม่บทรถไฟฟ้า ยังเหลือ 2 เส้นทาง วงเงิน 283,118 ล้านบาท จะเสนอ ครม. ได้แก่ สายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ ระยะทาง 23.6 กม. วงเงิน 101,112 ล้านบาท และสายสีส้มตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ ระยะทาง 16.4 กม. วงเงิน 142,600 ล้านบาท

          "สายสีส้มผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (บอร์ด PPP) แล้ว อยู่ระหว่างรอเสนอ ครม. ได้รับอนุมัติ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) จะเปิดประมูลให้เอกชนร่วมลงทุน PPP net cost ก่อสร้างช่วงตะวันตก และเดินรถตลอดเส้นทางจากบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี ระยะเวลา 30 ปี ส่วนสายสีม่วงใต้ รอประกาศ พ.ร.ฎ.เวนคืนที่ดิน เนื่องจากปรับแนวเส้นทางช่วงถนนสามเสน" นายอาคมกล่าว

          สีแดงประมูลไม่ทันรัฐบาลนี้

          รมว.คมนาคมกล่าวว่า รถไฟฟ้าสายสีแดง ครม.อนุมัติหลักการครบแล้วทั้ง 3 เส้นทาง ได้แก่ สายสีแดงเข้มช่วงรังสิต-ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ระยะทาง 8.84 กม. วงเงิน 6,570.40 ล้านบาท สีแดงอ่อน ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา ระยะทาง 14.8 กม. วงเงิน 10,202.18 ล้านบาท และช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช ระยะทาง 4.3 กม. วงเงิน 6,645.93 ล้านบาท ทั้ง 3 เส้นทางจะประมูล ภายในปีนี้ แต่คาดว่าอาจจะไม่ทันรัฐบาลชุดนี้

          ช่วง missing link (บางซื่อ-พญาไทมักกะสัน-หัวหมาก และบางซื่อ-หัวลำโพง) รอเอกชนผู้ชนะประมูลรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินมาก่อสร้างช่วงเป็นอุโมงค์ซึ่งเป็นพื้นที่ทับซ้อนกัน ด้านส่วนต่อขยายสายสีแดง ช่วงหัวลำโพง-มหาชัย ระยะทาง 38 กม. จะเดินหน้าโครงการต่อ อยู่ระหว่างปรับแบบแนวเส้นทางช่วงท่าดินแดง เนื่องจากมีประชาชนคัดค้าน ซึ่งการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ยังไม่สรุปจะสร้างอุโมงค์หรือเบี่ยงแนวใหม่

          ต่อขยาย 3 เส้น รอรัฐบาลหน้า

          "รัฐบาลชุดนี้เร่งอนุมัติรถไฟฟ้าเป็นสายหลักและส่วนต่อขยายที่สำคัญเกิดขึ้นได้ครบทุกสาย ยังเหลือส่วนต่อขยาย 3 เส้นทางที่จะต้องรอรัฐบาลใหม่สานต่อ คือ ส่วนต่อขยายสายสีน้ำเงินช่วงบางแค-พุทธมณฑลสาย 4 ส่วนต่อขยายสายสีเขียว ช่วงสมุทรปราการบางปู และคูคต-ลำลูกกา คลอง 4" นายอาคมกล่าวและว่า

          เนื่องจากต้องรอประเมินผลการเปิดใช้บริการของส่วนต่อขยายก่อน ซึ่งสายสีเขียวแบริ่ง-สมุทรปราการเปิดบริการแล้ว ยังเหลือช่วงหมอชิต-คูคต จะเปิด 1 สถานีในเดือน ส.ค.นี้ และเปิดตลอดสายในปี 2563 สายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายช่วงหัวลำโพง-บางแค จะเปิดในเดือน ส.ค.-ก.ย.นี้ และบางซื่อ-ท่าพระ จะเปิดในเดือน ก.พ. 2563

          ลุ้นมอเตอร์เวย์นครปฐม-ชะอำ

          นายอาคมกล่าวอีกว่า ทางถนนที่ผ่านมาได้ผลักดันการก่อสร้างถนน 4 ช่องจราจร และมอเตอร์เวย์ 3 สายใหม่ คือ พัทยา-มาบตาพุด, บางใหญ่-กาญจนบุรี และบางปะอิน-โคราช กำลังจะเสนอ ครม.อนุมัติเพิ่ม 1 สาย คือ นครปฐมชะอำ ของกรมทางหลวง เงินลงทุน 79,006 ล้านบาท ผ่านบอร์ด PPP แล้วรอเสนอ ครม. ยังมีประมูลระบบเก็บเงินมอเตอร์เวย์บางปะอิน-นครราชสีมา กับบางใหญ่-กาญจนบุรี ที่จ้างเอกชนบริหารโครงการ 30 ปี มูลค่า 61,000 ล้านบาท จะยื่นข้อเสนอวันที่ 27 มิ.ย.นี้

          ไฮสปีด 4 สายคาบเส้น 2 รัฐบาล

          สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูง 4 เส้นทาง นายอาคมกล่าวว่า จะเป็นโครงการรอยต่อระหว่างรัฐบาลปัจจุบันกับรัฐบาลใหม่ ที่ผ่านมาได้ผลักดันแล้ว 2 เส้นทาง คือ รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ- อู่ตะเภา) ระยะทาง 220 กม. เงินลงทุน 224,544 ล้านบาท จะเชื่อมกับพื้นที่ พัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เปิดให้ เอกชนร่วมลงทุน PPP net cost 50 ปี ล่าสุดกำลังเจรจากับกลุ่ม ซี.พี.และพันธมิตร ก็พยายามเร่งให้จบโดยเร็วเพื่อเสนอ ครม.เห็นชอบและเซ็นสัญญาก่อสร้างต่อไป

          อีกโครงการ คือ รถไฟไทย-จีน เส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 253 กม. วงเงิน 179,412 ล้านบาท กำลังทยอยเปิดประมูลงานโยธาให้เสร็จในเดือน พ.ค.นี้ พร้อมกับเร่งเจรจากับฝ่ายจีนในสัญญา 2.3 งานวางราง และระบบการเดินรถ ระบบอาณัติสัญญาณ พร้อมขบวนรถ กรอบวงเงินรวม 45,000 ล้านบาท เนื่องจากมีวงเงินเพิ่มขึ้นจากเดิมประมาณ 7,000 ล้านบาท ตั้งเป้าจะลงนามภายในเดือน เม.ย.นี้

          กล่อมญี่ปุ่นร่วมทุน กทม.-พิษณุโลก

          สำหรับสายกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ และกรุงเทพฯ-หัวหิน นายอาคมกล่าวว่า ยังไม่มีความคืบหน้ามากนัก โดยช่วงกรุงเทพฯ-หัวหิน ระยะทาง 211 กม. เงินลงทุน 100,125 ล้านบาท อยู่ระหว่างบอร์ด PPP อนุมัติโครงการ โดยมอบให้ ร.ฟ.ท.ศึกษาเส้นทางขยายจากหัวหินสุราษฎร์ธานี เพื่อให้โครงการคุ้มทุน แต่ทางกระทรวงมองว่า การสร้าง ทีเดียวลงไปถึง จ.สุราษฎร์ธานี จะเป็นภาระต่องบประมาณ ควรแบ่งสร้างช่วงกรุงเทพฯ-หัวหินก่อนลำดับแรก

          ขณะที่สายกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ระยะทาง 672 กม. วงเงิน 508,637 ล้าน อยู่ระหว่างเจรจากับประเทศญี่ปุ่น โดยฝ่ายไทยยังยืนยันว่า ต้องการให้ญี่ปุ่นมาร่วมลงทุนในโครงการนี้ รูปแบบ G to G และร่วมกันรับผิดชอบ ซึ่งหากไทยลงทุนเองจะต้องแบกรับภาระการลงทุนเพิ่ม จากเดิมที่มีภาระรถไฟไทย-จีนอยู่แล้ว จึงพยายามเกลี้ยกล่อมให้ญี่ปุ่นมาลงทุนร่วมกัน ไม่ใช่แค่รับงานใดงานหนึ่งไปทำ แต่ต้องการให้มาร่วมในลักษณะที่เป็นภาพรวมของโครงการทั้งหมดร่วมกัน ตามสัดส่วนการลงทุนที่ตกลงร่วมกัน

          "ญี่ปุ่นยอมรับการเจรจาบางส่วนแล้ว ที่เหลือเป็นการเจรจาสัดส่วนการลงทุนร่วมกัน ไทยให้ญี่ปุ่นไปปรับลด ต้นทุนลง และยืนยันจะสร้างเฟสแรกจากกรุงเทพฯไปถึงพิษณุโลก จากเดิมที่ญี่ปุ่นขอสร้างถึงอยุธยา เรามองว่าระยะทางสั้นไป จะให้คุ้มค่าต้องเกิน 300 กม. ซึ่งช่วงกรุงเทพฯ-พิษณุโลก ระยะทางอยู่ที่ 355 กม. ยังต้องเจรจาใน เงื่อนไขต่าง ๆ กันต่อ" นายอาคมกล่าวและว่า

          ขยายสนามบินหลัก-หัวเมืองรอง

          ด้านโปรเจ็กต์ทางอากาศ จะเร่งเพิ่มขีดความสามารถสนามบินหลัก คือ ขยายสนามบินดอนเมือง เฟส 3 วงเงิน 37,590 ล้านบาท ก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิ เฟส 2 วงเงินรวม 62,503 ล้านบาท ล่าสุด บมจ.ท่าอากาศยานไทย (ทอท.) ได้เสนอให้บอร์ดสภาพัฒน์พิจารณา 3 โครงการ ได้แก่ 1.รันเวย์ที่ 3 วงเงิน 24,651 ล้านบาท จะเสนอ ครม.เดือน พ.ค.นี้ 2.ส่วนขยายอาคาร ผู้โดยสารด้านทิศตะวันตก (west wing) วงเงิน 6,000 ล้านบาท และ 3.อาคารผู้โดยสารแห่งที่ 2 (terminal 2) วงเงิน 42,000 ล้านบาท และยังมีขยายสนามบินเชียงใหม่ ระยะที่ 1 วงเงิน 15,000 ล้านบาท

          กรมท่าอากาศยาน (ทย.) ยังมีแผนจะขยายสนามบินภูมิภาคในหัวเมืองรอง อยู่ระหว่างประมูลมี 2 แห่ง ที่สนามบินนครศรีธรรมราช 1,800 ล้านบาท รองรับผู้โดยสารจากเดิม 450 คน/ชม. เป็น 1,600 คน/ชม. และสนามบินตรัง 2,100 ล้านบาท สร้างอาคารผู้โดยสารหลังใหม่ 1,200 ล้านบาท รองรับผู้โดยสารจากเดิม 600 คน/ชม. เป็น 1,200 คน/ชม. และสร้างลานจอดเครื่องบิน 900 ล้านบาท

          ซื้อฝูงบินใหม่ 1.6 แสนล้าน

          ยังมีโครงการอื่น ๆ เช่น พัฒนาสนามบินทหารเลิงนกทา จ.ยโสธร จะเปลี่ยนที่ตั้งใหม่เป็น จ.มุกดาหาร, สนามบินเบตง จ.ยะลา จะสร้างเสร็จปีนี้ และเปิดใช้ปี 2563 รวมถึงจัดหาฝูงบินใหม่ 38 ลำ ของ บมจ.การบินไทย มูลค่ารวม 160,000 ล้านบาท อยู่ระหว่างการพิจารณาของบอร์ดสภาพัฒน์

          ขณะที่โครงการใหญ่ใน EEC ของคมนาคม นอกจากรถไฟความเร็วสูง มีท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 ของการท่าเรือแห่งประเทศไทย เปิดยื่นซองประมูลโซน F ไปแล้ว วงเงิน 8.5 หมื่นล้านบาท มียื่น 2 ราย จะทราบผลวันที่ 11 เม.ย.นี้ และศูนย์ซ่อมอากาศยานสนามบินอู่ตะเภา (MRO) ของการบินไทย ที่ร่วมลงทุนกับแอร์บัส จะยื่นข้อเสนอ วันที่ 15 เม.ย.นี้ ทั้งหมดน่าจะประมูลจบภายในรัฐบาลชุดนี้

          จับตาสัมปทานดิวตี้ฟรี-ทางด่วน

          นายอาคมกล่าวถึงปมสัญญาสัมปทานธุรกิจใหญ่ที่กำลังจะสิ้นสุดอายุสัญญา คือ สัญญาพื้นที่จำหน่ายสินค้าปลอดอากร (ดิวตี้ฟรี) และเชิงพาณิชย์สนามบินสุวรรณภูมิ ภูเก็ต เชียงใหม่ หาดใหญ่ จะสิ้นสุดในปี 2563 ล่าสุด ทอท.ปรับแผนประมูลดิวตี้ฟรีใหม่ แยกสุวรรณภูมิออกมา ไม่รวมกับ 3 สนามบินภูมิภาค (เชียงใหม่ ภูเก็ต หาดใหญ่) แล้ว ก็ให้ ทอท.เดินหน้าไปตามข้อกฎหมายและ ทีโออาร์ ถ้าชัดเจนเรื่องข้อกฎหมายแล้วก็ให้เดินหน้าต่อ

          "กระทรวงไม่สามารถตอบได้ว่า วิธีการที่ ทอท.ดำเนินการนั้นโอเคหรือไม่ เพราะประเด็นนี้ ทอท.เคยชี้แจงว่าอาจจะไม่เข้าเกณฑ์ พ.ร.บ.ร่วมทุน 2562 จึงไม่ได้เสนอให้บอร์ด PPP และกระทรวงพิจารณาเพื่อเสนอ ครม. ซึ่งบอร์ดของ ทอท.มีอำนาจพิจารณาเองได้"


          ส่วนสัมปทานโครงการทางด่วนขั้นที่ 2 จะสิ้นสุดสัญญาวันที่ 27 ก.พ. 2563 หลังจากที่ ครม.ให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เจรจากับ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) คู่สัญญาสัมปทานในภาพรวม เพื่อ แก้ปัญหาข้อพิพาทต่าง ๆ จนเห็นชอบ ร่วมกันที่จะต่อสัญญาออกไปอีก 37 ปี แลกกับมูลค่าข้อพิพาทรวม 137,000 ล้านบาท แต่ยังไม่สามารถบรรบุข้อตกลงได้ เพราะสหภาพ กทพ.คัดค้านนั้น

          "ให้บอร์ดการทางฯเป็นผู้พิจารณาไป ส่วนจะทันรัฐบาลชุดนี้หรือไม่นั้น ไม่สามารถตอบได้ แต่เมื่อการเจรจาได้ข้อยุติแล้วก็ควรจะสรุปให้จบโดยเร็ว"

          นายอาคมกล่าวย้ำว่า ทุกโครงการของคมนาคมที่พร้อมแล้ว ก็ส่งต่อให้รัฐบาลใหม่เดินหน้าได้ทันที เช่น ทางคู่เฟส 2 หากอนุมัติไม่ทันรัฐบาลชุดนี้ เมื่อรัฐบาลใหม่มารับต่อก็สามารถเสนอได้ทันที เนื่องจากโครงการมีความพร้อมแล้วทั้งการศึกษา แบบรายละเอียด และรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ไม่ต้องเริ่มต้นใหม่ จะต่างจากตอนที่รัฐบาลปัจจุบันเข้ามารับตำแหน่งใหม่เมื่อปี 2557 ซึ่งโครงการมีแต่ชื่อ ยังไม่ได้เตรียมความพร้อมไว้ ต้องมาจัดทำรายละเอียดเสนอ ครม.และเปิดประมูล เช่น โครงการก่อสร้างมอเตอร์เวย์ 3 สาย
           
ข่าวพัฒนาสาธารณูปโภค อื่นๆ