บ้านผู้สูงอายุรับยุค Ageing society
Loading

บ้านผู้สูงอายุรับยุค Ageing society

วันที่ : 14 เมษายน 2562
นับแต่ปี 2548 ประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ โดยข้อมูลล่าสุดในปี 2561 ไทยมีจำนวนผู้สูงอายุราว 11.8 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 17.7 ของประชากรทั้งหมด หากมองในแง่ของภาคธุรกิจ การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรไทยดังกล่าว ได้กลายมาเป็นโอกาสทางธุรกิจที่บรรดาผู้ประกอบการไทยจะต้องมีการวางแผนและปรับตัว อย่างไรก็ดี ตลาดของธุรกิจผู้สูงอายุมักกระจุกตัวอยู่กับผู้สูงวัยที่มีรายได้เพียงพอ ในขณะที่กลุ่มผู้สูงอายุที่มีข้อจำกัดด้านรายได้ แต่มีทักษะความเชี่ยวชาญ หากมีแนวทางสร้างรายได้ให้คนกลุ่มนี้ ก็น่าจะกลายมาเป็นเป้าหมายทางธุรกิจได้อีกกลุ่มหนึ่ง
          นับแต่ปี 2548 ประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ โดยข้อมูลล่าสุดในปี 2561 ไทยมีจำนวนผู้สูงอายุราว 11.8 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 17.7 ของประชากรทั้งหมด หากมองในแง่ของภาคธุรกิจ การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรไทยดังกล่าว ได้กลายมาเป็นโอกาสทางธุรกิจที่บรรดาผู้ประกอบการไทยจะต้องมีการวางแผนและปรับตัว อย่างไรก็ดี ตลาดของธุรกิจผู้สูงอายุมักกระจุกตัวอยู่กับผู้สูงวัยที่มีรายได้เพียงพอ ในขณะที่กลุ่มผู้สูงอายุที่มีข้อจำกัดด้านรายได้ แต่มีทักษะความเชี่ยวชาญ หากมีแนวทางสร้างรายได้ให้คนกลุ่มนี้ ก็น่าจะกลายมาเป็นเป้าหมายทางธุรกิจได้อีกกลุ่มหนึ่ง

          ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า โมเดลธุรกิจหนึ่งที่อาจจะสามารถสร้างรายได้ให้แก่ผู้สูงอายุคือ ธุรกิจชุมชนฟรีแลนซ์ผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นศูนย์รวมของชุมชนผู้สูงอายุและองค์กรธุรกิจที่ต้องการจ้างฟรีแลนซ์ที่เป็นผู้สูงอายุ เพื่อปฏิบัติงานที่เฉพาะเจาะจงและต้องการทักษะความเชี่ยวชาญเป็นงานๆ ไป

          ซึ่งโมเดลธุรกิจชุมชนฟรีแลนซ์ผู้สูงอายุ มีข้อจำกัดที่อาจจะไม่สามารถสร้างงานได้ครอบคลุมผู้สูงวัยทุกคนและทุกสายอาชีพ รวมทั้งอาจมีจำนวนผู้สูงวัยที่ได้รับจ้างงานฟรีแลนซ์จริงมีอยู่น้อย และน่าจะกระจุกตัวอยู่ที่ผู้สูงอายุวัยต้นที่มีอายุระหว่าง 60 ถึง 69 ปี ทั้งนี้ ผู้สูงวัยที่ได้งานน่าจะขึ้นอยู่กับทักษะความเชี่ยวชาญและสุขภาพของผู้สูงวัยแต่ละคน รวมไปถึงความต้องการฟรีแลนซ์ขององค์กรธุรกิจต่อสายอาชีพที่ผู้สูงวัยมีทักษะความเชี่ยวชาญ ตลอดจนการแข่งขันระหว่างฟรีแลนซ์ผู้สูงวัยและฟรีแลนซ์หนุ่มสาว

          ทั้งนี้ ตลาดฟรีแลนซ์สำหรับผู้สูงอายุสามารถแบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ 1 ตลาดผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางที่ต้องการทักษะสูงและกำลังประสบภาวะขาดแคลน ปัจจุบันผู้เชี่ยวชาญขององค์กรธุรกิจในบางสายงานกำลังประสบภาวะขาดแคลนและมีแนวโน้มความต้องการที่สูง เช่น แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ พยาบาลวิชาชีพ และวิศวกรปิโตรเคมี เป็นต้น เพื่อตอบโจทย์การขาดแคลนดังกล่าว องค์กรธุรกิจบางองค์กรได้เริ่มมีการปรับตัวในการจ้างงานผู้สูงอายุหลังเกษียณในลักษณะงานประจำแบบมีกำหนดระยะสัญญาจ้างเพิ่มมากขึ้น

          กลุ่มที่ 2 ตลาดผู้เชี่ยวชาญอาชีพโดยทั่วไปที่ต้องการความรู้และทักษะ เช่น นักบัญชี นักแปลหรือล่ามภาษาอังกฤษ และนักเขียน เป็นต้น ซึ่งเป็นตลาดอาชีพที่ไม่ประสบภาวะขาดแคลน แต่องค์กรธุรกิจต้องการจ้างงานเป็นรายครั้งตามความจำเป็นของธุรกิจในขณะนั้น ฟรีแลนซ์ผู้สูงอายุในตลาดกลุ่มนี้ มีโอกาสเผชิญการแข่งขันค่อนข้างสูงกับฟรีแลนซ์ที่เป็นคนรุ่นใหม่ การตั้งราคาที่มีส่วนลดเมื่อเทียบกับฟรีแลนซ์คนรุ่นใหม่เพื่อดึงดูดใจลูกค้าในการจ้างงานผู้สูงวัยจึงเป็นกลยุทธ์หนึ่งที่สำคัญ

          กลุ่มที่ 3 ตลาดผู้ปฏิบัติงานโดยทั่วไปที่ไม่ต้องการความรู้หรือทักษะสูงนัก เช่น คนขับรถ พนักงานขาย พนักงานทำความสะอาด และพนักงานรับโทรศัพท์ เป็นต้น โดยทั่วไปงานในตลาดนี้จะเหมาะกับผู้สูงอายุที่มีการศึกษาและต้นทุนทางสังคมที่ไม่สูงมากนัก รวมถึงเป็นผู้ที่มีสุขภาพดี เนื่องจากมักเป็นงานที่ต้องอาศัยกำลังกายในระดับหนึ่ง

          อย่างไรก็ดี ผู้สูงอายุที่เคยมีต้นทุนทางสังคมที่สูงก็อาจต้องเผชิญความจำเป็นบางประการที่ต้องเข้าสู่ตลาดแรงงานในกลุ่มนี้ การจ้างงานผู้สูงอายุในกลุ่มนี้ อาจต้องไม่เปิดเผยข้อมูลด้านการศึกษาและตำแหน่งงานก่อนเกษียณ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้สูงวัยในกลุ่มดังกล่าวมีทางเลือกในด้านการจ้างงานมากขึ้น ทั้งนี้ ตลาดกลุ่มนี้ก็ยังมีโอกาสเผชิญการแข่งขันที่รุนแรงกับแรงงานคนหนุ่มสาวเช่นกัน ส่งผลให้การตั้งราคาส่วนลดเพื่อชดเชยด้านผลิตภาพจึงเป็นแนวทางหนึ่งในการจูงใจลูกค้าให้จ้างงานผู้สูงวัย

          ในส่วนของธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ก็เป็นอีกภาคธุรกิจที่ลุกขึ้นมาตั้งรับกับแนวโน้มที่เปลี่ยนไป แน่นอนว่าการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงวัยนั้น มีความซับซ้อนมากกว่าการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อคนหนุ่มสาว นอกจากการคำนึงถึงการออกแบบพื้นที่ใช้สอยภายใต้เงื่อนไขความปลอดภัยในการดำรงชีวิตแล้ว การบริหารจัดการเพื่อสร้างสังคมคุณภาพ (community) ที่นำมาซึ่งสุขภาพจิตที่ดีก็มีส่วนสำคัญไม่น้อย

          การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรไปสู่สังคมผู้สูงอายุเป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงกันมากในช่วงหลายปีมานี้ กลุ่มผู้สูงอายุจะกลายมาเป็นกลุ่มลูกค้าที่มีบทบาทสำคัญในอนาคต ส่งผลให้หลากหลายธุรกิจต่างก็ตระหนักและเริ่มมีการปรับตัว ซึ่งการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยเป็นทั้งโอกาสและความท้าทายของภาคธุรกิจที่ต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบของสินค้าและบริการที่เข้าถึงความต้องการของกลุ่มผู้สูงวัย ทั้งนี้ จากข้อมูล World Population Ageing โดยองค์การสหประชาชาติ ที่จัดอันดับประเทศในเอเชีย พบว่าในปี 2573 ประเทศไทยจะมีสัดส่วนประชากรสูงวัยเพิ่มขึ้นเป็น 19% เป็นอันดับที่ 3 รองจากประเทศญี่ปุ่นและสิงคโปร์

          ผู้ประกอบการอสังหาฯ กับลูกค้าสูงอายุ

          ซึ่งความท้าทายของธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ไม่ใช่อยู่ที่วิธีการออกแบบที่อยู่อาศัยเพียงเท่านั้น และในเมื่อโจทย์ใหญ่ธุรกิจเพื่อผู้สูงวัยคือ คนที่จะอยู่อาศัยในอนาคต ซึ่งก็คือ คนกลุ่มเจเนอเรชั่นเอ็กซ์ ที่วันนี้มีอายุมากสุดคือ 57 ปี (เกิดระหว่าง 2504-2524) แน่นอนว่า คนกลุ่มนี้มีพฤติกรรมที่ต่างไปจากกลุ่มเบบี้บูม ทั้งพฤติกรรมที่คุ้นชินกับการใช้ชีวิตในเมือง การเดินทางที่สะดวกสบาย อยากอยู่ใกล้เพื่อน ลูกหลาน การไม่กลัวเทคโนโลยี ชอบเข้าสังคมและความพร้อมทางการเงินที่มีการวางแผนมาอย่างดี

          มาเริ่มกันที่ บมจ.เอพี ไทยแลนด์ ผู้นำในการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับคนเมือง จึงเกิดความคิดต่างและเชื่อว่าที่อยู่อาศัยเพื่อผู้สูงวัยรุ่นใหม่ควรตั้งอยู่ในเมือง เดินทางสะดวก สอดรับกับพฤติกรรมของผู้สูงวัยรุ่นใหม่ที่ต่างไป จึงพร้อมนำข้อได้เปรียบในการพัฒนาคอนโดมิเนียมของเอพี ทั้งในเรื่องของโลเกชั่น การออกแบบพื้นที่ และการส่งต่อองค์ความรู้จากบริษัท มิตซูบิชิ จิโช เรสซิเดนซ์ พันธมิตรทางธุรกิจ มาต่อยอดสู่การขยายพอร์ตสินค้าคอนโดมิเนียมไปยังตลาดกลุ่มลูกค้าผู้สูงวัยรุ่นใหม่ อายุ 60-75 ปี ที่มีความพร้อมทางด้านการเงิน ที่ผสานความต่างของทุกเจเนอเรชั่นเข้าไว้เป็นหนึ่งเดียว

          ทั้งนี้ นายวิทการ จันทวิมล รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานกลยุทธ์องค์กรและการสร้างสรรค์ บมจ.เอพี (ไทยแลนด์) (AP) กล่าวถึงทิศทางในการพัฒนาคอนโดมิเนียมแนวคิดใหม่ 'INTERGENERATIONAL LIVING' ว่า การพัฒนาที่อยู่อาศัยเพื่อผู้สูงวัย บริษัทมีแนวคิดหลักๆ ในการพัฒนาโครงการ โดยประกอบไปด้วย 3 แกนหลักคือ 1.Rethink Space การปรับวิธีคิดในการออกแบบพื้นที่ใหม่ทั้งหมด โดยนำหลัก Universal Design เข้ามาผสมผสานในการออกแบบพื้นที่เพื่อคนทุกเจเนอเรชั่น 2.Redefine Living การสร้างนิยามใหม่ของการอยู่อาศัยในคอนโดมิเนียมสำหรับผู้สูงวัยรุ่นใหม่

          ซึ่งมีความพร้อมส่งมอบคุณค่าของสินค้าที่อยู่เหนือกาลเวลา ทั้งในเรื่องของทำเลที่ตั้งที่อยู่ในเมือง การเพิ่มสัดส่วนของพื้นที่ส่วนกลางที่มากขึ้นกว่าคอนโดมิเนียมทั่วไป รวมถึงการนำเทคโนโลยีเข้ามาประยุกต์ใช้ เพื่ออำนวยความสะดวกและสร้างความปลอดภัยในชีวิต 3.Remodeling Community การพัฒนาโมเดลที่ส่งเสริมความสุขในการอยู่อาศัย ทั้งด้านจิตใจและคุณค่าต่อชุมชน

          อย่างไรก็ตาม ตลอดระยะเวลากว่า 25 ปีของการดำเนินธุรกิจ เอพีไม่เคยหยุดนิ่งที่จะสร้างสรรค์นวัตกรรมดีไซน์ใหม่ๆ ให้เกิดขึ้น โดยมีเป้าหมายสูงสุดคือ การสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีในการอยู่อาศัยอย่างยั่งยืน ครอบคลุมทุกมิติ ทั้งด้านคุณภาพ การบริการ การอำนวยความสะดวกสบาย และความปลอดภัย โดยได้รับความร่วมมืออย่างดีจากพันธมิตรอย่าง บริษัท มิตซูบิชิ จิโช เรสซิเดนซ์ จำกัด ในเครือมิตซูบิชิ เอสเตท พันธมิตรจากญี่ปุ่น ประเทศที่ได้รับการยอมรับในเรื่องของนวัตกรรม วัฒนธรรมในการทำงานที่เป็นระบบ ระเบียบ

          รวมไปถึงแนวคิดในการอยู่อาศัยอย่างยั่งยืน ในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ที่ครอบคลุมการพัฒนาที่อยู่อาศัย การพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีอย่างเข้มข้นและจริงจัง ซึ่งบริษัทได้นำหลากหลายแนวคิดจากประเทศญี่ปุ่นมาพัฒนาเป็นแนวทางที่สามารถนำไปสู่ 'การสร้างสรรค์คุณภาพสูงสุด' ให้กับคอนโดมิเนียมเอพี และยังพร้อมที่จะต่อยอดนวัตกรรมต่างๆ เพื่อสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงคุณภาพชีวิตให้เกิดขึ้นในสังคมเอพี

          โครงการบ้านสำหรับผู้สูงอายุ

          ด้าน บมจ.ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป ได้พัฒนาโครงการ "จิณณ์   เวลบีอิ้ง เคาท์ตี้" เม็ดเงินลงทุนกว่า 4,400 ล้านบาท สำหรับเฟสแรก ด้วยเล็งเห็นศักยภาพของตลาดที่จะเกิดจากการที่ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนผู้สูงอายุ 11.2 ล้านคน หรือประมาณ 17.1% และคาดการณ์ว่าในอีก 5 ปี คือ 2565 จะมีผู้สูงอายุเพิ่มเป็น 13.6 ล้านคน หรือประมาณ 20.6% ซึ่งถือว่าประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

          สำหรับโครงการ "จิณณ์ เวลบีอิ้ง เคาน์" ตั้งอยู่บนพื้นที่ 140 ไร่ ริมถนนพหลโยธิน รังสิต อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี สำหรับเฟสแรกโครงการนั้น ประกอบด้วย 3 ส่วนหลัก ได้แก่  Active Living ส่วนที่พักอาศัยอาคาร Low-rise 7 ชั้น จำนวน 13 อาคาร รวม 1,300 ยูนิต, Aged Care Center อาคารสำหรับผู้สูงอายุที่ต้องการการดูแลเป็นพิเศษ ภายในประกอบด้วย ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุแบบรายวัน และแบบพักค้างคืน คลินิกรักษาโรคทั่วไป และศูนย์กายภาพ ส่วนที่สามเป็น Clubhouse & Wellness Center ที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน นอกจากนี้ยังมีโรงพยาบาลและคอมมูนิตี้มอลล์ภายในโครงการ

          ทางด้าน บมจ.แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเม้นท์ ผู้พัฒนาโครงการภายใต้แนวคิด "ชุมชนน่าอยู่" ได้จัดเก็บข้อมูลและสำรวจพฤติกรรมของผู้พักอาศัยมาอย่างต่อเนื่อง โดยนายโอภาส ศรีพยัคฆ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ (LPN) กล่าวถึงผลสำรวจ โดยพบว่าประชากรในครอบครัวลุมพินีนั้นมีทุกช่วงอายุ โดยแบ่งเป็น วัยเด็ก 1-10 ปี 2%, วัยรุ่น 11-20 ปี 7%, วัยทำงาน 21-55 ปี 89% และผู้สูงวัย 56 ปีขึ้นไป 2% จึงเป็นเหตุให้แบรนด์ "ลุมพินี" รูปแบบใหม่ได้พัฒนาเป็น "ชุมชนน่าอยู่สำหรับผู้สูงวัย" ตามแบบฉบับ "LPN Design" แก่คนทุกวัยภายใต้แนวคิด Universal Design

          โดยในช่วงที่ผ่านมาได้มีการพัฒนาโครงการเพื่อตอบรับกับสังคมผู้สูงวัย ยกตัวอย่างเช่น โครงการลุมพินี วิลล์ ราชพฤกษ์-บางแวก เป็นคอนโดฯ โลว์ไรส์ในย่านบางแวก ที่มีกลุ่มเป้าหมายหลัก คือ วัยทำงานและผู้สูงอายุ ซึ่ง LPN ได้จัดทำทั้งพื้นที่ส่วนกลางและภายในห้องชุดสำหรับผู้สูงวัย ดังนี้ ห้องกิจกรรมผู้สูงอายุ ราวจับเพื่อประคองตัวในห้องน้ำ วัสดุปูพื้นกันลื่น ปุ่มฉุกเฉินภายในห้องพัก 2 ปุ่ม ทางลาดชัน วัสดุอุปกรณ์ภายในห้องชุดไม่มีเหลี่ยมมุม และห้องพยาบาลเบื้องต้น

          สำหรับการติดตั้งอุปกรณ์สำหรับผู้สูงวัยนั้น ได้รับความร่วมมือจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อให้รองรับผู้สูงอายุที่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ อย่างไรก็ตาม การออกแบบที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุควรให้ความสำคัญตั้งแต่โครงสร้าง การตกแต่งบ้าน การจัดวาง หรือการติดตั้งอุปกรณ์อำนวยความสะดวกต่างๆ เพื่อรองรับความเสื่อมถอยของร่างกายในด้านการมองเห็น การได้ยิน การเคลื่อนไหวร่างกาย เพื่อให้มีความปลอดภัย ใช้งานได้ง่าย และมีความสะดวกมากยิ่งขึ้น
 
ข่าวโครงการอสังหาฯ ภาคเอกชน อื่นๆ