ธปท.ลั่น ไม่เกิน กลางปีเปิดข้อมูลบ้านแลกเงิน
Loading

ธปท.ลั่น ไม่เกิน กลางปีเปิดข้อมูลบ้านแลกเงิน

วันที่ : 20 เมษายน 2562
ธปท. เตรียมเปิดข้อมูลสินเชื่อที่อยู่อาศัย แยกตามประเภทหลักประกัน รับข้อเสนอแบงก์เพิ่มข้อมูล Home For Cash คาดไม่เกินครึ่งปีแรก เชื่อธนาคาร ผู้ประกอบการนำไปใช้ประโยชน์ "กสิกรไทย" เผยยอด 2 เดือนโตตามเป้า 1.6 หมื่นล้านบาท เป้าทั้งปี 6.4 หมื่นล้านบาท รอประเมินผลกระทบ LTV
          เกาะติดผลกระทบมาตรการ LTV

          ธปท. เตรียมเปิดข้อมูลสินเชื่อที่อยู่อาศัย แยกตามประเภทหลักประกัน รับข้อเสนอแบงก์เพิ่มข้อมูล Home For Cash คาดไม่เกินครึ่งปีแรก เชื่อธนาคาร ผู้ประกอบการนำไปใช้ประโยชน์ "กสิกรไทย" เผยยอด 2 เดือนโตตามเป้า 1.6 หมื่นล้านบาท เป้าทั้งปี 6.4 หมื่นล้านบาท รอประเมินผลกระทบ LTV

          มาตรการกำกับดูแลสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ผ่านอัตราส่วนสินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกัน(LTV)ที่มีผลบังคับใช้ไปเมื่อวันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา ส่งผลให้สินเชื่อที่อยู่อาศัยชะลอลง ธนาคารพาณิชย์หลายแห่งต้องหันมาทำธุรกิจสินเชื่อบ้านแลกเงินมากขึ้นโดยหลายธนาคารได้ออกแคมเปญและโปรโมชันต่างๆ เพื่อแข่งขันกันแย่งลูกค้ากลุ่มนี้ เพื่อชดเชยกับรายได้ดอกเบี้ยที่ลดลงของสินเชื่อที่อยู่อาศัย ทำให้แนวโน้มธุรกิจสินเชื่อบ้านแลกเงินขยายตัวต่อเนื่องและแข่งขันรุนแรงขึ้นในปีนี้

          ธนาคารพาณิชย์จึงเรียกร้องให้ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)เปิดเผยข้อมูลรายละเอียดของสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ เพราะต้องการเห็นภาพรวมของตลาดการแข่งขันที่เกิดขึ้นในตลาดในภาวะต่างๆให้ชัดเจนยิ่งขึ้น เพื่อนำข้อมูลเหล่านั้นไปพิจารณาและตัดสินใจในการดำเนินธุรกิจได้ถูกต้องและแม่นยำมากขึ้น

          นายสมชาย เลิศลาภวศิน ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน ธปท.เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า คาดว่าจะสามารถเปิดเผยข้อมูลรายละเอียดของภาพรวมอสังหาริมทรัพย์และสินเชื่อที่อยู่อาศัยได้ภายในครึ่งแรกปีนี้ ตามข้อเสนอของธนาคารพาณิชย์ ที่ต้องการให้ธปท.เปิดเผยข้อมูลสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ โดยแยกข้อมูลและประเภทให้ชัดเจนขึ้น เช่น ข้อมูลจำแนกสินเชื่อปล่อยใหม่ของสินเชื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อรีไฟแนนซ์ ข้อมูลแยกตามประเภทหลักประกัน ทั้งในส่วนแนวราบและแนวสูง บ้านใหม่และบ้านเก่า รวมถึงข้อมูลตามหลักประกันต่างๆ รวมถึงให้เพิ่มข้อมูลในหมวดสินเชื่อบ้านแลกเงิน(Home For Cash) เพื่อให้เห็นภาพรวมของตลาดชัดเจนขึ้น

          "ที่ผ่านมา เป็นการเปิดเผยข้อมูลบ้านโดยตรง แต่มีธนาคารเสนอว่า ให้เปิดเผยข้อมูลในหมวด Home For Cash ซึ่งไม่ใช่เป็นการซื้อบ้านใหม่ แต่เป็นการนำบ้านไปขอสินเชื่อเพิ่ม ข้อมูลเหล่านี้แบงก์ต้องการให้ธปท.เปิดเผยมากขึ้น เพื่อจะได้รู้ว่า จะแข่งขันในตลาดไหน หรือการสร้างโครงการอสังหาริมทรัพย์แนวไหน กลุ่มไหน และราคาระดับใดที่จะเหมาะสมและสามารถขยายตัวได้ดี"

          สำหรับแนวโน้มสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ หลังการบังคับใช้มาตรการ LTV คาดว่า ยอดสินเชื่อที่อยู่อาศัยน่าจะเร่งตัวขึ้นในไตรมาส 1 เนื่องจากผู้ประกอบการมีโปรโมชัน เพื่อเร่งระบายสต๊อกสินค้า เช่น ฟรีค่าโอน และจดจำนอง ดังนั้น จะเห็นว่ายอดสินเชื่อที่อยู่อาศัยปล่อยใหม่และสินเชื่อรีไฟแนนซ์ยังขยายตัวสูง แต่จะอยู่ภายใต้การปล่อยสินเชื่อที่มีความเข้มงวดเพิ่มขึ้นเล็กน้อย โดย LTV รวมถึงสินเชื่อ Top Up มีแนวโน้มลดลง ซึ่งตัวเลข LTV ระดับ 90% อยู่ที่ 19%

          "ธปท.ยังคงเดินหน้ากำกับตรวจสอบว่า ธนาคารพาณิชย์ได้ทำถูกตามมาตรการหรือไม่ และดูการปรับตัวของภาคธุรกิจและประชาชน เพื่อนำมาประเมินผล และเพื่อหาเครื่องมือที่จะนำมาใช้ให้ทันสถานการณ์มากขึ้น"

          นายอลงกต บุญมาสุข ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ฝ่ายบริหารพันธมิตรและส่งเสริม การตลาดสินเชื่อที่อยู่อาศัย ธนาคารกสิกรไทยกล่าวกับ"ฐานเศรษฐกิจ" ว่า หากธปท.เปิดเผยข้อมูลด้านอสังหาริมทรัพย์ที่แยกประเภทและกลุ่มสินเชื่อละเอียดขึ้น ธนาคารพาณิชย์จะเห็นภาพตลาดชัดเจนยิ่งขึ้น ทั้งขนาดมูลค่าตลาด(Market Size) อยู่ที่เท่าไร แยกพอร์ตสินเชื่อ กลุ่มประเภทหลักประกัน จะทำให้ธนาคารพาณิชย์สามารถนำข้อมูลเหล่านี้มาใช้ในการวางแผนกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจได้แม่นยำและชัดเจนขึ้น

          สำหรับภาพรวมสินเชื่อที่อยู่อาศัย 2 เดือนแรกของธนาคารเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ โดยสามารถปล่อยสินเชื่อไปแล้วกว่า 1.6 หมื่นล้านบาท จากเป้าหมายทั้งปีที่ 6.4 หมื่นล้านบาท ซึ่งธนาคารติดตามข้อมูลอย่างใกล้ชิด ซึ่งต้องรอดูข้อมูลเดือนมีนาคมก่อนจะมีมาตรการ LTV ว่า จะมีผลกับยอดการปล่อยสินเชื่อมากน้อยแค่ไหน โดยสิ่งที่จับตาดูหลักๆ จะเป็นยอดการโอนที่อยู่อาศัยของลูกค้า ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคว่า การตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยเปลี่ยนแปลงหรือไม่ และกระบวนการอนุมัติสินเชื่อ(Approve) เป็นไปตามหลักเกณฑ์และสอดคล้องกับมาตรการของธปท.หรือไม่

          ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินภาพรวมสินเชื่อที่อยู่อาศัยมีแนวโน้มชะลอตัวลง โดยคาดว่าจะขยายตัว 4.5% ลดลงจากปีก่อนที่ขยายตัว 7.5% สอดคล้องกับเป้าหมายของผู้ประกอบการรายใหญ่ในตลาดที่คาดว่าจะเติบโตเพียง 0-4% เท่านั้น ขณะที่ยอดการโอนอสังหาริมทรัพย์ในกรุงเทพฯและปริมณฑลปีนี้ คาดว่าจะติดลบ 8.5-12.5% จากปีก่อนที่ขยายตัวเกือบ 20% อย่างไรก็ดีต้องจับตามองว่า ทางการจะมีมาตรการเพิ่มเติมหรือไม่ และคงมองหาโอกาสเติบโตในกลุ่มตลาดรีไฟแนนซ์และสินเชื่อบ้านมือ 2 โดยกลุ่มลูกค้าระดับบนยังคงเห็นการแข่งขันที่รุนแรง และกลุ่มคอนโดมิเนียมยังเป็นประเด็นที่ต้องติดตาม
 
ข่าวนโยบายการเงิน-การคลัง อื่นๆ