มาตรการแอลทีวีพ่นพิษ
Loading

มาตรการแอลทีวีพ่นพิษ

วันที่ : 8 พฤษภาคม 2562
นายเชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการบริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เปิดเผยว่า ตั้งแต่มาตรการกำกับดูแลสินเชื่อที่อยู่อาศัย (มาตรการแอลทีวี) มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. เป็นต้นมา ทำให้สินเชื่อที่อยู่อาศัยของสถาบันการเงินชะลอตัวลง
          คุมสินเชื่อบ้านอยู่หมัด หวั่นนิ่งสนิทถึงปลายปี

          นายเชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการบริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เปิดเผยว่า ตั้งแต่มาตรการกำกับดูแลสินเชื่อที่อยู่อาศัย (มาตรการแอลทีวี) มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. เป็นต้นมา ทำให้สินเชื่อที่อยู่อาศัยของสถาบันการเงินชะลอตัวลง เนื่องจากช่วงก่อนที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปลายปี 61 จนถึงไตรมาสแรกปีนี้มีการเร่งขอสินเชื่อไปมากพอสมควร เพราะผู้ประกอบการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยเร่งโอนกรรมสิทธิ์ เพื่อระบายยอดคงค้างที่มีอยู่ในโครงการ โดยประเมินว่าสินเชื่อที่อยู่อาศัยจะชะลอจนถึงปลายปีนี้ ก่อนจะกลับมาฟื้นตัวอีกครั้งช่วงสิ้นปีตามฤดูกาลสินเชื่อที่อยู่อาศัย

          ทั้งนี้จากข้อมูลของศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ระบุภาพรวมสินเชื่อในเดือน มี.ค. ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.65 หมื่นล้านบาท หรือ 0.14% จากเดือนก่อน แต่เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน สินเชื่อสุทธิชะลอ 4.98% ทำให้ประเมินว่าสินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ไทย อาจยังคงต้องรอบรรยากาศการฟื้นตัวที่ชัดเจนของเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปี ซึ่งยังคงคาดสินเชื่อทั้งปีเติบโต 5% และจะติดตามการเบิกใช้สินเชื่อของภาคธุรกิจในระยะข้างหน้า รวมถึงผลกระทบต่อทิศทางสินเชื่อบ้านซึ่งมีสัดส่วนสูงถึงครึ่งหนึ่งของพอร์ตสินเชื่อรายย่อยของระบบธนาคารพาณิชย์ หลังมาตรการแอลทีวีมีผลบังคับใช้

          รายงานข่าวจากธนาคารแห่งประเทศ ไทย (ธปท.) กล่าวว่า แนวโน้มสินเชื่อสถาบันการเงินในไตรมาสที่ 2 คาดว่าจะมีความต้องการขอสินเชื่อจากภาคครัวเรือนลดลง โดยเฉพาะสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยภายหลังการบังคับใช้มาตรการแอลทีวีแต่ในขณะที่ความต้องการสินเชื่อบัตรเครดิตมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามการบริโภคภาคครัวเรือน โดยสถาบันการเงินยังคง เพิ่มความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัย ตามภาวะตลาดอสังหาริมทรัพย์และคุณภาพของผู้กู้ ซึ่งต่อเนื่องมาจากไตรมาสแรกที่เข้มงวดทุกประเภท เช่น สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ที่คุณภาพสินเชื่อมีแนวโน้มด้อยลงจากมาตรฐานการให้สินเชื่อที่ผ่อนคลายในช่วงที่ผ่านมา

          "ความต้องการสินเชื่อภาคครัวเรือนเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนในสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ความต้องการสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์และสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคอื่น ๆ ลดลง สถาบันการเงินเพิ่มความเข้มงวดให้สินเชื่อในทุกวัตถุประสงค์โดยเฉพาะสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์"

          นอกจากนี้ยังประเมินสินเชื่อธุรกิจในไตรมาส 2 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ เพื่อใช้ลงทุนสินทรัพย์ถาวรในหมวดการผลิตพลังงานไฟฟ้า หมวดอาหารและเครื่องดื่มที่ผลิตเพื่อส่งออก รวมถึงหมวดก่อสร้างด้านการรับเหมาก่อสร้างโครงการลงทุนภาครัฐ ทั้งโครงการลงทุนในอีอีซี รถไฟทางคู่และรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ ส่วนความต้องการสินเชื่อของธุรกิจเอสเอ็มอี มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจำกัด โดยเฉพาะในภาคการค้า ยังรอความชัดเจนหลังการจัดตั้งรัฐบาลใหม่

          อย่างไรก็ตามความต้องการสินเชื่อภาคธุรกิจในไตรมาสที่ 1 ปี 62 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนตามความต้องการสินเชื่อของกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่มากกว่าคาด เพื่อใช้ลงทุนสินทรัพย์ถาวร ผลิตสินค้าคงคลัง และเป็นเงินทุนหมุนเวียนโดยเฉพาะในโครงการลงทุนของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ประกอบกับบางธุรกิจขอสินเชื่อเพิ่มขึ้นเพื่อใช้ควบรวมกิจการ โดยความต้องการสินเชื่อของธุรกิจเอสเอ็มอี ปรับเพิ่มขึ้นจากความต้องการเงินทุนหมุนเวียนมากกว่าคาด ทั้งในภาคเกษตรเพื่อใช้บริหารจัดการผลกระทบของภัยแล้งในบางพื้นที่และในภาคการค้าที่สภาพคล่องลดลง