แอร์พอร์ตลิงก์เลื่อนใช้บัตรแมงมุมก.ย.62
Loading

แอร์พอร์ตลิงก์เลื่อนใช้บัตรแมงมุมก.ย.62

วันที่ : 22 พฤษภาคม 2562
แอร์พอร์ตลิงก์ เปิดรับบัตรคนจน วันแรกแล้วประเมินใช้บริการ 4 พันคน/วัน ส่วนบัตรแมงมุม เลื่อนไปเป็น ก.ย. 62 เหตุระบบเชื่อมหลังบ้านและเคลียริ่งเฮาส์ ไม่เรียบร้อย พร้อมทุ่ม 4 แสน ซื้อทางทางพาดพับได้ บริการรถเข็นวีลแชร์ เป็นสายแรก
          แอร์พอร์ตลิงก์ เปิดรับบัตรคนจน วันแรกแล้วประเมินใช้บริการ 4 พันคน/วัน ส่วนบัตรแมงมุม เลื่อนไปเป็น ก.ย. 62 เหตุระบบเชื่อมหลังบ้านและเคลียริ่งเฮาส์ ไม่เรียบร้อย  พร้อมทุ่ม 4 แสน ซื้อทางทางพาดพับได้ บริการรถเข็นวีลแชร์ เป็นสายแรก

          นายสุเทพ พันธุ์เพ็ง กรรมการ ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด หรือผู้ให้บริการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 21 พ.ค. ผู้ถือ บัตรสวัสดิการฯ แบบบัตรแมงมุมเวอร์ชั่น 2.0, 2.5 และบัตร Contactless เวอร์ชั่น 4.0 สามารถใช้บัตรจ่ายค่าโดยสารรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ได้ทั้ง 8 สถานีแล้ว โดย ผู้ถือบัตรสวัสดิการฯ ติดต่อห้องจำหน่ายบัตรโดยสาร ผ่านเครื่อง EDC เพื่อออกเป็นเหรียญโดยสาร ในอัตราค่าโดยสารตามสถานีที่ต้องการเดินทาง โดยเบื้องต้นประเมินว่าจะมีผู้ถือบัตรสวัสดิการฯ ใช้บริการประมาณ 4,000 คน/วัน หรือประมาณ 5% ของปริมาณผู้โดยสารเฉลี่ยทั้งหมด ที่เกือบ 9 หมื่นคน/วัน

          สำหรับบัตรแมงมุมเวอร์ชั่น 2.5 ซึ่งเป็นระบบปิด (Closed Loop) ภายใต้ ระบบตั๋วร่วมนั้น พร้อมใช้งานประมาณเดือน ก.ย. หรือไม่เกินปลายปี 2562 ซึ่งเลื่อนจากกำหนดเดิมที่จะใช้งานได้ในเดือนพ.ค. พร้อมกับบัตรสวัสดิการฯ เนื่องจากยังมีปัญหาในการเชื่อมต่อซอฟต์แวร์ ระบบความปลอดภัย การตัดเงิน กับ เคลียริ่งเฮาส์ (Clearinghouse) ซึ่งทำให้ต้องมีการขยายสัญญาติดตั้งระบบออกไป

          ส่วนการปรับปรุงเป็นแมงมุม 4.0 ซึ่ง เป็นระบบเปิด (Open Loop) เป็นเทคโนโลยี ใหม่ที่ใช้งานผ่านบัตร EMV (Euro/ Master/ Visa Card) ซึ่งซอฟต์แวร์ วางไว้รองรับไว้ด้วย โดยหากมีการประกาศใช้ จะมีการ อัปเกรดอีกเล็กน้อย จะสามารถใช้งานได้

          ทุ่ม 4 แสน ซื้ออุปกรณ์ทางพาดพับได้ บริการรถเข็นวีลแชร์ เป็นแห่งแรก

          นอกจากนี้ ล่าสุดแอร์พอร์ตลิงก์ได้ จัดหาอุปกรณ์ทางพาดพับได้สำหรับรถเข็น วีลแชร์ (Portable wheelchair ramp) เพื่อ เพิ่มความสะดวกสบายและความปลอดภัย ในการใช้บริการให้แก่ผู้โดยสารทุพพลภาพ และคนพิการที่ต้องใช้รถเข็นวีลแชร์ในการ เข้าสู่ขบวนรถไฟ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่มีการ จัดหาอุปกรณ์ดังกล่าวเพื่อใช้ในระบบขนส่ง สาธารณะทางรางของไทย โดยจัดหาทั้งหมด 16 ตัวประจำสถานีละ 2 ตัว วงเงิน 4 แสนบาท หรือประมาณ 2 หมื่นบาท/ตัว

          เนื่องจากแอร์พอร์ตเรลลิงก์ มีระยะห่างของชานชาลา กับตัวรถ ประมาณ 12 ซม. ส่วนระบบอื่น จะห่างประมาณ 8 ซม. ดังนั้นอุปกรณ์ทางลาดพับได้จะทำให้การเข้าสู่ตัวรถของผู้โดยสารรถวีลแชร์มีความสะดวก และปลอดภัยมากขึ้น โดยติดตั้งง่าย สามารถนำรถวีลแชร์เข้าสู่ตัวรถไฟฟ้าได้รวดเร็ว ไม่กระทบต่อผู้โดยสารอื่น และไม่ทำให้การเดินรถล่าช้าแต่อย่างใด.
 
ข่าวพัฒนาสาธารณูปโภค อื่นๆ