3 แบงก์รัฐเกี่ยงลด ดอกเบี้ยกู้ หวั่นบัญชีเงินฝากโดนหางเลข
Loading

3 แบงก์รัฐเกี่ยงลด ดอกเบี้ยกู้ หวั่นบัญชีเงินฝากโดนหางเลข

วันที่ : 14 สิงหาคม 2562
แบงก์กุมขมับปมลดดอกเบี้ยเงินกู้ แบงก์รัฐ "กรุงไทย-ออมสิน-ธอส." แท็กทีมรอธนาคารพาณิชย์นำร่อง "ปรีดี" ประธานสมาคมธนาคารระบุต้องพิจารณารอบคอบ-รอดูมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรัฐบาล "ทีเอ็มบี" แนะจับตาแบงก์ใหญ่ลดดอกเบี้ยฝากออมทรัพย์รายย่อยต่ำกว่า 0.5%
          แบงก์กุมขมับปมลดดอกเบี้ยเงินกู้ แบงก์รัฐ "กรุงไทย-ออมสิน-ธอส." แท็กทีมรอธนาคารพาณิชย์นำร่อง "ปรีดี" ประธานสมาคมธนาคารระบุต้องพิจารณารอบคอบ-รอดูมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรัฐบาล "ทีเอ็มบี" แนะจับตาแบงก์ใหญ่ลดดอกเบี้ยฝากออมทรัพย์รายย่อยต่ำกว่า 0.5%

          หลังจากคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% เหลือ 1.50% ต่อปี หลายฝ่ายต่างจับตาว่าสถาบันการเงินต่าง ๆ จะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ตามมาหรือไม่

          แบงก์รัฐไม่นำร่องลด ดบ.

          นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า เรื่องการปรับลดดอกเบี้ย กำลังพิจารณาอยู่ เพราะครั้งก่อนที่ กนง.ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย กรุงไทยก็เป็นธนาคารเดียวที่ไม่ได้ปรับขึ้นดอกเบี้ย ส่งผลให้ธนาคารไม่มีช่องว่างเหลือเพียงพอที่จะปรับลดดอกเบี้ยลงได้

          "ดูในเชิงเปรียบเทียบดอกเบี้ยของเราก็ต่ำสุดอยู่แล้ว ต้นทุนการเงินก็สูงกว่าคนอื่น นอกจากนี้เมื่อเทียบกับธนาคารรัฐอื่น ๆ เรายังได้รับผลกระทบเรื่องค่าธรรมเนียม 0.47% (นำส่งเข้าสถาบันคุ้มครองเงินฝากและกองทุนเพื่อการฟี้นฟูฯ) ตามเกณฑ์ธนาคารพาณิชย์อีกด้วย หนี้เสียก็สูงกว่าคนอื่น เพราะฉะนั้นต้องดูภาพรวม จะดูเรื่องดอกเบี้ยโดด ๆ อย่างเดียวไม่ได้" นายผยงกล่าว

          นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) กล่าวว่า แบงก์ของรัฐ ซึ่งรวมถึงธนาคารกรุงไทย ได้มีการหารือร่วมกันในระดับผู้บริหารสูงสุดด้านการเงิน เพื่อกำหนดท่าทีว่าจะยังไม่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยกันในขณะนี้ เนื่องจากต้องรอดูบรรยากาศการแข่งขันในตลาดก่อน

          ขณะที่นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า ธนาคารออมสินยังไม่ปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ในขณะนี้ ซึ่งการปรับดอกเบี้ยก็จะรอทำพร้อมคู่แข่ง

          อย่างไรก็ตาม แบงก์สามารถบริหารจัดการอัตราดอกเบี้ย โดยให้มีการบวกหรือลบจากดอกเบี้ย MOR หรือ MLR แม้อัตราดอกเบี้ยนโยบายไม่ได้ปรับลด ก็สามารถปรับในส่วนนี้ได้อยู่แล้ว

          แบงก์พาณิชย์รอประเมินข้อมูล

          นายปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ในฐานะประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า การพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ย อยู่ระหว่างพิจารณาหารือกัน ซึ่งภาพรวมแบงก์พาณิชย์ เข้าใจว่ากำลังพิจารณากันอยู่ว่าควรจะตัดสินใจอย่างไร

          "ถ้าหากจำได้ปีที่แล้วที่ กนง.ปรับขึ้นดอกเบี้ย แต่แบงก์ก็ไม่ได้ปรับขึ้นตาม แต่ก็ไม่ได้แปลว่าครั้งนี้จะมีแบงก์ไหนปรับลดหรือไม่ลด เพราะเรื่องนี้ต้องพิจารณาตัวเลขให้ชัดเจน การคาดการณ์ก่อนประชุมก็ไม่คิดว่าจะลดดอกเบี้ยนโยบายลง ฉะนั้นแบงก์พาณิชย์คงต้องดูผลที่ลดจะเป็นอย่างไร"

          นายปรีดีกล่าวอีกว่า ช่วงนี้สิ่งที่รอมากที่สุดคือ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากทางภาครัฐว่าจะมีมาตรการต่าง ๆ ออกมาเมื่อไหร่

          เทรดวอร์กระทบจ้างงาน-ลงทุน

          นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวว่า การตัดสินใจลดดอกเบี้ยของ กนง.รอบที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งมาจากการเห็นพัฒนาการของเศรษฐกิจที่ต่างไปจากกรอบที่เคยประมาณการไว้ เนื่องจากทั้งสภาวะเศรษฐกิจโลกที่ได้รับผลกระทบจากบรรยากาศการกีดกันทางการค้าที่ตึงเครียดมากขึ้น จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ กนง.ตัดสินใจลดดอกเบี้ยนโยบายลง หลังจากเห็นผลกระทบ ทั้งต่อราคาพลังงานซึ่งส่งผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อของประเทศไทย ทำให้เงินเฟ้อปี 2562 ต่ำกว่ากรอบเป้าหมาย และเริ่มเห็นผลกระทบในภาคการส่งออกจากบรรยากาศของการกีดกันทางการค้ารุนแรงมากขึ้น ซึ่งได้ส่งผลต่อเนื่องมาสู่การจ้างงาน การบริโภค และการลงทุนภายในประเทศ

          ส่วนการส่งผ่านนโยบายดอกเบี้ยจะเห็นความชัดเจนเมื่อใด นายวิรไทกล่าวว่า จะต้องมีการประสานเครื่องมือหรือนโยบายต่าง ๆ ทั้งนโยบายการเงิน นโยบายดอกเบี้ย และนโยบายกำกับดูแลสถาบันการเงินเพื่อกำกับดูแล

          เล็งแบงก์ใหญ่ลดดอกออมทรัพย์

          นายนริศ สถาผลเดชา ผู้บริหารศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี (TMB Analytics) กล่าวว่า รอบนี้ถ้าไม่มีการขอความร่วมมือจากแบงก์ การลดดอกเบี้ยเงินกู้คงเกิดขึ้นลำบาก ซึ่งตนเชื่อว่าจะมีการขอความร่วมมือเกิดขึ้นเหมือนที่เคยเกิดขึ้นในอดีต เพราะถ้าแบงก์ไม่ลดดอกเบี้ย ก็จะไม่ค่อยเกิดประโยชน์กับระบบเศรษฐกิจเท่าใดนัก อย่างไรก็ดี การลดดอกเบี้ยเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ก็คงต้องเกิดขึ้นเร็ว

          "ถ้าระบบธนาคารพาณิชย์ไม่ตอบสนอง การส่งผ่านนโยบายการเงินก็จะไปได้ทางเดียวคือ ทางตลาดพันธบัตร (บอนด์) ที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรจะลดลง แต่ตรงนี้ไม่ได้เกิดผลกับระบบเศรษฐกิจภาพรวม ซึ่งตอนนี้บอนด์ยีลด์ที่ลดลงไปมาก เกิดจากมีการตุนซื้อบอนด์ไว้ก่อนที่มาตรการเก็บภาษีจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 20 ส.ค.นี้"

          นายนริศกล่าวอีกว่า มีโอกาสเป็นไปได้มาก ว่าหากแบงก์ต้องลดดอกเบี้ยเงินกู้ ก็อาจจะพิจารณาลดดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ลงจากปัจจุบันอยู่ที่ 0.5% ด้วย เพื่อให้ต้นทุนลดลง เนื่องจากสัดส่วนเงินฝากออมทรัพย์แต่ละแบงก์มีมาก บางแห่ง 60-70% ของเงินฝากทั้งหมด โดย ณ สิ้นเดือน มิ.ย. 2562 เงินฝากรายย่อยทั้งระบบอยู่ที่ 7.28 ล้านล้านบาท เป็นออมทรัพย์ 3.34 ล้านล้านบาท

          "ถ้าแบงก์จ่ายดอกเบี้ยออมทรัพย์น้อยลง ก็ประหยัดต้นทุนดอกเบี้ยได้เยอะมาก ทั้งระบบก็กว่า 6.4 หมื่นล้านบาทได้ ซึ่งตอนนี้พวกแบงก์ใหญ่ ๆ อาจจะกำลังพิจารณาตรงนี้อยู่ แต่ถ้าจะลดดอกเบี้ยออมทรัพย์ ก็ต้องให้อะไรคืนประชาชนด้วย เช่น ลดค่าธรรมเนียมธุรกรรม เป็นต้น" นายนริศกล่าว