รัฐอัดงบ อีอีซี 1.7หมื่นล้าน
Loading

รัฐอัดงบ อีอีซี 1.7หมื่นล้าน

วันที่ : 23 กันยายน 2562
รัฐบาลตั้งงบปี 2563 กว่า 1.7 หมื่นล้าน ขับเคลื่อนอีอีซี "กอบศักดิ์" เผยตอบโจทย์การพัฒนาแผนชาติ พัฒนาเชิงพื้นที่ วางตัวชี้วัดทั้งการเพิ่มขึ้นของนักลงทุน การขยายตัวเศรษฐกิจ รายได้ประชากรเพิ่มสิ่งแวดล้อมได้รับการดูแล กรมทางหลวงรับมากที่สุด 9 พันล้านบาท
         "ทางหลวง"รับมากสุด 9 พันล้านบาท

          การบูรณาการงบนโยบายพัฒนาเชิงพื้นที่ ต้องดูทั้งของส่วนกลางและความต้องการในพื้นที่

          รัฐบาลตั้งงบปี 2563 กว่า 1.7 หมื่นล้าน ขับเคลื่อนอีอีซี "กอบศักดิ์" เผยตอบโจทย์การพัฒนาแผนชาติ พัฒนาเชิงพื้นที่ วางตัวชี้วัดทั้งการเพิ่มขึ้นของนักลงทุน การขยายตัวเศรษฐกิจ รายได้ประชากรเพิ่มสิ่งแวดล้อมได้รับการดูแล กรมทางหลวงรับมากที่สุด 9 พันล้านบาท

          นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง เปิดเผยว่า การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการจัดทำ งบประมาณแบบบูรณาการเชิงยุทธศาสตร์ เพื่อตอบสนองต่อนโยบาย ภารกิจและความเร่งด่วนที่มีความสำคัญ รวมทั้งเพื่อ ผลักดันนโยบายของรัฐบาลและการตอบสนอง ต่อความต้องการของประชาชน โดยการจัดสรรงบประมาณจะต้องตอบโจทย์ การพัฒนาเชิงพื้นที่ด้วย

          สำหรับการบูรณาการงบประมาณในพื้นที่ เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่มีการจัดสรรงบประมาณในปี 2563 วงเงินประมาณ 17,000 หมื่นล้านบาท ได้ให้ ความสำคัญกับโครงการด้านการคมนาคมขนส่ง ซึ่งจะต้องมีการลงทุนปรับปรุง เส้นทางคมนาคมด้านต่างๆ

          ทั้งนี้ จะมีโครงการขนาดใหญ่ที่เริ่มดำเนินการภายในปีนี้ เช่น โครงการรถไฟความเร็วสูง เชื่อม 3 สนามบิน (สุวรรณภูมิดอนเมือง-อู่ตะเภา) และโครงการอื่น ที่วางแผนให้สอดคล้องกับการขยายตัวของเมือง รวมทั้งการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมายตามแผนที่คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) วางโรดแมพไว้

          ขณะเดียวกันก็คำนึงถึงการพัฒนาพื้นที่ที่สอดคล้องกับความต้องการของคนในชุมชน เช่น การจัดการแหล่งน้ำ และสภาพแวดล้อมให้พัฒนาไปควบคู่กันทั้งอุตสาหกรรมและระบบนิเวศ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด

          เชื่อมยุทธศาสตร์ชาติ20ปี

          นายกอบศักดิ์ กล่าวว่า การบูรณาการโครงการตามงบประมาณจำเป็นต้องนำแผนทั้งระดับชาติและพื้นที่มาประยุกต์เข้าด้วยกัน โดยนอกจากแผนยุทธศาสตร์ 20 ปี ยังมีแผนลักษณะการบูรณาการที่มาจากทิศทางการพัฒนาภาคของประเทศ ซึ่งก่อนหน้านี้ ได้มีการวางแผนการพัฒนาโดยคำนึงถึงศักยภาพของแต่ละภาค

          รวมทั้งในภาคตะวันออกที่เป็นที่ตั้งของโครงการอีอีซี มีการกำหนดไว้ในแผน การพัฒนาระดับภาคว่าจะต้องพัฒนาพื้นที่ให้เป็นฐานเศรษฐกิจชั้นนำของอาเซียน โดยรักษาฐานเศรษฐกิจเดิมที่มีอยู่ให้ เติบโตอย่างยั่งยืน และสร้างฐานเศรษฐกิจใหม่เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ให้ประเทศเติบโตอย่างมีเสถียรภาพ

          โดยมีทิศทางในการพัฒนาให้เป็น ฐานเศรษฐกิจชั้นนำของประเทศ เป็นเขต พัฒนาพิเศษที่ทันสมัยที่สุดในอาเซียน เป็นแหล่งผลิตอาหารที่มีคุณภาพตามมาตรฐานสากล รวมทั้งเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับมาตรฐานระดับโลก ซึ่งทั้งหมดนี้ต้องแก้ปัญหามลพิษและลดผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ

          ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้มีการปรับปรุงองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการพิจารณาการจัดทำงบประมาณในลักษณะบูรณาการเชิงยุทธศาสตร์ เพื่อให้การบริหารงบประมาณภายใต้แผนบูรณาการ 24 แผนงาน แต่ละกระทรวงมาใช้ร่วมกันเพื่อไม่ให้ซ้ำซ้อน

          "สมคิด"ดูแลงบอีอีซี

          รวมทั้งได้มีการมอบหมายภารกิจหน้าที่ในการบูรณาการแผนงานใช้งบประมาณ ในด้านต่างๆ ให้รองนายกรัฐมนตรีแต่ละคน ไปกำกับดูแล โดยในพื้นที่อีอีซี นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีเป็น รองนายกรัฐมนตรีที่กำกับดูแล เช่นเดียวกับ เรื่องเศรษฐกิจที่มีความเกี่ยวข้อง ได้แก่ การวิจัยและนวัตกรรม การพัฒนาอุตสาหกรรมศักยภาพ การพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ การขับเคลื่อนเขตพัฒนาพิเศษภาค ตะวันออก การพัฒนาผู้ประกอบการเศรษฐกิจชุมชน และวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม

          "การบูรณาการงบประมาณ เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบาย และการพัฒนาเชิงพื้นที่ ซึ่งต้องดูทั้งโครงการที่เป็นนโยบายของส่วนกลาง กับความต้องการของประชาชนในพื้นที่เพื่อให้เกิดการพัฒนาไปในทิศทางที่สอดคล้องกัน"

          สำหรับตัวชี้วัดความสำเร็จในการ บูรณาการพัฒนาพื้นที่ภาคตะวันออก ได้แก่ สัดส่วนคนจนภาคตะวันออกลดลง การ กระจายรายได้ มูลค่าการลงทุนภาครัฐและเอกชนในพื้นที่ เศรษฐกิจพิเศษชายแดน จำนวน เมืองศูนย์กลางของจังหวัดที่ได้รับการพัฒนาเป็นเมืองน่าอยู่ จำนวนเมืองศูนย์กลางของจังหวัดที่ได้รับการพัฒนาเป็นเมืองน่าอยู่

          สกพอ.ได้รับงบเพิ่มเท่าตัว

          รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลระบุว่า แผนงานบูรณาการอีอีซีปี 2563 มีวงเงินรวมทุกหน่วยงาน 17,000 ล้านบาท กระจายไปในหน่วยงานต่างๆ โดยกรมทางหลวงได้รับการ จัดสรรมากที่สุด 9,926 ล้านบาท รองลงมาเป็น กรมทางหลวงชนบท 1,184 ล้านบาท สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) 1,251 ล้านบาท กองทัพเรือ 799 ล้านบาท สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) 752 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วที่ได้รับงบ 347 ล้านบาท

          ส่วนที่เหลือกระจายไปในหน่วยงานต่างๆ เช่น สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) กรมโยธาธิการและผังเมือง กรมพัฒนา ฝีมือแรงงาน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษา ขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) กรมวิทยาศาสตร์บริการ

          สำหรับการจัดสรรงบประมาณครั้งนี้ได้เพิ่มงบตามแผนบูรณาการอีอีซีให้กับหลายหน่วยงานเป็นครั้งแรก เพื่อให้มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนอีอีซี ซึ่งจะมีการขับเคลื่อน การพัฒนาในหลายมิติเพิ่มมากขึ้น โดย หน่วยงานที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณ อีอีซีครั้งแรก เช่น กรมการจัดหางาน

          3มหาวิทยาลัยรับงบครั้งแรก

          รวมทั้งการจัดงบประมาณให้สถาบันอุดมศึกษาที่ตั้งในอีอีซี 3 แห่ง เริ่มได้รับ งบประมาณตามแผนบูรณาการอีอีซีเป็น ครั้งแรกด้วย เพื่อให้มหาวิทยาลัยมีส่วนร่วม ในการพัฒนาอีอีซี โดยมหาวิทยาบูรพาได้รับ งบประมาณรวม 1,801 ล้านบาท ในจำนวนนี้ เป็นงบประมาณอีอีซี 46.3 ล้านบาท มหาวิทยาลัย เทคโนโลยีราชมงคลภาคตะวันออก ได้รับงบประมาณรวม 629 ล้านบาท ในจำนวนนี้ เป็นงบประมาณอีอีซี 68.5 ล้านบาท และมหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ ได้รับงบประมาณรวม 451 ล้านบาท ในจำนวนนี้ เป็นงบประมาณอีอีซี 21 ล้านบาท

          ในขณะที่มหาวิทยาลัยที่มีวิทยาเขตตั้งอยู่ ในอีอีซีได้รับงบตามแผนบูรณาการอีอีซีด้วย เช่น มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 50 ล้านบาท

          ส่วนงบประมาณกลุ่มจังหวัด ภาคตะวันออก 1 ที่ครอบคลุมอีอีซีได้รับ งบประมาณรวม 539 ล้านบาท โดยจ.ชลบุรีได้รับมากที่สุด 432 ล้านบาท รองลงนามเป็นจ.ระยอง 344.9 ล้านบาท และจ.ฉะเชิงเทรา 259.9 ล้านบาท

 
ข่าวเขตเศรษฐกิจพิเศษ อื่นๆ