รายงาน: กระตุ้นอสังหาฯรับศก.ถดถอยลดค่าธรรมเนียมโอน-จดจำนอง
Loading

รายงาน: กระตุ้นอสังหาฯรับศก.ถดถอยลดค่าธรรมเนียมโอน-จดจำนอง

วันที่ : 4 พฤศจิกายน 2562
ภาวะเศรษฐกิจเดือน ก.ค.-ก.ย.ที่ผ่านมาพบว่าภาคการส่งออก การท่องเที่ยวและการเบิกจ่ายภาครัฐมีทิศทางที่ดีขึ้น แต่การบริโภคภาคเอกชนชะลอตัวลง โดยเฉพาะการซื้อสินค้าคงทนที่ชะลอตัวลงมากอย่างมีนัยสำคัญเช่นรถยนต์ซึ่งทำให้เศรษฐกิจไตรมาสที่ 3 มีสัญญาณแผ่วลง
            ภาวะเศรษฐกิจเดือน ก.ค.-ก.ย.ที่ผ่านมาพบว่าภาคการส่งออก การท่องเที่ยวและการเบิกจ่ายภาครัฐมีทิศทางที่ดีขึ้น แต่การบริโภคภาคเอกชนชะลอตัวลง โดยเฉพาะการซื้อสินค้าคงทนที่ชะลอตัวลงมากอย่างมีนัยสำคัญเช่นรถยนต์ซึ่งทำให้เศรษฐกิจไตรมาสที่ 3 มีสัญญาณแผ่วลง
            ทั้งนี้สอดคล้องกับข้อมูลเศรษฐกิจหลายประเทศที่เศรษฐกิจในช่วงไตรมาสที่ 3 จะขยายตัวลดลงจากไตรมาสที่1 และไตรมาสที่ 2 เช่น สหรัฐฯเศรษฐกิจไตรมาส 3 ขยายตัวได้ 2% จากที่ขยายตัวได้ 2.7% และ2.3% ในไตรมาสที่1 และ 2 ขณะที่เศรษฐกิจของจีนก็ขยายตัวได้ 6% จากที่ขยายตัวได้ 6.4%และ 6.2% ในไตรมาสที่ 1 และ 2 ที่ผ่านมาขณะที่ธุรกิจที่อยู่อาศัยในช่วง 9 เดือนแรกปี 2562 เผชิญปัจจัยลบกระหน่ำรอบด้านจากภายนอกและภายในประเทศ ปีนี้ทั้งปีภาคธุรกิจอสังหาฯไม่สดใส โดยตลาดเขตกรุงเทพฯ-ปริมณฑลซึ่งเป็นตลาดใหญ่ยังเผชิญกับภาวะถดถอยรุนแรง ทั้งๆที่เป็นตลาดของผู้ประกอบการรายใหญ่ และตลาดอสังหาฯในต่างจังหวัดก็มีสภาพไม่แตกต่างกันโดยเฉพาะทุนท้องถิ่นแข่งขันกันเองก็เหนื่อยอยู่แล้ว ยังต้องเจอภาวะการแข่งขันสูงเพราะบิ๊กแบรนด์ถูกกดดันจากตลาดเมืองหลวง มีหลายค่ายย้ายการลงทุนออกไปภูมิภาคมากขึ้น
            ที่ผ่านมามีหลายปัจจัยส่งผลกระทบต่อการดำเนินงาน ทั้งปัจจัยภายในประเทศที่ ธปท.ออกมาตรการแอลทีวี รวมถึงสงครามการค้า และอัตราค่าเงินบาทที่แข็งค่า ส่งผลให้ชาวจีนที่เข้ามาซื้อที่อยู่อาศัยในประเทศเกิดการทิ้งเงินดาวน์หรือบางส่วนยืดระยะเวลาดาวน์ออกไปทำให้ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.)มีสินค้าค้างอยู่ในสต๊อกเพิ่มขึ้น ช่วงที่เหลือของปีนี้ ผู้ประกอบการต้องปรับตัวและวางแผนธุรกิจให้รัดกุมมากขึ้น
            โดยต่างชาติมาซื้อห้องชุดในไทยลดลงโดยเฉพาะจีน ในช่วงครึ่งแรกของปี 2562 มีห้องชุดขายได้แล้วประมาณ26,680 หน่วย ต่างชาติซื้อ 3,659 หน่วยหรือประมาณ 14% ของหน่วยขายทั้งหมด ในแง่มูลค่าพบว่าในช่วงครึ่งแรกของปี 2562 มีห้องชุดขายได้แล้วประมาณ 93,648 ล้านบาท โดยต่างชาติซื้อ17,783 ล้านบาท หรือประมาณ 19%ของมูลค่าของหน่วยขายทั้งหมด แต่เดิมต่างชาติมีการซื้อมากกว่านี้
            จากประเด็นข้างต้น คณะรัฐมนตรี(ครม.) ได้เห็นชอบมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ เพื่อลดภาระให้แก่ประชาชนด้วยการลดค่าธรรมเนียมจดทะเบียนการโอนจากเดิม 2% เหลือ 0.01%และลดค่าจดทะเบียนจดจำนองอสังหาริมทรัพย์จากเดิม 1% เหลือ 0.01%สำหรับการซื้อขายที่อยู่อาศัยที่ดินพร้อม
อาคารหรือห้องชุด ราคาไม่เกิน 3 ล้านบาทต่อหน่วย โดยการจดทะเบียนการโอนและการจดจำนองอสังหาริมทรัพย์ต้องเป็นที่อยู่อาศัยทำนิติกรรมในคราวเดียวกัน ทั้งนี้ประกาศกระทรวงมหาดไทยในราชกิจจานุเบกษามีผลบังคับใช้แล้วเริ่มตั้งแต่ 2 พฤศจิกายน 2562 ต่อเนื่องถึงวันที่ 24 ธันวาคม 2563
            นายชาญกฤช เดชวิทักษ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี (ปฏิบัติงานกระทรวงการคลัง) กล่าวว่าได้หารือกับผู้บริหารธนาคารอาคารสงเคราะห์ ผู้บริหารสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย,สมาคมอาคารชุดไทย, สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร และผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ทั้งขนาดเล็ก กลาง ขนาดใหญ่เพื่อผลักดันให้มาตรการอสังหาริมทรัพย์ฯและช่วยระบายสต๊อกคงค้างของผู้ประกอบการไม่ให้ทรุดตัวลงไปมากกว่าปัจจุบัน
            โดยกระทรวงการคลังเตรียมร่วมกับผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ฯเตรียมจัดแคมเปญใหญ่โค้งสุดท้ายปลายปี เพื่อให้ผู้ประกอบการจัดโปรโมชั่นใหญ่ลด แลก แจกแถมผ่านโครงการของรัฐร่วมกันในช่วงเดียวกัน หวังระบายบ้านค้างสต๊อก 35,000 ยูนิต การออกมาตรการครั้งนี้คาดว่า ภาคอสังหาฯในช่วงไตรมาส 4 จะไม่ทรุดตัวมากตามที่คาดการณ์ไว้ ซึ่งคาดการณ์ว่า ภาคอสังหาฯยังขยายตัวได้ร้อยละ 5-7 ในปี 2562 เพราะกลุ่มบ้านราคาไม่เกิน 3 ล้านบาทมีสัดส่วนในตลาดถึงร้อยละ 60 ของอสังหาฯทั้งระบบ
            นายพรนริศ ชวนไชยสิทธิ์ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทยกล่าวว่าภาคเอกชนได้ร่วมกันจัดแคมเปญใหญ่บวกกับมาตรการกระตุ้นอสังหาฯของรัฐเพื่อช่วยเหลือครั้งนี้จะส่งผลต่ออุตสาหกรรมหลายด้านทั้งเฟอร์นิเจอร์ ภาคก่อสร้าง การตกแต่งภายใน และอีกหลายสาขา ทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจดีขึ้น คาดว่ายอดยอดอสังหาฯจากปีก่อน 196,000 ยูนิตจากมาตรการรัฐส่งเสริม 35,000 ยูนิต จากคาดการณ์เดิม 175,000 ยูนิตจะทำให้มียอดขายประมาณ 210,000 ยูนิต ใกล้เคียงกับปีก่อน
            นางอาภา อรรถบูรณ์วงศ์ สมาคมอาคารชุดไทย กล่าวว่า ยอมรับว่าที่อยู่อาศัยคอนโดมิเนียมชะลอตัวร้อยละ 20 บ้านจัดสรรลดลงเล็กน้อย เมื่อมีมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาฯออกมาจะช่วยพยุงให้กลุ่มอสังหาฯไม่ทรุดตัวไปมากตามที่กังวล และการซื้อบ้านจะไม่เหมือนกับการซื้อสินค้าทั่วไป เพราะกว่าจะโอนได้ต้องอีกหลายขั้นตอน ยอดการโอนบ้านจากการซื้อขายในช่วงปลายปี จะไปทำนิติกรรมได้ในเดือน ม.ค.นับเป็นผลบวกทางจิตวิทยาให้ภาคอสังหาฯดีขึ้น
            ทั้งนี้หากย้อนไปในอดีตเมื่อปี 2540 ฟองสบู่อสังหาฯ แตกสร้างความเจ็บปวดเสียหายให้กับธุรกิจจากการซื้อกักตุนเก็งกำไร จนเกิดโอเวอร์ซัพพลายจากโครงการอสังหาฯเปิดตัวขึ้นมามากมายจนล้นตลาด และคล้ายๆ ปัจจุบัน โดยเฉพาะคอนโดฯห้องชุดที่เปิดมาเป็นจำนวนมาก
            แต่วันนี้โอกาสที่เกิดวิกฤติอสังหาฯซ้ำรอยปี 2540 คงไม่เกิดขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการอสังหาฯมีประสบการณ์จากวิกฤติต้มยำกุ้งมาก่อนจึงระมัดระวังตัวในการดำเนินธุรกิจค่อนข้างมาก สังเกต ได้จาก 1.อัตราหนี้ต่อทุน อัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (Debt to Equity ratio : D/E) ต่ำมาก มีสัดส่วน1:1 เมื่อเทียบปี 2540 อยู่ที่ 8:1 แสดงให้เห็นว่า การก่อหนี้ของภาคเอกชนต่ำมาก2.อัตราดอกเบี้ย เงินกู้ต่ำกว่าอดีต
            3.ธนาคารมีระบบการปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการอสังหาฯที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น 4.ผู้บริโภคมีประสบการณ์ในการเลือกซื้อ อสังหาฯมากขึ้น 5.หน่วยงานที่ควบคุม กฎระเบียบคือ ธปท.มีระบบ
            การตรวจสอบที่เข้มงวดขึ้น 6. ผู้ประกอบการอสังหาฯมีฐานข้อมูลที่ถูกต้องแม่นยำสมบูรณ์ขึ้นในการคาดการณ์ เพื่อวางแผนในการพัฒนาโครงการอย่างมีประสิทธิภาพ แก้ปัญหาโอเวอร์ซัพพลายในแต่ละพื้นที่ เพื่อไม่ให้เกิดวิกฤติอสังหาฯเกิดขึ้นเหมือนในปี 2540
            โดยจาก 6 ข้อที่กล่าวมานั้นทำให้มั่นใจได้ว่า จะไม่เกิดวิกฤติอสังหาฯซ้ำรอยปี 2540 เพราะผู้ประกอบการสามารถที่จะบริหารจัดการซัพพลายให้สมดุลกับดีมานด์ที่ เกิดขึ้นในแต่ละพื้นที่ได้อย่างถูกต้องแม่นยำ โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายใหญ่ที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์คิดเป็น70% ของตลาดอสังหาฯ
            ขณะเดียวกันการเลือกจับตลาดที่มีความต้องการอยู่อาศัยจริงเช่น ทาวน์เฮาส์ ยังเป็นแนวทางที่ผู้ประกอบการจะหันมาทำตลาดมากขึ้น เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาโอเวอร์ซัพพลาย โดยเฉพาะคอนโดมิเนียมในเมืองที่ราคาปรับสูงขึ้นมากจนทำให้มีลูกค้ากลุ่มหนึ่งเริ่มเปรียบเทียบโปรดักท์ และหนีมาซื้อทาวน์เฮาส์มากขึ้นเพราะมองว่า ได้พื้นที่ใช้สอยที่คุ้มค่าใช้ประโยชน์ได้มากกว่า
 
ข่าวนโยบายการเงิน-การคลัง อื่นๆ