รถไฟขานรับไจก้าเร่งสมาร์ทซิตี้บางซื่อ
Loading

รถไฟขานรับไจก้าเร่งสมาร์ทซิตี้บางซื่อ

วันที่ : 28 พฤศจิกายน 2562
ร.ฟ.ท.เข็นประมูลรอบสอง โปรเจ็กต์มิกซ์ยูสแปลง A 32 ไร่ใกล้สถานีกลางบางซื่อ มูลค่า 1.1 หมื่นล้าน รื้อทีโออาร์ใหม่ ลดทุนจดทะเบียน เปิดทางต่างชาติเข้าร่วม ไม่บังคับลงทุนสมาร์ทซิตี้ หวังจูงใจเอกชน ด้านไจก้าเร่งไทยลงทุน ระบบโครงสร้างพื้นฐานย่านพหลโยธิน สร้างเมืองอัจฉริยะ 2,325 ไร่ มูลค่า 3.5 แสนล้าน

        ฟืนประมูลโซนA32ไร่กวักมือเรียกนักลงทุนต่างชาติ
        ร.ฟ.ท.เข็นประมูลรอบสอง โปรเจ็กต์มิกซ์ยูสแปลง A 32 ไร่ใกล้สถานีกลางบางซื่อ มูลค่า 1.1 หมื่นล้าน รื้อทีโออาร์ใหม่ ลดทุนจดทะเบียน เปิดทางต่างชาติเข้าร่วม ไม่บังคับลงทุนสมาร์ทซิตี้ หวังจูงใจเอกชน ด้านไจก้าเร่งไทยลงทุน ระบบโครงสร้างพื้นฐานย่านพหลโยธิน สร้างเมืองอัจฉริยะ 2,325 ไร่ มูลค่า 3.5 แสนล้าน
นายวรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า หลังจากไม่มีเอกชนสนใจยื่นซองประมูลพัฒนาเชิงพาณิชย์สถานีกลางบางซื่อแปลง A เนื้อที่ 32 ไร่ ที่ ร.ฟ.ท.จะให้ลงทุน รูปแบบ PPP net cost 30 ปี พัฒนาเป็นโครงการมิกซ์ยูส มูลค่า 11,721 ล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างรอสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) พิจารณาว่าโครงการจะเดินหน้าเปิดประมูลใหม่ภายใต้ พ.ร.บ.ร่วมทุนปี 2556 หรือ พ.ร.บ.ร่วมทุนปี 2562
        "ถ้าใช้แนวทาง พ.ร.บ.ร่วมทุนใหม่ การรถไฟฯสามารถเดินหน้าได้เลย โดยเสนอให้คณะกรรมการหรือบอร์ดพิจารณาเท่านั้น แต่ถ้าใช้แนว พ.ร.บ.ร่วมทุน ปี 2556 จะต้องกลับไปที่บอร์ด PPP ใหม่ และมีขั้นตอนซึ่งใช้เวลานาน รวมถึงต้อง ผ่านการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีด้วยเพราะเป็นโครงการเกิน 1,000 ล้านบาท"
นายวรวุฒิกล่าวอีกว่า การที่ไม่มีเอกชนสนใจยื่นประมูล อาจจะเป็นเพราะที่ดินอยู่ในทำเลที่แวดล้อมด้วยสถานที่ราชการ ไม่ได้อยู่ใกล้แหล่งชุมชนมากนัก และอาจจะยังไม่มั่นใจเรื่องปริมาณ ผู้โดยสารที่มาใช้บริการในสถานีกลางบางซื่อด้วย ทางคณะกรรมการคัดเลือก อาจจะต้องปรับหลักเกณฑ์ใหม่ให้เป็นการจูงใจมากขึ้น
        แหล่งข่าวจาก ร.ฟ.ท.กล่าวเพิ่มเติมว่า หลังได้แนวทางการดำเนินงานที่ชัดเจนแล้ว คาดว่าจะเปิดประมูลใหม่ภายในต้นปี 2563 โดยการประมูลรอบใหม่นี้ จะปรับเงื่อนไขในทีโออาร์ให้ยืดหยุ่นและจูงใจเอกชนมากขึ้น เช่น ลดทุน จดทะเบียน เปิดให้ต่างชาติเข้ามาร่วมได้มากขึ้น ไม่บังคับให้ลงทุนเรื่องสมาร์ท ซิตี้ หลังเอกชนมองว่าจะทำให้ต้นทุนโครงการเพิ่ม ส่วนระยะเวลาสัมปทานจะเท่าเดิม คือ 30 ปี ก่อสร้าง 4 ปี และสามารถต่อสัญญาได้อีก
        สำหรับที่ดินแปลง A อยู่ห่างสถานีกลางบางซื่อประมาณ 50-100 เมตร ซึ่งคณะกรรมการ PPP เห็นชอบในหลักการของโครงการให้เอกชนเป็นผู้ลงทุนทั้งหมด ภายใต้รูปแบบ BOT คือ สร้าง บริหาร และโอนกรรมสิทธิ์ให้ ร.ฟ.ท.เมื่อครบกำหนดสัญญา
        ตามผลศึกษาจะพัฒนาเป็นศูนย์กลางธุรกิจครบวงจร มีสำนักงานและธุรกิจบริการ เช่น โรงแรม สำนักงานให้เช่า และดีพาร์ตเมนต์สโตร์คาดว่าจะได้ผลตอบแทน  2,000 ล้านบาท โดยเอกชนที่ชนะประมูลจะต้องจ่ายเงินก้อนแรกให้กับ ร.ฟ.ท.162 ล้านบาท จากนั้นจ่ายเป็นรายปี และมีปรับค่าเช่าเพิ่มขึ้นทุกปี
        นายวรวุฒิกล่าวถึงความคืบหน้าโครงการสมาร์ทซิตี้ย่านบางซื่อ พื้นที่ 2,325 ไร่ ล่าสุดทางองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (ไจก้า) ผู้ศึกษาโครงการได้รีวิวแผนการพัฒนาใหม่ โดยเสนอแนะให้เร่งลงทุนระบบโครงสร้างพื้นฐานอุปโภคและบริโภค เช่น ระบบไฟฟ้า ประปา การสื่อสาร ทางเดินเชื่อมระหว่างสถานีกลางบางซื่อ-บีทีเอสหมอชิต ให้แล้วเสร็จใน 3 ปี เพื่อรองรับการพัฒนาที่จะเกิดขึ้น ซึ่งการลงทุนจะเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงานมาก อาจจะมีขั้นตอนที่ต้องดำเนินการมากและไม่ง่ายจะให้แต่ละหน่วยมาลงทุน
        "ผลการศึกษากำหนดเป้าหมายจะพัฒนาพื้นที่สถานีบางซื่อให้เป็นศูนย์กลางสถานีที่ใหญ่ที่สุดของภูมิภาค มีเมืองใหม่ บริเวณพื้นที่สถานีขนส่งมวลชนและอาคารโดยรอบ นำนวัตกรรมที่ทันสมัยเข้ามามีบทบาท อาทิ การบริหารจัดการพลังงานอัจฉริยะ การเชื่อมต่อพื้นที่ระหว่างอาคารโดยสาร การใช้เทคโนโลยีขนส่งภายในโครงการ เป็นต้น"
        รูปแบบที่ไจก้าศึกษาจะเปิดให้เอกชนร่วมลงทุน PPP 30-50 ปี หรือรายบุคคลแบบเฉพาะเจาะจง ใน 15 ปีแรกใช้เงินลงทุน 358,700 ล้านบาท แบ่งพัฒนา 3 เฟส เฟสละ 5 ปี พัฒนา 9 โซน จากเดิม 4 โซน ระยะสั้นลงทุน 40,100 ล้านบาท ระยะกลาง 167,100 ล้านบาท และระยะยาว 151,500 ล้านบาท
แต่ละเฟสมีการลงทุน 5 ส่วน 1.เชิงพาณิชย์ เช่น ออฟฟิศ  ร้านค้า โรงแรม คอนโดมิเนียม ศูนย์ประชุม 2.สิ่งอำนวยความสะดวก เช่น ระบบสมาร์ทซิตี้ 3.โครงข่ายคมนาคม เช่น บีอาร์ที 4.โครงข่ายการพัฒนาเพื่อ สิ่งแวดล้อม เช่น สวนสาธารณะ ระบบกักเก็บน้ำ และ 5.โครงสร้างพื้นฐาน เช่น ถนน ไฟฟ้า ท่อระบายน้ำ        
        "5 ปีแรกเริ่มโซน A 32 ไร่ ติดสถานีกลางบางซื่อ รถไฟกำลังปรับทีโออาร์เปิดประมูลใหม่ จากนั้นเป็นโซน D บางส่วนจะพัฒนาเป็นทางเดินลอยฟ้าเชื่อมระหว่างบางซื่อกับหมอชิตเก่า และโซน D ย่านตึกแดง 119 ไร่ พัฒนาเป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์ มีศูนย์การค้า โรงแรม สำนักงาน รองรับสายสีแดงตลิ่งชัน-บางซื่อ-รังสิต เปิดต้นปี 2564"
        อีก 5 ปีถัดมาจะพัฒนาโซน B (จตุจักร) โซน G ย่าน กม.11 และโซน C ตรง บขส. เป็นที่อยู่อาศัย สำนักงาน ศูนย์แสดงสินค้า และการประชุม ขณะที่ 5 ปีสุดท้ายจะพัฒนาโซนที่เหลือ เช่น โซน D อยู่ติดโรงซ่อม
 

ข่าวพัฒนาสาธารณูปโภค อื่นๆ