ชี้อสังหาฯปี 63 คาดตลาด ทรงตัว
Loading

ชี้อสังหาฯปี 63 คาดตลาด ทรงตัว

วันที่ : 2 ธันวาคม 2562
ตลาดอสังหาริมทรัพย์ปี 2562 ใกล้จะปิดฉากลงแล้ว นับเป็นปีที่หนักหน่วงของผู้ประกอบการ นับตั้งแต่ยุคต้มยำกุ้ง เพราะปีนี้ตลาดอสังหาฯได้รีบผลกระทบรอบด้าน ภาวะเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจในประเทศชะลอตัว ทำให้กำลังซื้อลดลง หนี้ครัวเรือนยังสูง
          ตลาดอสังหาริมทรัพย์ปี 2562 ใกล้จะปิดฉากลงแล้ว นับเป็นปีที่หนักหน่วงของผู้ประกอบการ นับตั้งแต่ยุคต้มยำกุ้ง เพราะปีนี้ตลาดอสังหาฯได้รีบผลกระทบรอบด้าน ภาวะเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจในประเทศชะลอตัว ทำให้กำลังซื้อลดลง หนี้ครัวเรือนยังสูง รวมถึงนโยบายการควบคุมสินเชื่อที่อยู่อาศัย(LTV)ค่าเงินบาทแข็ง ยิ่งทำให้ภาคการส่งออกลดลง

          ขณะที่ งบประมาณในส่วนของโครงการขนาดใหญ่ของรัฐบาล ยังไม่ถูกส่งผ่านเข้าสู่ระบบ แต่ปี 2563 ที่กำลังจะเข้ามา หลายปัจจัยลบทั้งภายในและต่างประเทศที่น่าเป็นห่วงต่อการเติบโตของเศรษฐกิจของไทย ทั้งสงครามการค้า เงินบาทที่ยังแข็งค่า ตลอดจนนโยบาย LTV และมาตรการคุมภาระหนี้ต่อรายได้สูงสุด DSR(Debt Service Ratio)จะส่งผลกระทบเต็มๆ ทั้งหมดในปีหน้า

          วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์กล่าวถึงแนวโน้มตลาดอสังหาริมทรัพย์ปี 2563 ว่าจะขยายตัวต่อเนื่องจากปลายปีนี้ แต่ยังไม่มากนัก โดยจะขยายตัวไม่เกิน 5%

          ส่วนโครงการที่อยู่อาศัยใหม่จะมีการเปิดตัวอย่างต่อเนื่องจากช่วงปลายปีนี้ เพื่อรับมาตรการ ซึ่งคาดว่าจะมีจำนวนใกล้เคียงกับปีนี้ 113,000-125,000 ล้านบาทแยกเป็นบ้านจัดสรร 48,000 ยูนิต และคอนโดมิเนียม 65,000 ยูนิต ส่วนยอดโอนรวมราว 367,000 ยูนิต มูลค่า 550,800 ล้านบาท

          ในปีหน้ามีปัจจัยบวกจากมาตรการรัฐ ทำให้สต็อกลดลงประกอบอัตราดอกเบี้ยขาลง แต่ยังต้องระมัดระวังปัจจัยเกี่ยวกับมาตรการคุมภาระหนี้ต่อรายได้สูงสุด(DSR)ซึ่งจะส่งผลต่อการปล่อยสินเชื่อของธนาคารเริ่มลดลง ส่งผลต่อภาพรวมของตลาดทำให้ติดลบ ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการต้องให้ความสำคัญกับการบริหาร Inventory และ Stock เพื่อไม่ให้ยูนิตเหลือขายคงค้างมากเกินไป

          "ปี 2562 ที่ผ่านมา ตลาดถดถอยกลับไปอยู่ในรอบ 5 ปี หรือกลับไปอยู่บนสถิติของปี 2557 ซึ่งมอว่าไม่น่าจะต่ำไปกว่านี้แล้ว เพราะฉะนั้น เทรนด์ปี 63 อย่างน้อยๆ ตลาดก็น่าจะทรงตัว หรือเป็นบวกขึ้นมาได้ 5% บวกลบเทียบกับปีนี้"

           ด้าน อธิป พีชานนท์ ประธานคณะกรรมการสมาคมการค้ากลุ่มอสังหาริมทรัพย์ออกแบบและก่อสร้าง สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ระบุว่า ภาพรวมตลาดอสังหาฯในปี 2563 ยังคงทรงตัว โดยสถาบันการเงินยังคงเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย เห็นได้จากยอดการปฏิเสธสินเชื่อ(รีเจกต์เรต)ในระบบยังสูงกว่า 40% ซึ่งต่างจากช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ตัวเลขปฏิเสธสินเชื่ออยู่ที่ 20% ซึ่งในด้านของผู้ประกอบการก็ต้องบริหารการขาย

          อย่างไรก็ดี ในปี 2563 ยังมีคงมีหลายปัจจัยที่สนับสนุนและมีปัจจัยที่ต้องเฝ้าติดตาม โดยปัจจัยบวกได้แก่ 1.ดอกเบี้ยของสินเชื่อซื้อบ้านยังคงอัตราไม่สูง ทำให้ผู้กู้จะมีโอกาสได้รับอนุมัติสินเชื่อ 2.กำลังซื้อผู้บริโภคภายในประเทศยังคงดีอยู่ 3.อีซีซี เปิดโอกาสให้ความต้องการอสังหาฯ ในไทยสูงขึ้นทั้งอาคารสำนักงาน เซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ นิคมอุตสหากรรมโรงแรม คอนโดฯ และอื่นๆ ซึ่งยังมีนักลงทุนเข้ามา ไม่ว่าจะเป็น จีน ฮ่องกง มาเลเซีย แต่ผู้ประกอบการต้องรู้จักสำรวจตลาดให้ดี เพราะแหล่งงานยังไม่เกิด 4.ราคาน้ำมันยังไม่ปรับขึ้น

          อสังหาฯเพื่อการลงทุนยังโต

          ชนินทร์ วานิชวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ฮาบิแทท กรุ๊ป จำกัด ผู้พัฒนาอสังหาฯเพื่อการลงทุนกล่าวถึงภาพรวมตลาดอสังหาฯปี 2563 มองว่าน่าจะทรงตัว โดยโครงการเปิดขายออกสู่ตลาดจะเป็นโครงการ ที่มีการคัดกรองมาอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทำเล โปรดักท์ ราคาที่มีความเหมาะสม ซึ่งอสังหาฯประเภทการอยู่อาศัยขึ้นอยู่กับแต่ละทำเล ทำเลที่ดี ในราคาที่เหมาะสมยังเติบโตได้อยู่ บางทำเลมีการชะลอตัวบ้าง จากซัพพลายที่เหลืออยู่จำนวนมาก จะยังคงชะลอตัวต่อไป

          ส่วนเซ็กเมนต์ตลาดอสังหาฯ ออกแบบมาเพื่อการลงทุน เชื่อว่ายังมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง เพราะอย่างไรก็ตามคนที่มีเงิน ไม่ว่าจะป็นคนไทยหรือต่างประเทศ ยังมีความต้องการลงทุนในเมืองไทยอยู่ ถ้าหากมีการนำเสนอโปรดักท์ที่ตอบโจทย์ เชื่อว่าเซ็กเมนท์นี้ยังมีการเติบโตได้อยู่

          เลือกโปรดักท์พรีเมี่ยมดีและโดนใจ

          สงกรานต์ อิสสระ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการ บริษัท ชาญอิสระ ดีเวล็อปเมนท์ จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า สิ่งที่กังวลในการดำเนินธุรกิจปีหน้าคือ การแข็งค่าของเงินบาท ที่จะส่งผลกระทบต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลัก คือ ภาคการส่งออกเป็นแรงขับเคลื่อนหลักเกิดปัญหา และมีผลกับภาคการท่องเที่ยว

          ส่วนเรื่องการเมืองอาจมีผลไม่มากแต่ก็มีปัญหา เพราะหลังเลือกตั้งเข้ามายังไม่สร้างสรรค์พัฒนาสิ่งที่จะสู้กับประเทศอื่นได้ จึงเป็นความเสี่ยงสำหรับปีหน้า

          "เมื่อก่อนไทยเราส่งออกกุ้งอันดับ 1 ของโลก ปัจจุบันลงไปอยู่อันดับ 10 จากค่าเงินบาทแข็ง ท่องเที่ยวเองก็ได้รับผลกระทบ เพราะการเข้ามาเที่ยวไทยแพงขึ้น นักท่องเที่ยวอาจเลือกที่อื่นแทน"

          ดังนั้น ในปีหน้าต้องระมัดระวังเรื่องสภาพคล่องทางการเงินของแต่ละบริษัท เพื่อรองรับความเสี่ยง เช่น การขายไม่ได้ หรือภาวะการขาดทุน และให้เตรียมความพร้อมเรื่องกลยุทธ์ไว้ เพราะเมื่อตลาดกลับมาฟื้นตัวจะเป็นโอกาส

          "ปีหน้า การเลือกเปิดโครงการ ต้องเลือกโปรดักท์พรีเมียม ดีและโดนใจ ไม่ใช่ราคาพรีเมียม แต่อย่างอื่นไม่ดี สำคัญที่ทำเล เพื่อให้การขายไปได้เร็ว ต้องเลี่ยงตลาดกลาง ล่าง ที่ขายยาก ขายช้า กลยุทธ์ของเราในกรุงเทพฯ ต้องไพร์มโลเกชั่นเท่านั้น"
 
ข่าว reic จากสื่อสิ่งพิมพ์ อื่นๆ