ลุ้นเปิดครบลูป สายน้ำเงิน หนุนคอนโดฯ
Loading

ลุ้นเปิดครบลูป สายน้ำเงิน หนุนคอนโดฯ

วันที่ : 23 ธันวาคม 2562
รัฐบาลได้ผลักดันการลงทุนและพัฒนาโครงข่ายระบบราง อย่างเต็มที่ ซึ่งในข้อมูลของกรมการขนส่งทางราง กระทรวงคมนาคม ระบุว่าแผน แม่บทในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล M-MAP+เพิ่มเติม : 2553-2572 มี 14 เส้นทาง รวม 557.56 กิโลเมตร (กม.) กำหนดในปี 2562 จะเปิดให้บริการระยะทางรวม 141.8 กม.
          อสังหาฯตุนที่เส้นจรัญฯผุดโครงการ

          'เจริญกฤษ'ผุดโคเวิร์กกิ้งสเปซรับลาดพร้าวบูม

          อสังหาริมทรัพย์

          รัฐบาลได้ผลักดันการลงทุนและพัฒนาโครงข่ายระบบราง อย่างเต็มที่ ซึ่งในข้อมูลของกรมการขนส่งทางราง กระทรวงคมนาคม ระบุว่าแผน แม่บทในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล M-MAP+เพิ่มเติม : 2553-2572 มี 14 เส้นทาง รวม 557.56 กิโลเมตร (กม.) กำหนดในปี 2562 จะเปิดให้บริการระยะทางรวม 141.8 กม. และในปี 2563 เปิดให้บริการ ระยะทางรวม 170.38 กม. ได้แก่ สายสีน้ำเงิน ช่วงเตาปูน-ท่าพระ, สายสีเขียว ช่วง ม.เกษตรฯ-คูคต และสายสีทอง ช่วงกรุงธนบุรีคลองสาน และในปี 2564 จะมีการเปิดให้บริการรวม 282.24 กม.

          โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในวันที่ 23 ธ.ค.นี้ คนฝั่งธนบุรีและพื้นที่ ใกล้เคียงจะยิ้ม เมื่อจะมีการเปิดให้ประชาชนทดลองใช้บริการฟรี โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ช่วงเตาปูน-ท่าพระ ซึ่งจะทำให้รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายช่วงหัวลำโพง-บางแค และบางซื่อ-ท่าพระ เชื่อมต่อการเดินทางครบลูปเป็นวงกลมตลอดเส้นทาง ซึ่งแน่นอนอว่า จะส่งผลต่อการเดินทางของประชาชน และเกิดการลงทุนโครงการที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะตลาดคอนโดฯ เพื่อรองรับความต้องการอยู่อาศัยหรือ การลงทุนเพื่อปล่อยเช่าห้องชุด เนื่องจากราคาในโซนนี้ ยังไม่สูงเท่ากับคอนโดฯ ในเมือง ที่อัตราผลตอบแทน (ยิลด์) ค่อนข้างไม่จูงใจ เช่น โซนสุขุมวิท ยิลด์เฉลี่ยต่ำกว่า 4% เนื่องจากราคาห้องชุด มีราคาสูงมาก

          อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ มีผู้ประกอบการทยอยลงทุนโครงการคอนโดฯในเส้นรถไฟฟ้าสายน้ำเงินมาอย่างต่อเนื่อง และมากขึ้นในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะเส้นถนนจรัญสนิทวงศ์ ซึ่งบริษัท แอล.พี.เอ็น.ดีเวลล็อปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) มีการลงทุนและพัฒนาโครงการ คอนโดฯในโซนดังกล่าวเป็นจำนวนมาก มีโครงการมาแล้วไม่ต่ำกว่า 6-7 โครงการ รวมถึงค่ายรายใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น บริษัท พฤกษา เรียลเอสเตทฯ, บริษัท ควอลิตี้เฮ้าส์ฯ, บริษัท แสนสิริ, บริษัท ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน), บริษัท ศุภาลัยฯ, บริษัท เอพี (ไทยแลนด์) และบริษัท นารายณ์ พร็อพเพอร์ตี้ เป็นต้น หรือแม้แต่ ค่ายยักษ์ใหญ่ บริษัท เอ็มบีเค เรียลเอสเตทฯได้สะสมที่ดิน ติดถนนจรัญสนิทวงศ์ ซอย 7 บนเนื้อที่ 4 ไร่ หน้ากว้าง 100 เมตร อยู่ใกล้สถานี MRT จรัญฯ 13 โดยจะเริ่มพัฒนาเมื่อ EIA แล้วเสร็จ รวมถึงบริษัท เสนา ดีเวลลอปเม้นท์ฯ มีที่ดิน 1 แปลง บริเวณอู่รถเมล์เดิม ใกล้กับ ซอยสวนผักที่จะข้ามมาปิ่นเกล้า รอการพัฒนาอยู่

          จากการเข้ามาลงทุนของผู้ประกอบการ ทำให้ราคาที่ดินบนถนนจรัญสนิทวงศ์ ได้ขยับขึ้นมามาก จนอาจจะทำให้ราคาขายคอนโดฯ จะเกินกว่ากำลังของกลุ่มลูกค้าได้ในอนาคต โดยราคาที่ดินบนถนน สายหลักประมาณ 220,000-460,000 บาทต่อตารางวา (ตร.ว.) แต่ก็เริ่มมีผู้ประกอบการบางรายขยับเข้าไปพัฒนาในซอย เนื่องจากต้นทุนยังเหมาะสมกับสินค้าที่นำเสนอ ประกอบกับราคาที่ยังอยู่ในกรอบของ การลงทุนได้ประมาณ 70,000-180,000 บาทต่อ ตร.ว.

          ขณะที่ สถานการณ์เรื่องราคาขายของคอนโดฯที่อยู่รอบนอกเมือง ตามแนวรถไฟฟ้า เช่น ตลอดแนวเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ราคาคงปรับขึ้นได้ไม่มาก เนื่องจากยังมีซัปพลายคงค้างมาก ทำให้การแข่งขันค่อนข้านรุนแรง และอาจจะเห็นแนวโน้มของราคาคอนโดฯในปี 2563 ที่จะปรับลดลงได้ประมาณ 10% เนื่องจากต้องการเร่งระบายสต๊อก และลดปัญหาเรื่องภาระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่จะบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 63 แต่ยังมีเงื่อนเวลาให้สต๊อกคอนโดฯเหลือขายในช่วง 3 ปีแรก

          * คอนโดฯเส้นจรัญฯราคาเกินแสนบาท/ตร.ม.ขายอืด

          นายสุรเชษฐ กองชีพ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟีนิกซ์ พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลล็อปเม้นท์ แอนด์ คอนซัลแทนซี่ จำกัด ให้ มุมมองต่อเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินช่วงบางซื่อ-ท่าพระนี้ ว่า เมื่อมีโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินเกิดขึ้น ราคาที่ดินมีการเปลี่ยนแปลง จากประมาณ 100,000 บาทต่อ ตร.ว. ขยับขึ้นไปในปัจจุบันกว่า 300,000 บาทต่อ ตร.ว. และมากกว่านี้ในหลายพื้นที่ จึงเห็นแต่โครงการ คอนโดฯเท่านั้น ที่สามารถพัฒนาบนที่ดินตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้า สายสีน้ำเงินได้แบบที่เห็นในปัจจุบัน พื้นที่ตลอดแนวเส้นทางรถไฟฟ้า มีคอนโดฯ ทั้งหมด 25,783 ยูนิต เป็นคอนโดฯที่อยู่ในพื้นที่ตามแนวถนนประชาราษฎร์ สาย 1 และ 2 ประมาณ 7,407 ยูนิต และเป็น คอนโดฯที่อยู่ตามแนวถนนจรัญสนิทวงศ์ 18,376 ยูนิต โดยพื้นที่ตามแนวถนนจัรญสนิทวงศ์ มีจำนวนคอนโดฯมากกว่าชัดเจน เพราะมีพื้นที่ที่ใหญ่กว่า อีกทั้งยังมีสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ พร้อมอยู่แล้ว ในพื้นที

          อัตราการขายคอนโดฯในพื้นที่ตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินช่วงบางซื่อ=ท่าพระ อยู่ที่ประมาณ 84% โดยโครงการที่อยู่ในพื้นที่ตามแนวถนนประชาราษฎร์สาย 2 มีอัตราการขายอยู่ที่ประมาณ 86% เพราะโครงการส่วนใหญ่เปิดขายมาหลายปีแล้ว และเริ่มมีอัตรา การขายดีขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการเร่งปิดโครงการเมื่อการก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์ ส่วนโครงการคอนโดฯที่อยู่ในพื้นที่ตามแนวถนนจรัญสนิทวงศ์ มีอัตราการขายเฉลี่ยที่ประมาณ 83%

          โครงการคอนโดฯที่เปิดขายในพื้นที่ตามแนวถนนจรัญสนิทวงศ์ ถ้ามีราคาขายมากกว่า 100,000 บาทต่อ ตร.ม. จะขายได้ช้า แม้ว่าจะสร้างเสร็จแล้ว ก็อาจจะยังมียูนิตเหลือขายอยู่แบบที่เห็นได้ในหลายโครงการในปัจจุบัน เพราะราคาขายคอนโดฯในพื้นที่ตามแนวถนนจรัญสนิทวงศ์อยู่ที่ประมาณ 81,000 บาทต่อ ตร.ม. ส่วนโครงการ คอนโดฯในพื้นที่ตามแนวถนนประชาราษฎร์สาย 2 อยู่ที่ประมาณ 97,000 บาทต่อ ตร.ม. การซื้อคอนโดฯเพื่อลงทุนในพื้นที่นี้ อาจจะไม่ใช่การลงทุนเพื่อหวังเก็งกำไรระยะสั้น ยกเว้นบางโครงการที่กระแสดีและจำนวน ยูนิตไม่มาก อีกทั้งราคาเปิดขายไม่สูงเกินไป (ยกตัวอย่างเช่น โครงการ พลัม คอนโด ปิ่นเกล้า, ไอดีโอ จรัญฯ 70)

          ศุภาลัย-LPN ผุดโครงการพร้อมรับ MRT

          นายไตรเตชะ ตั้งมติธรรม กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) หรือ SPALI การให้บริการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินที่ ครบลูป มีความสำคัญมาก ช่วยให้ภาคอสังหาริมทรัพย์อยู่แล้ว โดยทำให้ฝั่งจรัญสนิทวงศ์ สามารถเชื่อมไปยังฝั่งอื่นของกรุงเทพฯได้ง่ายขึ้น ไม่ใช่จะอาศัยแต่รถยนต์อย่างเดียว ซึ่งจริงๆ แล้ว ช่วยตั้งแต่การเปิด ใช้สถานีบางหว้ามาแล้ว แต่เส้นที่เปิดบนถนนจรัญสนิทวงศ์และถนน สาขาต่างๆ ที่เข้าตามซอย มีประชาชนอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งในส่วนของศุภาลัย เรามีที่ดินพร้อมอยู่แล้ว โดยในปี 62 ภาพรวมศุภาลัย ได้ซื้อที่ดินไปเกือบ 6,000 ล้านบาท ต่ำกว่าเป้าที่วางไว้ 8,000 ล้านบาท เพราะภาวะอสังหาริมทรัพย์ไม่ดีมาก ราคาที่ดินยังไม่ปรับตัวลง แต่ ปลายปีก็เริ่มๆเห็นสัญญาณราคาที่ดินลงบ้างแล้ว

          "การซื้อขายที่ดินในปี 2563 จะเป็นอย่างไร ต้องดูเรื่องของ เจ้าของที่ดินเข้าใจสภาวะตลาด ไม่ดีเหมือนแต่ก่อน ราคาก็ควรจะแผ่วลงบ้าง และเรื่องของภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง แม้ว่าจะเห็นการเสนอขายที่ดินเพิ่มขึ้น แต่ราคากลับยังไม่ลง ต้องดูว่า เจ้าของที่ดินเดือดร้อนแค่ไหน จนเกิดการปล่อยที่ดินออกมา ตรงนี้คงต้องรอการจ่ายภาษีสัก 1-2 รอบ ก็คงเห็น"

          ภาษีที่ดินฯไม่กระทบ ยันแลนด์แบงก์ในมือปั๊มได้แสนล.

          นายไตรเตชะ กล่าวว่า ปัจจุบัน ศุภาลัย มีแลนด์แบงก์ในมือเมื่อพัฒนาโครงการแล้วจะมีมูลค่าประมาณแสนล้านบาท ซึ่งเรื่องภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง อย่าไปคิดเป็นสาระมากนัก เพราะในมุมเราก็ไม่ต่างจากเดิม เพราะปกติ ราคาที่ดินเพิ่มขึ้นหลายเปอร์เซ็นต์ต่อปีแม้ว่าเศรษฐกิจจะไม่ดีก็ตาม หรือแม้แต่ที่ดินตามแนวถนนตัดใหม่ ศุภาลัยก็เข้าไปเก็บ เนื่องจากราคาที่ดินปรับสูงมากกว่าภาษี

          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริษัท แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) (LPN) บริษัทอสังหาฯที่บุกเบิกและทำตลาดคอนโดฯในโซนปิ่นเกล้ามาหลายสิบปี ล่าสุด อยู่ระหว่างการเจรจาที่ดินอีก 2 แปลงในเส้นถนนจรัญสนิทวงศ์ พัฒนาโครงการอาคารชุดทั้งรูปแบบแนวสูง และโลว์ไรส์ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้างโครงการใหม่ภายใต้ชื่อ ลุมพินี พาร์ค บรมราชชนนี-สิรินธร บนเนื้อที่กว่า 5 ไร่ อยู่ใกล้กับโรงพยาบาลหู ตา คอ จมูก ใกล้เซ็นทรัลปิ่นเกล้า

          "ออริจิ้นฯ"ชี้คอนโดฯปล่อยเช่าแนวรถไฟฟ้ายังเติบโต

          นายอภิสิทธิ์ สุนทรชูเกียรติ กรรมการผู้จัดการ กลุ่มธุรกิจคอนโดมิเนียม บริษัท ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า การเปิดให้บริการรถไฟฟ้า MRT และ BTS ส่วนต่อขยายเพิ่มเติม ถือเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค ให้สามารถเดินทางไป-มาเส้นทางต่างๆ ได้สะดวกยิ่งขึ้น เป็นประโยชน์ต่อภาคอสังหาฯในระยะยาวและโครงการที่ก่อสร้างเสร็จแล้วในบริเวณใกล้เคียงสถานี

          "เชื่อว่ารถไฟฟ้าเปิดใหม่ จะยังไม่ใช่ปัจจัยสำคัญให้ผู้ประกอบการลงทุนพัฒนาโครงการใหม่ในแถบดังกล่าวเพิ่มขึ้น เนื่องจาก ใน หลายสถานียังคงมีซัปพลายเดิมที่รอการดูดซับอยู่ ทั้งนี้ อาจมีความต้องการสำหรับตลาดปล่อยเช่ามากขึ้นในบางสถานี เช่น สถานีเสนานิคม สถานีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยปัจจุบัน บริษัทมีโครงการ อยู่ในแถบดังกล่าว เช่น โครงการคอนโดมิเนียมไนท์บริดจ์ เกษตร โซไซตี้"

          ปักหมุดผุดอาคารชุดเกาะแนวสายสีเขียวตอนเหนือ

          นายสุรเชษฐ กองชีพ กล่าวเสริมว่า ในขณะที่พื้นที่ตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีเขียวตอนเหนือ ซึ่งเปิดให้บริการเพิ่มเติมจากสถานีหมอชิตไปแล้วอีก 5 สถานีไปสิ้นสุดที่สถานีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์นั้น เป็นอีก 1 พื้นที่ที่มีโครงการคอนโดฯเปิดขายใหม่มากมายในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยจะเห็นได้ชัดในช่วงปี 2558 เป็นต้นมา มีโครงการคอนโดฯเปิดขายใหม่มากกว่า 3,500 ยูนิตต่อปีต่อเนื่องติดต่อกันถึง 4 ปี เพิ่งจะลดลงในปี 2562 เพราะภาวะตลาดคอนโดฯ และยังมีคอนโดฯเหลือขายอยู่อีกไม่น้อยในพื้นที่นี้

          จับตา 2 แปลงใหญ่ใกล้ห้าแยกลาดพร้าวปลุกการลงทุน

          พื้นที่ตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือ ช่วงหมอชิต-คูคต เป็นพื้นที่ที่คาดว่าจะมีการเปิดขายโครงการคอนโดฯใหม่ต่อเนื่องในอนาคต อีกทั้งยังมีพื้นที่ขนาดใหญ่ที่อาจจะมีโครงการขนาดใหญ่เกิดขึ้นในอนาคต เช่น ที่ดินของกลุ่มเซ็นทรัลที่ซื้อต่อมาจากกลุ่มบีทีเอส หรือที่ดินที่เป็นแดนเนรมิตเดิม ซึ่งทั้ง 2 แปลงนี้อยู่ไม่ไกลจกสถานีรถไฟฟ้าห้าแยกลาดพร้าว และสถานีพหลโยธิน 24

          ตระกูล "บุญดีเจริญ" ร่วมทุน ผุดโคเวิร์กกิ้งสเปซ

          นายเจตรมงคล บุญดีเจริญ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เจริญกฤษ เอ็นเตอร์ไพร้ส์ จำกัด (กลุ่มผู้ถือหุ้นของโครงการ "The Grand Rama 9" มูลค่าแสนล้านบาท ย่านพระราม ๙ ที่ขายหุ้นให้กับกลุ่มเซ็นทรัลเมื่อปี 2561) เปิดเผยกับ "ผู้จัดการรายวัน360" ว่า อาคารพหลโยธิน 19 ถือเป็นอีกกิจการหนึ่งสำหรับการลงทุนในธุรกิจครอบครัวของเรา ซึ่งพัฒนาธุรกิจอสังหาฯมากว่า 50 ปี โดยพัฒนาโครงการขนาดใหญ่กว่า 6,000 ไร่ หรือมากกว่า 20 โครงการ ในครั้งนี้ เราเลือกที่จะลงทุนในโครงการพื้นที่ตอนเหนือของกรุงเทพฯ ที่กำลังเฟื่องฟูในตอนนี้ ดังนั้นจึงร่วมทุนกับพันธมิตรผู้บริหารธุรกิจการบริการพื้นที่ทำงานชั้นนำระดับโลก อย่างสเปซเซส

          "การร่วมทุนครั้งนี้ของ บริษัทเจริญกฤษ และกลุ่ม IWG ครั้งนี้ เป็นการแสดงความมั่นใจในตลาดอสังหาฯของกรุงเทพฯ  และเราหวังว่า การลงทุนครั้งนี้ จะเป็นการเปลี่ยนแปลงของย่านพหลโยธินจากย่านที่พักอาศัยมาสู่ย่านธุรกิจชั้นนำของกรุงเทพฯอันใหม่ ซึ่งที่ดินของ เจริญกฤษ ยังมีที่ดินอีกจำนวนมาก และมีที่ดินหลายแปลงที่กำลังจะพัฒนาโครงการ ซึ่งอยู่ในแผนที่เราเตรียมไว้ ตอนนี้ ขอไม่ตอบอะไร แล้วเมื่อมีแถลงข่าว จะเรียนเชิญมาร่วมงาน"

          วิจัยกรุงไทย ฟันธงปี63อสังหาฯขยายตัว 5.3-7.5%

          นายกณิศ อ่ำสกุล นักวิเคราะห์ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ของธนาคารกรุงไทย เปิดเผยกับ "ผู้จัดการ360" ถึงภาพรวมตลาด อสังหาฯในปี 2562 ที่จะผ่านไปว่า ในปีนี้ (62) ถือว่าเป็นปีแห่งการ ปรับฐานของตลาดที่อยู่อาศัย เนื่องจากมีการบังคับใช้เกณฑ์ LTV ใหม่ และยังต้องเผชิญกับปัจจัยลบ ทั้งภาระหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง รวมไปถึงการอ่อนค่าของเงินหยวน เมื่อเปรียบเทียบกับเงินบาท ที่ส่งผลให้ราคาที่อยู่อาศัยของไทยในมุมมองผู้ซื้อชาวจีนนั้น มีราคา สูงขึ้นล้วนกดดันให้มูลค่าตลาดที่อยู่อาศัย (วัดจากมูลค่าโอนกรรมสิทธิ์) ในปี 2562 มีแนวโน้มเติบโตได้ต่ำกว่าช่วงหลายๆ ปีที่ผ่านมา

          โดย Krungthai COMPASS ประเมินว่าตลาดคอนโดฯในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล จะมีมูลค่า 2.42 แสนล้านบาท หดตัว 11%(YoY) จากปีที่ผ่านมา ขณะที่ตลาดที่อยู่อาศัยแนวราบ จะอยู่ในระดับทรงตัวประมาณ 2.94 แสนล้านบาท ส่งผลให้มูลค่าตลาดที่อยู่อาศัยโดยรวมในปี 62 มีมูลค่า 5.36 แสนล้านบาท หดตัว 5.1% (YoY)

          อย่างไรก็ดี ในปี 2563 ตลาดที่อยู่อาศัยจะได้รับประโยชน์จากมาตรการสนับสนุนต่างๆ ของภาครัฐ โดยเฉพาะมาตรการลดค่าธรรมเนียมโอนและจดจำนอง เหลือเพียงรายการละ 0.01% จะเป็นปัจจัยหลักที่ช่วยกระตุ้นยอดขายของที่อยู่อาศัยมูลค่าไม่เกิน 3 ล้านบาท ซึ่ง Krungthai COMPASS ประเมินว่าจะมีจำนวนยูนิตที่อยู่อาศัยพร้อมขายในปี 2563 ที่เข้าเกณฑ์ถึง 134,000 ยูนิต แบ่งเป็นยูนิตคอนโดมิเนียมราว 60% และยูนิตที่อยู่อาศัยแนวราบ 40%

          ทั้งนี้ ในปี 2563 ได้ประเมินว่า ตลาดที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯและปริมณฑลจะกลับมาขยายตัวได้ราว 5.3-7.5% (YoY) โดยมีมูลค่า 5.65-5.77 แสนล้านบาท แบ่งเป็นตลาดคอนโดฯที่คาดว่าจะเติบโตได้ 4.5-6.5% (YoY) ขณะที่ตลาดที่อยู่อาศัยแนวราบที่ผู้ประกอบการอสังหาฯส่วนใหญ่ให้ความสำคัญมากขึ้น เนื่องจากเป็นตลาดที่ความต้องการซื้อ โดยส่วนใหญ่นั้นเป็นการซื้อเพื่ออยู่อาศัยจริง  มีโอกาสเติบโตได้สูงกว่าที่ 6-8.5% (YoY)

          วิเคราะห์ 5 ทำเลคอนโดฯที่มีศักยภาพ-โซนเฝ้าระวัง

          สำหรับการขยายตัวของโครงการคอนโดฯในปัจจุบัน ทาง Krungthai COMPASS ได้พิจารณาถึงทำเลที่มีแนวโน้มเติบโตได้ดี โดยพิจารณาจาก 1) ระยะเวลาขายหมดของโครงการคอนโดฯ ในแต่ละทำเล เปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยของพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล และ 2) การเปลี่ยนแปลงของยูนิตเหลือขายของคอนโดฯในแต่ละทำเลเปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยของกรุงเทพฯและปริมณฑล โดยประเมินว่า ณ ครึ่งแรกของปี 62 มี 5 ทำเลที่มีศักยภาพในการขายคอนโดฯ (พิจารณา ตาราง : ส่อง 5 ทำเลคอนโดฯที่มีศักยภาพและต้องเฝ้าระวัง)

          ชี้กลุ่มซื้อบ้านหลังแรกยังมี-กู้ได้100%

          นายกณิศ กล่าวเสริมว่า แม้ภาวะเศรษฐกิจจะชะลอตัว แต่ข้อมูลการปล่อยสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ ที่เผยแพร่โดยธปท. ยังแสดงให้เห็นว่าการกู้ซื้อที่อยู่อาศัยในสัญญาแรกโดยรวม ยังสามารถเติบโตได้อยู่ที่ 8.8% (YoY) ในช่วง 9 เดือนแรกของปี62 โดยมีเพียงการกู้ในสัญญาที่ 2 และการกู้ตั้งแต่สัญญาที่ 3 ขึ้นไป ที่หดตัว 14% (YoY) และ 31.4%(YoY) ในช่วงเวลาเดียวกันเท่านั้น ตัวเลขดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า ผู้บริโภคที่ยังไม่เคยกู้ซื้อที่อยู่อาศัย ยังคงมีความสามารถในการกู้อยู่ นอกจากนี้ ผู้บริโภคในกลุ่มนี้ยังสามารถกู้ได้เต็ม 100% (ไม่ได้รับ ผลกระทบจากเกณฑ์ LTV) 
 
ข่าวโครงการอสังหาฯ ภาคเอกชน อื่นๆ