คลังเร่งเครื่อง ฉีด2แสนล. เสริมแกร่งฐานราก
Loading

คลังเร่งเครื่อง ฉีด2แสนล. เสริมแกร่งฐานราก

วันที่ : 22 ธันวาคม 2562
"อุตตม" ลั่นเดินหน้าสร้างภาคีเครือข่ายทั่วประเทศ ดันประชาชนฐานรากพัฒนาตัวเพื่อเพิ่มรายได้แบบองค์รวม เน้นแบงก์รัฐปล่อยสินเชื่อสร้างอาชีพ พร้อมดึงเอกชนร่วมต่อยอด ธ.ก.ส.เตรียมวงเงิน 5 หมื่นล้าน ดอกเบี้ย 0.01% นาน 3 ปี หนุนเศรษฐกิจชุมชน ตามเป้าหมาย 4,500 ชุมชนในปี 64 ด้านออมสินเตรียม 1 แสนล้านบาท ปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำ
        ธ.ก.ส.-ออมสินเตรียม2แสนล้าน
        "อุตตม" ลั่นเดินหน้าสร้างภาคีเครือข่ายทั่วประเทศ ดันประชาชนฐานรากพัฒนาตัวเพื่อเพิ่มรายได้แบบองค์รวม เน้นแบงก์รัฐปล่อยสินเชื่อสร้างอาชีพ พร้อมดึงเอกชนร่วมต่อยอด ธ.ก.ส.เตรียมวงเงิน 5 หมื่นล้าน ดอกเบี้ย 0.01% นาน 3 ปี หนุนเศรษฐกิจชุมชน ตามเป้าหมาย 4,500 ชุมชนในปี 64 ด้านออมสินเตรียม 1 แสนล้านบาท ปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำ
        รัฐบาลเปิดตัวโครงการ "ประชารัฐสร้างไทย" ไปเมื่อปลายเดือนกันยายน เพื่อบูรณาการความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการขับเคลื่อนพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากของชุมชนล่าสุดนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ในปี 2563 กระทรวงการคลังจะเดินหน้าพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากอย่างต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ดำเนินการมาในปีนี้เกิดการชะงักงันและไม่ส่งผลต่อเนื่องต่อเศรษฐกิจตามที่คาดการณ์ไว้ ดังนั้นในปีหน้ากระทรวงการคลังจึงจะต่อยอดด้วยการเดินหน้ายุทธศาสตร์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก เพื่อส่งเสริมให้คนระดับฐานรากมีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น
โดยจะใช้แนวทางภาคีเครือข่ายในส่วนของกระทรวงการคลังที่มีทั้งคลังจังหวัด กรมธนารักษ์ ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ อย่างธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมถึงภาคเอกชนต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากร่วมกันทั่วประเทศ คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ในช่วงต้นปีหน้าได้อย่างแน่นอน
หลักการเบื้องต้น หน้าที่หลักของภาคีเครือข่ายคือจะทำหน้าที่ทั้งการให้องค์ความรู้ เสริมทักษะ ส่งเสริมการเข้าถึงเทคโนโลยีและให้แหล่งทุนกับประชาชนระดับฐานรากไปพร้อมๆ กัน เพื่อให้ประชาชนระดับฐานรากมีการรวมกลุ่ม เป็นวิสาหกิจชุมชน หรือสหกรณ์ทำอาชีพเสริม และสามารถต่อยอดสร้างรายได้แบบเป็นระบบได้อย่างมีประสิทธิภาพ
        "ภาคีเครือข่ายนอกจากให้ข้อมูลด้านการเงิน การออม การลงทุนในระดับฐานรากอย่างมีประสิทธิภาพ ให้ประชาชนฐานรากมีความรู้เพียงพอในการออมเงินเพื่อวัยเกษียณอายุอย่างคุณภาพแล้ว ก็จะเพิ่มหน้าที่ของเครือข่ายเหล่านี้มากขึ้น ด้วยการช่วยชาวบ้านพัฒนาตัวเอง ธนาคารออมสินจะมีสินเชื่อคนตัวเล็ก ธ.ก.ส.ก็มีสินเชื่อให้กับเกษตรกรรายย่อย และเอสเอ็มอีแบงก์ก็จะสนับสนุนสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการขนาดเล็ก ซึ่งจะเป็นอีกแรงกระตุ้นหนึ่ง ทำพร้อมกันทั้งประเทศ โดยจะใช้คลังจังหวัดเป็นตัวประสาน กรมธนารักษ์ก็จะเปิดพื้นที่ให้ตั้งตลาดขายของชุมชน ขณะเดียวกันกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงพาณิชย์ ก็เข้ามามีส่วนร่วมกัน" นายอุตตมกล่าว
        นอกจากนี้แนวคิดการจัดตั้งภาคีเครือข่ายนั้น จะมีภาคเอกชนเข้ามามีส่วนในการจัดหาตลาดเพื่อกระจายสินค้าให้กับเกษตรกรที่อยู่ในโครงการภาคีเครือข่ายดังกล่าวด้วย ซึ่งปัจจุบันมีบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดพื้นที่ในการจำหน่ายสินค้าแล้ว และเชื่อว่าหากโครงการเดินหน้าได้อย่างเป็นรูปธรรม จะมีเอกชนรายอื่นเข้ามามีส่วนช่วยด้วยเช่นเดียวกัน
        ด้านนายสมเกียรติ กิมาวหา ผู้ช่วยผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)กล่าวว่า ภาคีเครือข่ายพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากของธ.ก.ส.ภายใต้โครงการธุรกิจชุมชนสร้างไทย โดยธ.ก.ส.จะสนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจของคนในชุมชน ตั้งแต่เริ่มกิจกรรม การผลิตจนถึงการจำหน่ายในช่องทางการตลาดต่างๆ โดยมีแนวทางในการขับเคลื่อนจากการค้นหาและศึกษาความต้องการของชุมชน สู่การพัฒนาสร้างความเข้มแข็ง ยึดหลักตลาดนำการผลิตและมีการกำหนดแผนธุรกิจที่ชัดเจน ผสานความร่วมมือจากภาครัฐและเอกชนในด้านความรู้และเทคโนโลยีนวัตกรรม เพื่อทำให้เกิดความมั่นคงของเศรษฐกิจฐานรากมีภูมิคุ้มกัน มีรายได้ สวัสดิการสังคม และโอกาสทางการตลาดที่เพิ่มขึ้น
        กลุ่มเป้าหมายของโครงการคือ SMART Farmer SMEs หัวขบวน วิสาหกิจชุมชนและสหกรณ์การเกษตร โดยธ.ก.ส. มีเป้าหมายพัฒนาธุรกิจชุมชน 928 ชุมชนในปี 2562 และเพิ่มเป็น 4,500ชุมชนภายใน ปี 2564
        พร้อมทั้งสนับสนุนสินเชื่อให้กับชุมชน เพื่อใช้ในการลงทุนและพัฒนากว่า 100,000 ล้านบาทภายในปี 2564 เบื้องต้นมีวงเงินสินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทย 50,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 0.01% ต่อปี ระยะเวลา 3 ปีตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2562 - 30 พฤศจิกายน 2565 เพื่อสนับสนุนองค์ความรู้และเทคโนโลยีให้กับคนในชุมชน ลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ ยกระดับห่วงโซ่มูลค่าการผลิต อุตสาหกรรม และบริการต่าง ๆ หนุนสร้าง Smart Farmer ผู้ประกอบการ
ขณะที่ออมสินเองเตรียมวงเงินกว่า 100,000 ล้านบาท เพื่อหนุนประชารัฐสร้างไทยตามนโยบายรัฐโดยจัดมาตรการบิ๊กแพ็ก "สินเชื่อประชารัฐสร้างไทย" ดอกเบี้ยต่ำ พร้อมเงื่อนไขพิเศษประกอบด้วย สินเชื่อเคหะประชารัฐสร้างไทย สินเชื่อ SMEs ประชารัฐ และโครงการผ่อนปรนภาระหนี้กองทุนหมู่บ้านฯ เพื่อให้เม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจตั้งแต่ภาครัวเรือน ภาคธุรกิจ จนถึงระดับท้องถิ่น