คลังกดดันธปท.ผ่อน LTV คอนโดฯขายฝืด-ราคาวูบ
Loading

คลังกดดันธปท.ผ่อน LTV คอนโดฯขายฝืด-ราคาวูบ

วันที่ : 10 มกราคม 2563
คลังจี้ ธปท.เร่งศึกษาเพื่อผ่อนผันมาตรการ LTV เปิดโอกาสอสังหาฯ ช่วยเดินหน้าเศรษฐกิจให้ขยายตัวต่อได้ "กรุงไทย" ชี้ตลาดอสังหาฯ ปี 62 ปรับฐานคอนโดมิเนียมยอดโอนหดตัวแรง
          คลังจี้ ธปท.เร่งศึกษาเพื่อผ่อนผันมาตรการ LTV เปิดโอกาสอสังหาฯ ช่วยเดินหน้าเศรษฐกิจให้ขยายตัวต่อได้ "กรุงไทย" ชี้ตลาดอสังหาฯ ปี 62 ปรับฐานคอนโดมิเนียมยอดโอนหดตัวแรง ขณะที่บ้านแนวราบยังไปต่อได้ ตามกำลังซื้อจริง ด้าน ธอส.ระบุราคาบ้าน-คอนโดฯ ยังเพิ่มขึ้น แต่เริ่มเพิ่มขึ้นช้าๆ

          นายชาญกฤช เดชวิทักษ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี (ปฏิบัติงานกระทรวงการคลัง) เปิดเผยว่า ในการประชุมเตรียมพร้อมรับมือกับภาวะเศรษฐกิจในปี 2563 นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง ได้หารือและขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ผ่อนปรนมาตรการคุมเข้มสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ (LTV) โดยระบุว่า หาก ธปท.สามารถผ่อนผันเกณฑ์ LTV ในบางช่วงเวลาจะเป็นประโยชน์ต่อภาพรวมเศรษฐกิจมากขึ้น โดยเข้าใจว่ามาตรการนี้เป็นมาตรการที่ดีที่จะป้องกันปัญหาการเกิดฟองสบู่แต่ในสถานการณ์ที่เศรษฐกิจไม่ปกติ อยากขอให้ ธปท.ผ่อนปรนเกณฑ์ดังกล่าวในบางช่วงเวลา เพื่อให้ภาคอสังหาริมทรัพย์เข้ามามีส่วนช่วยให้เศรษฐกิจเดินหน้าได้ซึ่งจะทำให้บรรยากาศการบริโภคและการลงทุนดีขึ้น โดยทาง ธปท.รับไปศึกษาเพิ่มเติม คาดว่าเมื่อศึกษาเสร็จจะมีการหารือกันในเร็วๆนี้

          "ภาคอสังหาริมทรัพย์ ยังต้องการให้ภาครัฐสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง เพราะหลังจาก ธปท.ออกเกณฑ์ LTV ทำให้สต๊อกอสังหาฯยังเหลืออยู่มาก ดังนั้น หากสามารถผ่อนปรนมาตรการจะช่วยกระตุ้นกำลังซื้อได้ โดยอยากให้ภาครัฐเริ่มผ่อนปรนมาตรการ เพื่อให้ภาพรวมเศรษฐกิจเดินหน้านับจากไตรมาสหนึ่งของปีนี้"

          วันเดียวกัน นายพชรพจน์ นันทรามาศ ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโสศูนย์วิจัยกรุงไทย คอมพาส ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ในปีที่ผ่านมาเป็นปีแห่งการปรับฐานของตลาดที่อยู่อาศัย โดยประเมินว่า มูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯและปริมณฑล จะมีมูลค่าอยู่ที่ 536,000 ล้านบาท หดตัว 5% เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน แบ่งเป็นการโอนกรรมสิทธิ์คอนโดมิเนียม 242,000 ล้านบาท หดตัว 11% การโอนกรรมสิทธิ์บ้านแนวราบอยู่ที่ 294,000 ล้านบาท ใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา

          "ส่วนในปีนี้ประเมินว่า ตลาดที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ และปริมณฑล มีแนวโน้มขยายตัว 5.5% แบ่งเป็นการโอนกรรมสิทธิ์คอนโดมิเนียม 4.5% และการโอนกรรมสิทธิ์บ้านแนวราบ 6% เนื่องจากผู้ประกอบการหันมาให้ความสำคัญกับบ้านแนวราบ เพราะผู้ซื้อส่วนใหญ่อยู่อาศัยจริง"

          ด้านนายกณิศ อ่ำสกุล นักวิเคราะห์ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS กล่าวว่า ได้ทำการวิจัยเกี่ยวกับคอนโดมิเนียมในย่านรัชโยธิน พบว่า พื้นที่ดังกล่าวเหมาะกับการอยู่อาศัยจริง แต่หากลงทุนเพื่อหวังผลตอบแทนจากส่วนต่างระหว่างต้นทุนซื้อกับราคาขายต่อ และผลตอบแทนจากการปล่อยเช่ายังไม่ใช่ตัวเลือกที่ดี โดยมีความสะดวกสบายในการเดินทางเป็นที่ตั้งของอาคารสำนักงานขนาดใหญ่ ศูนย์การค้า สถานศึกษา รวมทั้งสถานพยาบาล โดยมีตัวเลือกมากถึง 11,561 ยูนิต ราคาขายต่อตารางเมตร 93,600 บาท สำหรับโครงการเก่า และ 138,000 บาท สำหรับโครงการใหม่ ถูกกว่าคอนโดมิเนียมในตัวเมืองอย่าง เพลินจิต-ชิดลม สีลม-สาทร 51% และถูกกว่าพื้นที่รอบตัวเมือง เช่น พระราม9-เพชรบุรี-อโศก-ราชเทวี และพญาไท 29%

          ขณะที่นายวิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) รักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธอส. เปิดเผยดัชนีราคาที่อยู่อาศัย ประจำไตรมาส 4/2562 ว่า ดัชนีราคาห้องชุดใหม่ที่อยู่ระหว่างการขายในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล มีค่าดัชนีเท่ากับ 153.8 จุด เพิ่มขึ้น 4.3% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน หรือเพิ่มขึ้น 0.5% เมื่อเทียบไตรมาสก่อนหน้า แต่เป็นการเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวลงติดต่อกัน 3 ไตรมาสแล้ว ด้านดัชนีราคาบ้านจัดสรรใหม่ที่อยู่ระหว่างการขายในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ขยายตัวเพิ่มขึ้น 2.7% โดยมีค่าดัชนีเท่ากับ 127.6 จุด.
 
ข่าวโครงการอสังหาฯ ภาคเอกชน อื่นๆ