ธปท.จับตาหุ้นกู้นอนเรท อสังหา พุ่ง
Loading

ธปท.จับตาหุ้นกู้นอนเรท อสังหา พุ่ง

วันที่ : 28 มกราคม 2563
"แบงก์ชาติ" เผยภาพรวม สินเชื่อ-เอ็นพีแอล ผู้ประกอบการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ "ไม่น่าห่วง" เชื่อแบงก์บริหารจัดการได้ แต่จับตาการระดมทุนของภาคอสังหาฯ ที่หันออกหุ้นกู้เรทติ้งต่ำ หรือ "นอนเรทติ้ง" เพิ่มขึ้น หวั่นสร้าง ความเปราะบางภาคการเงินในอนาคต
          หวั่นเพิ่มความเปราะบาง  ต่อภาพรวมธุรกิจการเงิน

          "แบงก์ชาติ" เผยภาพรวม สินเชื่อ-เอ็นพีแอล ผู้ประกอบการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ "ไม่น่าห่วง" เชื่อแบงก์บริหารจัดการได้ แต่จับตาการระดมทุนของภาคอสังหาฯ ที่หันออกหุ้นกู้เรทติ้งต่ำ หรือ "นอนเรทติ้ง" เพิ่มขึ้น หวั่นสร้าง ความเปราะบางภาคการเงินในอนาคต ด้าน "แบงก์กรุงเทพ-กสิกร" เพิ่มเงื่อนไขปล่อยกู้ ลดความเสี่ยง

          นายธาริฑธิ์  ปั้นเปี่ยมรัษฎ์  ผู้อำนวยการ อาวุโส ฝ่ายตรวจสอบและวิเคราะห์ความเสี่ยงสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า สถานการณ์การปล่อย สินเชื่อและหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) แก่ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ (Pre finance) ไม่น่ากังวล แบงก์สามารถควบคุมเอ็นพีแอลให้อยู่ในระดับเดิมได้ อย่างต่อเนื่อง อีกทั้งในช่วงที่ผ่านมา แบงก์ได้ชะลอการให้สินเชื่อตามความเสี่ยง ที่เพิ่มขึ้นของธุรกิจ พร้อมกับเน้นให้สินเชื่อกับผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีฐานะการเงินมั่งคง มีประสบการณ์ และแบรนด์สินค้า น่าเชื่อถือเป็นที่ยอมรับของผู้ซื้อบ้านมากขึ้น

          อย่างไรก็ตาม แม้ด้านคุณภาพสินเชื่อ ไม่น่าห่วง แต่ต้องติดตามสถานการณ์ออกหุ้นกู้ ของผู้ประกอบการภาคอสังหาริมทรัพย์ ด้วย โดยเฉพาะการออกหุ้นกู้ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือต่ำ และไม่มีการจัดอันดับ (unrated bond) ที่มากขึ้น โดยเฉพาะ บางรายที่ใช้ช่องทางดังกล่าวระดมทุน  อาจต้องติดตามถึงสถานการณ์ในระยะ ข้างหน้าอย่างต่อเนื่อง เพราะหากกลุ่มนี้ ได้รับผลกระทบ อาจนำมาสู่ความเปราะบาง ของธุรกิจการเงินโดยรวมได้

          ทั้งนี้ จากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) พบว่า ณ เดือน ก.ย.2562 ยอดคงค้างตราสารหนี้ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือต่ำ และตราสารหนี้ ที่ไม่ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ  พบว่าอยู่ที่ 2.38 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 18% จากสิ้นปีก่อนหน้า

          ด้านนายวีระศักดิ์ สุตัณฑวิบูลย์ รองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า สำหรับคุณภาพหนี้ของสินเชื่อที่ให้กับ ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ในช่วง ที่ผ่านมา ธนาคารยังสามารถควบคุมเอ็นพีแอล ได้ดีอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันการ ปล่อยสินเชื่อใหม่โดยเฉพาะแนวสูงปัจจุบันลดลงต่อเนื่องตามความต้องการสินเชื่อที่ลดลง หลังมีการใช้เกณฑ์กำกับสินเชื่อที่อยู่อาศัย (แอลทีวี) แต่ผู้ประกอบการปรับตัวได้ดี หันไปทำแนวราบมากขึ้นเพื่อลดผลกระทบ  "พอร์ตลูกค้าแบงก์ส่วนใหญ่เป็น ผู้ประกอบการรายใหญ่ ทั้งในตลาดหลักทรัพย์ และนอกตลาด ซึ่งเวลาเราปล่อยสินเชื่อ เราก็ดูคนที่มีความชำนาญในธุรกิจนี้ ดูทำเล และดูเรื่องอัตรายอดขาย อัตราหนี้ต่อทุน เพื่อประกอบการพิจารณาการอนุมัติ สินเชื่อด้วย" นายวีระศักดิ์ กล่าว

          ด้านนายสุรัตน์ ลีลาทวีวัฒน์ รอง กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ธนาคารยังมีแผนปล่อยสินเชื่อ ให้กับกลุ่มนี้อย่างต่อเนื่อง แม้ภาพรวม ภาคอสังหาริมทรัพย์ยังมีแนวโน้ม ชะลอตัว แต่ธนาคารต้องเลือกปล่อยสินเชื่อ มากขึ้น และมีเงื่อนไขเพิ่มขึ้น เช่น การปล่อยสินเชื่อสำหรับโครงการที่มี การก่อสร้างไปบ้างแล้ว เพื่อให้ธนาคาร มั่นใจว่าจะไม่มีความเสี่ยง นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญมากขึ้น สำหรับโลเคชั่นในการก่อสร้าง ว่าไม่เป็นพื้นที่ ที่มีอุปทานคงเหลือจำนวนมาก

          "ภาพรวมสินเชื่อชะลอไปบ้าง ตามภาวะเศรษฐกิจไทยที่ยังไม่ฟื้นตัว  โดยปีนี้ ภาพรวมคาดยอดขายอสังหาฯ ยังลดลง 15-30% และในต่างจังหวัดชะลอลงถึง 50% แม้จะมีมาตรการหนุน แต่การ ขยายตัวก็อาจไม่เติบโตเหมือนในอดีต จนกว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ดี ระดับหนึ่ง"
 
ข่าวนโยบายการเงิน-การคลัง อื่นๆ