พรนริศ ชวนไชยสิทธิ์ Outlook Real Estate 2020 #เปลี่ยน ก่อนถูกเปลี่ยน
Loading

พรนริศ ชวนไชยสิทธิ์ Outlook Real Estate 2020 #เปลี่ยน ก่อนถูกเปลี่ยน

วันที่ : 18 ธันวาคม 2562
งานสัมมนาใหญ่ปิดท้ายปี หัวข้อ "เชียงใหม่ 2020 #เปลี่ยน ก่อนถูกเปลี่ยน" จัดโดยหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ณ ห้องแกรนด์ ลานนา บอลรูม โรงแรมแชงกรี-ลา เชียงใหม่ ได้รับเกียรติเป็นอย่างสูงจาก "พี่ทุย-พรนริศ ชวนไชยสิทธิ์" นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย 3 สมัย รับเชิญเป็นวิทยากรพิเศษ
          งานสัมมนาใหญ่ปิดท้ายปี หัวข้อ "เชียงใหม่ 2020 #เปลี่ยน ก่อนถูกเปลี่ยน" จัดโดยหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ณ ห้องแกรนด์ ลานนา บอลรูม โรงแรมแชงกรี-ลา เชียงใหม่ ได้รับเกียรติเป็นอย่างสูงจาก "พี่ทุย-พรนริศ ชวนไชยสิทธิ์" นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย 3 สมัย รับเชิญเป็นวิทยากรพิเศษบรรยายแบบฉายเดี่ยว เปิดมุมมองภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของเส้นกราฟขาลง และมองไปข้างหน้า Real Estate 2020 อนาคตฝากไว้ในมือใคร ภาครัฐหรือเอกชน ?

          "บ้านดีมีดาวน์" ตัวช่วยปีกุน

          ประเด็นแรก หยิบตัวเลขสถิติซัพพลายเหลือขายเฉลี่ย 5 ปี อยู่ที่ 138,720 ยูนิต

          ในขณะที่ปี 2562 มีสถานการณ์พิเศษจากมาตรการ LTV-loan to value แบงก์ชาติบังคับเพิ่มเงินดาวน์ในการขอสินเชื่อซื้อที่อยู่อาศัยหลังที่สองเป็นต้นไป ทำให้ยอดปฏิเสธสินเชื่อกลุ่มตลาดกลาง-ล่างไม่เกิน 3 ล้านบาท พุ่งกระฉูดที่ระดับ 50-70%

          จนทำให้ "REIC-ศูนย์ข้อมูล อสังหาริมทรัพย์ ธอส." วิจัยผลกระทบ เมื่อกู้ไม่ผ่าน-ซื้อบ้านไม่ได้ เท่ากับเป็นซัพพลายเหลือขายบานตะไทแตะหลัก 1.5 แสนยูนิต ตั้งแต่ครึ่งปีหลัง 2561 และเป็นเทรนด์ที่คาดว่าจะสูงต่อเนื่องไปจนถึงปี 2563 ทั้งปีอีกด้วย

          อย่างไรก็ตาม รัฐบาลแก้เกมด้วยการออกมาตรการ "บ้านในฝัน" ลดค่าโอน-จำนอง 3% เหลือ 0.01% ในการซื้อที่อยู่อาศัยราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท มีเวลาตั้งแต่ 1 พฤศจิกายน 2562-24 ธันวาคม 2563

          ตามติดด้วยก๊อก 2 มาตรการ "บ้านดีมีดาวน์" สำหรับซื้อบ้านคอนโดมิเนียมได้ไม่จำกัดราคา แต่บล็อกรายได้ผู้ซื้อไม่เกินเดือนละ 1 แสนบาท และเนื่องจากต้องการเห็นผลเร็วจึงกำหนดเวลา 27 พฤศจิกายน 2562-31 มีนาคม 2563

          ผลตอบรับที่ดี วัดจากมีผู้สนใจลงทะเบียนขอใช้สิทธิ 2 วันแรกที่เปิดให้ลงทะเบียนผ่านบ้านดีมีดาวน์.com ทะลุเกือบ 60,000 ราย จากโควตาให้สิทธิเพียง 1 แสนราย

          และทำให้คาดการณ์ว่าช่วยลดซัพพลายเหลือขายเขต กทม.-ปริมณฑลลงเป็นลำดับ แบ่งเป็นคาดการณ์ซัพพลายเหลือขาย ณ ครึ่งปีหลัง 2562 ที่ 149,284 ยูนิต, ณ ครึ่งปีแรก 2563 ที่ 146,188 ยูนิต และ ณ ครึ่งปีหลัง 2563 ที่ 139,398 ยูนิต

          ลุ้นมาตรการรัฐ ก๊อก 3 ตลาดต่างจังหวัดก็มีผลบวกเช่นกัน มีค่าเฉลี่ยซัพพลายเหลือขาย 5 ปี อยู่ที่ 106,790 ยูนิต กรณีไม่มีมาตรการรัฐออกมาช่วยคาดว่ายอดเหลือขายจะพุ่งสูง อยู่ที่ 1.13 แสนยูนิตบวกลบ

          แต่พลันที่มีมาตรการรัฐออกมาช่วย ทำให้คาดการณ์ว่าจะกระตุ้นการซื้อการโอนจนทำให้ซัพพลายลดลง ณ ครึ่งปีหลัง 2562 อยู่ที่ 108,685 ยูนิต, ณ ครึ่งปีแรก 2563 ที่ 99,183 ยูนิต และ ณ ครึ่งปีหลัง 2563 ที่ 86,578 ยูนิต

          "ต้องบอกว่ามาตรการรัฐเข้ามา ช่วยได้ทันเวลา ซึ่งธุรกิจที่อยู่อาศัยมียอดขายปีละ 7-8 แสนล้านบาท มีผล กระทบต่อเศรษฐกิจในภาพรวม รัฐบาลเอง ก็นิ่งเฉยไม่ได้"

          ประเด็นที่ "พรนริศ" ส่งสัญญาณก็คือ ถ้าไม่มีมาตรการรัฐออกมาเป็นตัวช่วย คาดว่าปีนี้เดี้ยงอยู่แล้ว ปีหน้าจะติดลบไม่ต่ำกว่า 10% ขึ้นไป

          แต่พอมีมาตรการรัฐออกมาช่วยตอนปลายปี 2562 ทำให้ภาพการติดลบของปีนี้แม้ตัวเลขจะทรุดไปมาก แต่มาจากหลายปัจจัย โดยเฉพาะปี 2562 นำไปเทียบกับปี 2561 ซึ่งเป็นยุคบูมสุดขีดของตลาดคอนโดฯ สถิติต่าง ๆ จึงสูงโด่งเป็นพิเศษ

          ในขณะที่แนวโน้มปี 2563 จากทิศทางขาลงในปีนี้กลายเป็นแรงหนุนให้ปีหน้ามีโอกาสโงหัวหรือเติบโตขึ้นได้ เพราะถือว่าโตจากฐานต่ำหรือฐานที่ตลาด ติดลบรุนแรง แต่โอกาสโตก็ไม่เกิน 5% เทียบกับปี 2562

          อย่างไรก็ตาม จะเห็นตัวเลขโตได้ 5% จริง ๆ จำเป็นต้องมีตัวช่วยภาครัฐโดยเฉพาะมาตรการกระตุ้นอสังหาฯที่ต้องเติมเข้ามาอย่างต่อเนื่อง

          "ผมคิดว่ารัฐบาลรอประเมินบ้านดี มีดาวน์ ถ้าผลตอบรับดีน่าจะมีมาตรการเพิ่มเติมในปีหน้า เพื่อให้มีแรงส่งและทำให้เศรษฐกิจเกิดการหมุนรอบได้"

          หวั่นบิ๊กแบรนด์แข่งซัพพลายล้น

          พื้นที่ กทม.-ปริมณฑลซึ่งมีคำพูดว่า ตลาดใหญ่มาก ถึงขนาดว่ากรุงเทพฯ 1 จังหวัดเทียบเท่าภูมิภาค 30 จังหวัด เมื่อเลาะสถิติดูพบว่ากลุ่มที่มี "อัตราดูดซับ-absorption rate" ในโซนอันตรายกลายเป็นสินค้าราคาแพง 7.5-10 ล้านบาทขึ้นไป เจอในทุกสินค้าทั้งทาวน์เฮาส์ บ้านเดี่ยว คอนโดฯ

          ในขณะที่ปีนี้ภาวะเศรษฐกิจไม่ดีจริง ๆ แต่ "...ราคาบ้านไม่ได้ลด ราคาที่ดินก็ไม่ได้ลด มีแต่เพิ่มขึ้นทุกวัน" ในด้านความต้องการตลาด ดีมานด์ซื้อที่อยู่อาศัย ราคา 1-2 ล้าน มีเป็น 10 ล้านราย แต่ผู้ประกอบการพัฒนาโครงการได้ยากเพราะมีสารพัดปัญหา เริ่มต้นตั้งแต่ราคาที่ดินแพง ไปจนถึงปลายทางปัญหากำลังซื้อตกต่ำ ซื้อได้แต่โอนไม่ได้เพราะเครดิตสินเชื่อไม่ผ่าน

          เหลียวกลับมามองอนาคตปี 2563 การแข่งขันดูเหมือนยังสูงรุนแรงต่อไป ผู้เล่นหลักเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่หรือบิ๊กแบรนด์ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ระดับท็อป 5 ท็อป 10 ที่คาดว่าปีหน้าไม่มีใครยั้งมือให้ใครอย่างแน่นอน

          "รายกลางรายเล็กอย่างผมมีต้นทุนการเงิน (ดอกเบี้ย) 6% แต่รายใหญ่มีทางเลือก ออกบอนด์ออกตั๋วบี/อี มีต้นทุนการเงิน 2-3% โครงการติดกัน ขายแพงกว่า ยูนิตเยอะกว่า ขายได้ เร็วกว่า มีความมากกว่า (ได้เปรียบ) ทุกกรณี ถ้ายังไม่หยุดแข่งขันกันเปิดตัวโครงการ ปีหน้าก็ลำบาก"

          เทรนด์โลก-คนเมืองเพิ่มขึ้น

          กลับมาดูเมกะเทรนด์โลก UN สำรวจ พบว่า ปี 2533 ทั่วโลกมีคนอาศัยในเมือง 20% จำนวน 5.3 พันล้านคน ปี 2558 เพิ่มสัดส่วนเป็น 50% จำนวน 7.3 พันล้านคน และจะกลับด้านมีสัดส่วน 80% จำนวน 1.12 หมื่นล้านคนที่อยู่ในเมืองภายในปี 2643 (ค.ศ. 2100)

          การเปลี่ยนแปลงแบบเมกะเทรนด์ของโลก ชี้ให้เห็นว่า ในปี 2552 กำลังซื้อระดับชนชั้นกลางในเอเชียมี 500 ล้านคน เพิ่มเป็น 3,300 ล้านคนในปี 2573

          โดยมี "เมกะซิตี้" 50 เมืองใหญ่ที่ครอบงำการเติบโตทางเศรษฐกิจ และผลจากยุคโลกไร้พรมแดน สินทรัพย์ เรียลเอสเตตอย่างธุรกิจรีเทลในลอนดอน สัดส่วน 60% ถูกซื้อกิจการโดย นักลงทุนจีนและอาหรับ

          การเติบโตของอีคอมเมิร์ซข้ามประเทศจะเติบโตจากปัจจุบันถึง 9 เท่า ภายในเวลา 5 ปี

          อีกตลาดที่ไม่อาจมองข้าม กำลังซื้อ คนวัยเกษียณมี 164 ล้านคนในปี 2558 จะเพิ่มเป็น 222 ล้านคนภายในปี 2573 (ยุคที่โลกก้าวสู่สังคมประชากรผู้สูงวัยเต็มตัว)

          คนทำงานสายพันธุ์ใหม่ "tech workers" มีจำนวนทวีคูณอย่างรวดเร็ว 61% ระหว่างปี 2553-2556 และโลกล้ำยุคถึงขนาดมียานยนต์ไร้คนขับภายในปี 2572

          "รีเสิร์ชของ UN บอกว่า ภายใน ปี 2573 คนชั้นกลางจะเพิ่ม 3 เท่า ทุกคนทำงานในเมืองหมด แล้วใครจะ ทำอาหารเลี้ยง ลูกหลานต่อไปเรียน หนังสือแล้วอยู่ในเมืองไม่กลับบ้าน มีแต่พ่อแก่แม่เฒ่าอยู่กันเอง ฟาร์มมิ่งไม่มีใครทำ ไทยบอกว่าจะทำสมาร์ทฟาร์มมิ่ง จะไหวเหรอ ประเทศไทยกับสมาร์ทฟาร์มมิ่งมันไปช้ากว่าที่ควรจะเป็น..."

          "กฎบัตร" รวมกลุ่มพัฒนาเมือง

          "พรนริศ" นำการสัมมนาเดินทางมาสู่คำถามที่ว่า อนาคตฝากไว้ในมือใคร รัฐหรือเอกชน ?

          สำหรับคำถามนี้ขึ้นกับว่าใครเป็น คนตอบ บทบาทของการเป็นนายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย 3 สมัย ทำให้ เดินทางขึ้นล่องในต่างจังหวัดทั่วประเทศ เป็นหนึ่งในแกนหลักที่สนับสนุนให้มีการก่อตั้งสมาคมชมรมอสังหาริมทรัพย์ประจำจังหวัด และมีส่วนร่วมอยู่วงในก่อตั้งบริษัทพัฒนาเมืองต่าง ๆ ล่าสุดรับหน้าเสื่อเป็น "รักษาการประธานกฎบัตรแห่งชาติ"

          อาจกล่าวได้ว่า กฎบัตรแห่งชาติเป็นพัฒนาการที่ต่อยอดมาจากการรวมกลุ่มจัดตั้งบริษัทพัฒนาเมืองในจังหวัดต่าง ๆ ที่กำลังจะมีครบ 15 จังหวัด ในเร็ววันนี้ ข้อแตกต่างคือ บริษัทพัฒนาเมืองอาจเป็นการรวมกลุ่มของนักธุรกิจเป็นหลัก ทำหน้าที่ผลิตไอเดียเพื่อพัฒนาท้องถิ่นตัวเอง

          ในขณะที่กฎบัตร (National Charter) มีเป้าหมายเชิงสังคม ขยายบริบทผู้มีส่วนร่วมครบทุกภาคส่วนในพื้นที่ ถกกันทุกปัญหาตั้งแต่สลัม คนพิการ พ่อค้าแม่ค้า คุณหมอ ศิลปิน นักวิชาการ นักธุรกิจ ผู้บริหารภาครัฐ ฯลฯ

          สิ่งที่หลายคนไม่รู้ กฎบัตรหลายจังหวัดเริ่มเป็นกลุ่มเป็นก้อน โดยจังหวัดนำร่อง คือ นครสวรรค์ เพราะมีหัวเชื้อที่ดีจากนายกเทศมนตรีซึ่งครองตำแหน่งอย่างยาวนาน จนทำให้การบริหารท้องถิ่นรักแบบเดียวกับบริหารครอบครัวตัวเอง

          นำร่อง "นครสวรรค์เรืองแสง"

          โปรเจ็กต์นำร่อง คือ "นครสวรรค์เรืองแสง-ILLUMINATION Nakhon Sawan" เทศกาลศิลปะ การแสดง อาหาร สุขภาพแห่งลุ่มเจ้าพระยา กำหนดจัดงาน 4 เดือน ประเมินมี ผู้มาเยือน 1.2 ล้านคน กรณีมาเที่ยววันเดียวกลับ ใช้จ่ายตก 500 บาท/คน กรณีพักค้างคืนด้วยใช้จ่ายตก 1,500 ล้านบาท บรรทัดสุดท้ายคาดว่าทำรายได้ เข้าจังหวัด 720 ล้านบาท

          ถัดมากฎบัตรอุดรธานี สืบเนื่องจากกลุ่มอุดรเจริญศรีเพิ่งสร้างห้องประชุมจุ 4,000 คนเสร็จ ปรากฏว่าเจออุปสรรคในเมืองมีโรงแรม 4 ดาวรวมกันเพียง 400 กว่าห้อง เมื่อมีการพูดคุยกันมากขึ้นทางกลุ่มพูลแมนตัดสินใจลงทุนโรงแรม 5 ดาวทันที จากเดิมรอลงทุนใน 4-5 ปี

          อีกตัวอย่างเป็นของกฎบัตรภูเก็ตที่มีความเห็นต่างระหว่าง "ผังเมือง" ที่ควบคุมตึกสูงอย่างเข้มข้น ในขณะที่ราคาที่ดินตารางวาละ 6 แสนบาท วันนี้คนภูเก็ตระดมสมองว่าต้องการยกระดับเมืองเป็น "ลิตเติลสิงคโปร์"

          หากรัฐทะลวงคอขวดเรื่องกฎคุมตึกสูง โดยกำหนดโซนให้สามารถสร้างความสูง 60-65 เมตร โฟกัสทำเล หาดป่าตอง ทางกลุ่มจังซีลอนประกาศกลางวงประชุมกฎบัตรว่ามีความพร้อมลงทุนศูนย์ประชุมจุ 5,000 คน ได้ทันที

          เพราะมีตัวช่วยในเรื่องห้องพักโรงแรมล้นเกาะ 30,000-40,000 ห้องอยู่แล้ว แต่ปัจจุบันมีห้องประชุมใหญ่สุดจะได้เพียง 500 คนเท่านั้น !!!

          "เวลาเราไปคุยกับภาครัฐเราไม่ได้คุยแต่เรื่องร้องเรียน แต่เราไปคุยว่ามีแผนงานอย่างนี้ คนเท่านี้ ภาครัฐท่านเอาไปดูว่าเป็นไปได้ไหม เศรษฐกิจเป็นยังไง ถ้าท่านไม่ทำจะสูญเสียรายได้เท่าไหร่ในสิบปี แต่ถ้าท่านทำตามที่เราเสนอให้ทำ ท่านจะได้ภาษีกลับมาพัฒนาประเทศ"

          คิวงานสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนธันวาคม 2562 มีประชุมกฎบัตร หัวข้อเรื่อง Food Charter ที่เชียงใหม่

          "คนถามว่ากฎบัตรคืออะไร กฎบัตรภาษาอังกฤษ เรียกว่า charter คนทุกภาคส่วนมารวมกันแล้วเกิดไอเดียขึ้น ตอนนี้เราทำในเรื่องพัฒนาคน พัฒนาธุรกิจ ดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ฟังดูบทบาทเหมือนเป็นรัฐบาล แต่กลุ่มที่ผมจะยึดโยงทำ คือ บริษัทพัฒนาเมือง ภาคประชาชน นักธุรกิจต้องเอาด้วย ภาคการศึกษา และภาครัฐ โดยภาครัฐนำตลอด พวกผมมองว่าเราเป็นคนพื้นที่ในจังหวัดตัวเอง เราต้องคิดถึงตัวเอง เราต้องทำตัวเป็น think tank คิดเพื่อพัฒนาเมือง"
 
ข่าวโครงการอสังหาฯ ภาคเอกชน อื่นๆ