วิกฤติโควิด ตลาดเช่าที่อยู่อาศัย ดีดตัวแรง 
Loading

วิกฤติโควิด ตลาดเช่าที่อยู่อาศัย ดีดตัวแรง 

วันที่ : 13 มิถุนายน 2564
ดีดีพร็อพเพอร์ตี้ เผย ภาพรวมของดีมานด์ในการซื้อ-เช่าที่อยู่อาศัย เเนวโน้มปรับตัวดีขึ้น
          อุมาภรณ์ ขวัญเมือง

          ซัพพลายที่อยู่อาศัยที่ปรับตัวลดลง เนื่องจากผู้ประกอบการชะลอการเปิดตัวโครงการใหม่ ในช่วงที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศยังไม่สงบ รวมถึงการชะลอการนำสินค้าออกมาขาย เพื่อรอจังหวะ เวลาที่ราคาปรับตัวดีขึ้นกว่านี้ ทำให้แนวโน้มสถานการณ์ตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทยในแง่การลงทุน ยังอยู่ในช่วงพักเบรกครั้งใหญ่ ก่อนที่จะกลับมาประเมินท่าทีกันอีกครั้ง ในช่วงครึ่งหลัง หรือช่วงท้ายของปี 2564

          อย่างไรก็ตาม คาดว่า มาตรการภาครัฐ รวมถึงความชัดเจนเกี่ยวกับแผนการฉีดวัคซีน จะเป็นตัวแปรสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ภูมิคุ้มกันหมู่ในประเทศที่เกิดขึ้นจากเปอร์เซ็นต์การกระจายวัคซีนในหลายจังหวัดครอบคลุมราว 60-70% คงส่งผลต่อความมั่นใจของคนในประเทศ และเปิดรับการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ดึงโอกาสการซื้อ-ขายให้ตลาดอสังหาริมทรัพย์ฟื้นตัวได้ อย่างค่อยเป็นค่อยไปนับจากนั้น

          ทั้งนี้ "ฐานเศรษฐกิจ" พบข้อมูลที่น่าสนใจ ผ่านรายงานฉบับล่าสุดของ DDproperty (ดีดีพร็อพเพอร์ตี้) เว็บไซต์มาร์เก็ตเพลสด้านอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ของไทยและเอเชีย ซึ่งระบุว่า ตลาดอสังหาฯไทย มีนัยการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น จากภาพรวมของดีมานด์ในการซื้อ-เช่าที่อยู่อาศัยปรับตัวขึ้นมา เมื่อเทียบกับช่วงที่โควิดเริ่มระบาดครั้งแรกเมื่อปีที่แล้ว โดยเฉพาะตลาดเช่า ที่มาจากพฤติกรรมการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลง และชะลอการซื้อออกไปจากความไม่มั่นใจในสถานะการเงินของตัวเอง แม้ราคาที่อยู่อาศัยโดยรวม จะมีอัตราลดลงน่าซื้อก็ตาม

          โดยนางกมลภัทร แสวงกิจ ผู้จัดการใหญ่ประจำประเทศไทย DDproperty.com เปิดเผยว่า 5 ทำเลในกรุงเทพฯ ที่ได้รับความสนใจเช่าเพิ่มขึ้นในรอบ 1 ปี โควิดระบาด อันดับ 1 ปทุมวัน เปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมา เติบโตขึ้นถึง 193%, อันดับ 2 บางคอแหลม เติบโต 188%, อันดับ 3 บึงกุ่ม เติบโต 185%, อันดับ 4 จตุจักรเติบโต 159% และอันดับ 5 บางซื่อ เติบโต 150%

          ขณะจังหวัดปริมณฑล ที่มีการกระจุกตัวของคลัสเตอร์โควิด อย่าง นนทบุรี ย่านปากเกร็ด มีผู้สนใจเช่าที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้น 151% เช่นเดียวกับย่าน บางกรวย เพิ่มขึ้น 108%, คลองหลวง-ปทุมธานี เติบโตรายปี 168% และเทียบระหว่างเดือนเม.ย กับพ.ค.โตขึ้น 53%, โดดเด่นสุดในพื้นที่กระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร อัตราการค้นหาที่อยู่อาศัยเพื่อเช่า เพิ่มขึ้นถึง 650% เช่นเดียวกับ เมืองสมุทรปราการ โตขึ้นจากปีที่ผ่านมา 216% เทียบกับเดือนก่อนหน้าเพิ่มขึ้นอีก 70%

          ด้านจังหวัดท่องเที่ยว แม้เทียบระหว่างเดือนของปีนี้ (เม.ย.-พ.ค.) มีอัตราความสนใจเช่าลดลง แต่ภาพรวมรายปี เชียงใหม่ อย่างพื้นที่ ดอยสะเก็ด ยังมีลูกค้าหาเช่าที่อยู่อาศัยสูงขึ้น 74%, พัทยา ปรับเพิ่ม 106% ภูเก็ต 9%, ระยอง 60% และหัวหิน 48%

          สำหรับประเภท และราคาที่อยู่อาศัยที่คาดการณ์ว่าได้รับความสนใจเช่ามากที่สุด ข้อมูล ณ เดือน พ.ค.ที่ผ่านมา พบว่า ระดับราคาต่ำกว่า 1 หมื่นบาทต่อเดือน ปรับเพิ่มขึ้น 5%, ราคา 1-2 หมื่นบาทต่อเดือน เพิ่มขึ้น 7%, ราคาน้อยกว่า 3 หมื่นบาทต่อเดือน เพิ่มขึ้น 19% และช่วงราคา 2-3 หมื่นบาทต่อเดือน เพิ่มขึ้น 33%

          ข้อมูลข้างต้น นางกมลภัทร สะท้อนว่า แม้ราคาที่อยู่อาศัย ภาพรวมจะปรับลดลงมากที่สุดในรอบ 15 ไตรมาส จากการพร้อมใจกันลดราคาลงของผู้ประกอบการ ทำให้เป็นโอกาสการซื้อที่ดีของผู้บริโภคบางส่วน แต่อีกกลุ่มใหญ่ก็ยังเกิดความไม่มั่นใจ จึงตัดสินใจ หาเช่าที่อยู่อาศัยมากกว่า ซึ่งดีมานด์เช่าในสำรวจผ่านการเข้ามาคลิกชมในเว็บไซต์ดังกล่าว ยังมาจากลูกค้าต่างชาติ ที่แม้อยู่ในช่วงสถานการณ์โควิด แต่ไม่ได้หยุดเคลื่อนไหว เนื่องจากอาจมีความจำเป็นต้องเข้ามาอยู่อาศัยในประเทศไทยหลังสถานการณ์คลี่คลาย จึงมีความต้องการค้นหาที่อยู่อาศัยนั้นๆไว้รองรับเบื้องต้น จึงนับเป็นโอกาสดีของผู้ซื้อลงทุนปล่อยเช่าทั้งคนไทยและคนต่างชาติ โดยเฉพาะชาวจีน ที่พบว่ายังสนใจเข้ามาลงทุนในอสังหาฯ ไทยอยู่อย่างต่อเนื่อง

          "ช่วงโควิด มีต่างชาติเข้ามาดูในเว็บไซต์ต่อเดือน ประมาณ 10% โดยเฉพาะคนจีน เพื่อหวังเปรียบเทียบราคา เป็นกลุ่มที่สนใจจะเข้ามาซื้ออยู่แล้ว แต่ไม่แน่ใจในราคาผ่านเอเจนซี่ หรือ ดีเวลลอปเปอร์ โดย 5 ทำเลฮิตลูกค้าต่างชาติสูงสุดใน กทม.ยังเป็นในเมือง-แนวรถไฟฟ้า เพราะมีทั้งต้องการซื้อและเช่าอยู่ เช่น ญี่ปุ่น ยุโรป ค้นหาเพื่อเช่า ส่วนจีนมาซื้อเพื่อปล่อยเช่า ซึ่งนอกจากในกทม.แล้ว ต่างจังหวัดก็ยังมีความเคลื่อนไหว โดยเฉพาะจีน เรามีข้อมูลจากพาร์ทเนอร์ พบว่า ภูเก็ต เชียงใหม่ พัทยา และระยอง คนจีนยังสนใจเข้ามาลงทุนในกลุ่มคอนโดมิเนียมเพื่อปล่อยเช่าอยู่มาก เพื่อรอบรับดีมานด์ในอนาคต"

          ทั้งนี้ การแพร่ระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 ส่งผลต่อกำลังซื้อและความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ขณะที่การว่างงานและหนี้ภาคครัวเรือน ยังอยู่ในระดับสูง อาจเป็นปัจจัยกดดันการซื้อของคนไทยที่ต้องการที่อยู่อาศัยอีกสักระยะ ส่วนการกลับมาเปิดประเทศ รับแรงงานศักยภาพ (มีกำลังซื้อ) จีน ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ยุโรปฯ เข้ามาทำงาน ประกอบอาชีพในไทย ซึ่งแต่ละปีมีอยู่ราว 8-9 หมื่นคน (เฉพาะในกทม.) จึงนับเป็นโอกาสของตลาดซื้อเพื่อลงทุนปล่อยเช่า และทิศทางการฟื้นตัวของอสังหาฯภาพรวมสำหรับอนาคตภายหน้า


 
ข่าวโครงการอสังหาฯ ภาคเอกชน อื่นๆ