CHEWA เร่งระบายสต๊อกส่องอสังหาครึ่งปีหลังฟื้น 
Loading

CHEWA เร่งระบายสต๊อกส่องอสังหาครึ่งปีหลังฟื้น 

วันที่ : 1 กันยายน 2564
สำหรับทิศทางตลาดที่อยู่อาศัยในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลในช่วงครึ่งปีหลัง มีโอกาสขยับตัวเพิ่มขึ้นจากในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมา
           CHEWA วางกลยุทธ์เร่งระบายสต๊อกสินค้าคงค้าง ขณะที่โครงการพร้อมขายปัจจุบันมีมูลค่ารวม 1.46 หมื่นล้านบาท โชว์แบ็กล็อกแตะ 1.54 พันล้านบาท รับรู้รายได้ช่วงครึ่งปีหลัง 349 ล้านบาท พร้อมส่งสัญญาณตลาดอสังหา ครึ่งปีหลังฟื้นตัว รุกหนักทำตลาดออนไลน์ มั่นใจทั้งปีปั๊มรายได้เข้าเป้า 2.5 พันล้านบาท

          นายธนิศร นิติสาโรภาส รองกรรมการผู้จัดการ ดูแลสายงานการเงินและบัญชี  บริษัท ชีวาทัย จำกัด (มหาชน) หรือ CHEWA เปิดเผยว่า กลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจปัจจุบัน บริษัทจะเน้นเคลียร์สต๊อกสินค้าคงค้าง และที่ผ่านมาบริษัทไม่ได้รับผลกระทบกับการปิดแคมป์คนงานก่อสร้าง เนื่องจากโครงการที่อยู่ระหว่างสร้างจะแล้วเสร็จในไตรมาสที่ 3/2565 ทำให้กลับมาเร่งมือการก่อสร้างได้ และไม่กระทบต่อการรับรู้รายได้ในปีนี้

          โครงการรอการขาย

          ขณะที่ปัจจุบันบริษัทมีโครงการที่อยู่ระหว่างการขายมูลค่า 14,632 ล้านบาท แบ่งเป็นโครงการ คอนโดมิเนียม 4 โครงการ และโครงการแนวราบ 7 โครงการ รวมถึงยังมีโครงการที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง 2 โครงการ มูลค่า 2,581 ล้านบาท ได้แก่ โครงการ ชีวาทัย ฮอลล์มาร์ค ลาดพร้าว - โชคชัย 4 เฟส 2, ชีวาทัย ปิ่นเกล้า และมีโครงการร่วมทุนอีกจำนวน 3 โครงการ มูลค่า 400 ล้านบาท นอกจากนี้บริษัทยังอยู่ระหว่างจัดหาที่ดินอีกจำนวน 3 แปลง เพื่อพัฒนาโครงการในอนาคต

          สำหรับทิศทางตลาดที่อยู่อาศัยในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลในช่วงครึ่งปีหลัง มีโอกาสขยับตัวเพิ่มขึ้นจากในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมา ซึ่งต้องอาศัยมาตรการต่างๆ ของภาครัฐ ที่จะช่วยควบคุมการระบาดของโควิด-19 และแผนการฉีดวัคซีน ให้ครอบคลุมมากขึ้น

          โดยในช่วง 2 เดือนแรกของครึ่งปีหลังบริษัทได้เน้นการทำการตลาดออนไลน์มากขึ้น ซึ่งค่าใช้จ่ายที่ลดไปในด้านการทำการตลาด ก็จะนำมาเป็นส่วนลดให้แก่ลูกค้า โดยโครงการคอนโดมิเนียมแนวสูงยังมีลูกค้าที่ให้ความสนใจอยู่มาก ด้านโครงการแนวราบพบว่าเริ่มมียอดขายเพิ่มขึ้น

          เร่งระบายสต๊อก

          ทั้งนี้ช่วงที่ผ่านมาผู้ประกอบการอสังหา ส่วนใหญ่ลดการเปิดตัวโครงการใหม่ๆ โดยเน้นเป็นการระบายสต๊อกสินค้าที่มีอยู่ ซึ่งอาจจะทำให้เกิดการแข่งขันที่ดุเดือด นอกจากนี้ยังมีปัจจัยทางด้านต้นทุนที่สูงขึ้น และการขาดแคลนแรงงาน และต้นทุนทางการเงิน และแหล่งเงินทุนที่จำกัด

          ทั้งนี้เนื่องจากสถาบันการเงินส่วนใหญ่มีการควบคุมการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น จากระดับภาวะหนี้ครัวเรือน และหนี้ส่วนบุคคลที่สูงขึ้น ทำให้มีการควบคุมการขอสินเชื่อที่อยู่อาศัย โดยบริษัทพบว่าอัตราการปฏิเสธสินเชื่อในช่วงที่ผ่านมา อยู่ในระดับที่สูง แต่เริ่มเห็นสัญญาณที่ดีขึ้น ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา (ก.ค.-ส.ค.2564) ตัวเลขอัตราการปฏิเสธสินเชื่อลดลง จากในช่วงครึ่งปีแรก เนื่องจากลูกค้าส่วนใหญ่ของบริษัทเป็นเรียลดีมานด์ ที่ต้องการซื้อสินค้าจริง

          ขณะที่ปัจจุบันมีโครงการที่รอรับรู้รายได้ (Backlog) ที่ 1,548 ล้านบาท โดยจะรับรู้รายได้ในช่วงครึ่งปีหลัง 349 ล้านบาท ส่วนที่เหลือจะโอนในปีถัดไป 1,199 ล้านบาท ทั้งนี้บริษัทคงเป้ารายได้ปี 2564 ไว้ที่ 2,500 ล้านบาท หรือเติบโต 52% จากปีก่อน 1,643.32 ล้านบาท โดย 6 เดือนแรกบริษัทมีรายได้แล้ว 1,170.76 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิที่ 49.77ล้านบาท

          เล็งหาพาร์ตเนอร์ใหม่

          อย่างไรก็ตาม บริษัทมองหาโอกาสในการร่วมทุน (JV) โดยมองหาพาร์ตเนอร์ใหม่ๆ เพื่อพัฒนาโครงการร่วมกันในอนาคต ส่วนกลยุทธ์ในระยะสั้นที่สถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลาย จากอัตราผู้ติดเชื้อใหม่ที่ลดลง บริษัทจึงพยายามมอนิเตอร์ต้นทุนและค่าใช้จ่ายต่างๆ ให้อยู่ในระดับที่ต่ำ เพื่อให้สามารถแข่งขันได้ และรักษาอัตรากำไรเอาไว้ได้ในระดับที่เหมาะสม
 
ข่าวโครงการอสังหาฯ ภาคเอกชน อื่นๆ