สมาคมสินเชื่อที่อยู่ฯ ชงตั้ง กองทุนหนุนธุรกิจอสังหาฯ
Loading

สมาคมสินเชื่อที่อยู่ฯ ชงตั้ง กองทุนหนุนธุรกิจอสังหาฯ

วันที่ : 6 ตุลาคม 2564
เสนอตั้งกองทุนสนับสนุนการออมก่อนกู้ เรียกว่า กองทุนส่งเสริมและสนับสนุนที่อยู่อาศัย ซึ่งจะช่วยทั้งผู้ประกอบการและผู้กู้ให้มีโบนัส
          "สมาคมสินเชื่อที่อยู่อาศัย" เสนอตั้งกองทุนสนับสนุนที่อยู่อาศัย หวังจะสร้างความมั่นคงให้ผู้กู้และผู้ประกอบการ "ไทยพาณิชย์" มองนโยบายรัฐเป็นวัคซีนสำคัญต่อการฟื้นตัวธุรกิจอสังหาฯทั้งการขยายอายุมาตรการภาษีและนโยบายการเปิดเมือง สศค.มองนโยบายการลงทุนในอีอีซีจะเอื้อต่อการฟื้นตัวอสังหาฯ

          นายกิตติ  พัฒนพงศ์พิบูล ประธาน สมาคมสินเชื่อที่อยู่อาศัย กล่าวว่า  ภาคธุรกิจอสังหาฯ จะประสบปัญหา เมื่อเศรษฐกิจตกต่ำ ทำให้ รัฐบาลก็มาช่วยทุกครั้ง  ซึ่งจะมีแนวทางอย่างไรที่จะมีระบบสนับสนุนผู้ซื้ออสังหาริมทรัพย์ ให้มีความมั่นคง รัฐบาลไม่ต้องเข้ามาช่วยชั่วคราวทุกครั้ง ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ  เพราะสินเชื่อที่อยู่อาศัย ของเราไม่ได้มีโครงสร้างพื้นฐานไม่ดีเท่าที่ควร ทำให้เราไม่มั่นคงในระยะยาว ซึ่งเมื่อเทียบประเทศอื่น

          แม้เขามีปัญหาโควิด-19 แต่ระบบสินเชื่อ ของเขาไม่ได้ประสบปัญหา ซึ่งเราประสบปัญหามาก ทำให้ธปท.และกระทรวงการคลังช่วยเหลือทุกครั้ง เนื่องจากระบบของไทยเป็นระบบของไทยมีเงินออมก่อนกู้น้อยมากเรื่องนี้สำคัญ ที่ควรส่งเสริมให้มีการออมก่อนกู้ ดังนั้นจึง ขอเสนอตั้งกองทุนสนับสนุนการออมก่อนกู้ เรียกว่า กองทุนส่งเสริมและสนับสนุน ที่อยู่อาศัย ซึ่งจะช่วยทั้งผู้ประกอบการและผู้กู้ให้มีโบนัส

          "โบนัสที่ว่านี้คือในกรณีโบนัสของ ผู้ประกอบการคือควรให้ผู้ประกอบการมีพื้นที่โครงการต่างๆที่จะก่อสร้างได้มากขึ้นเพื่อสร้างผลตอบแทนหรือราว 40% จากปัจจุบันอยู่ที่ 20% เท่านั้น ซึ่งพื้นที่สร้างบ้านที่เพิ่ม ทำให้มี ผลตอบแทนสูงขึ้น รายได้ส่วนหนึ่งของ ผลตอบแทนจะไปเข้าไปอยู่ในกองทุนอุดหนุน ที่อยู่อาศัย และนำไปสนับสนุนการออมเงินดาวน์ ของผู้ซื้อให้มีผลตอบแทนที่สูงขึ้น ซึ่งระบบนี้ จะทำให้ระบบอสังหาฯมีความมั่นคง"

          สำหรับโครงสร้างระบบการเงินของไทยต่อการซื้อที่อยู่อาศัยนั้น อาศัยเงินจากธนาคาร โดยดอกเบี้ยเงินกู้เป็นดอกเบี้ยลอยตัว ซึ่งอิงกับ ดอกเบี้ยมาตรการธนาคารที่เปลี่ยนแปลงได้ หากนำระบบดอกเบี้ยคงที่มาใช้ได้ จะทำให้คนกู้สบายขึ้น

          นายกิตติ กล่าวว่า จากนโยบายการสนับสนุนให้ต่างชาติเข้าซื้ออสังหาฯในไทยได้มากขึ้น  ซึ่งถือเป็นนโยบายดังกล่าวเป็นเรื่องที่ดี แต่การดำเนินนโยบายดังกล่าวจะต้องทำให้ ทุกฝ่ายได้รับประโยชน์ร่วมกัน กล่าวคือ ประโยชน์จะต้องไม่ตกอยู่กับภาคธุรกิจเท่านั้น จะต้องให้เกิดประโยชน์ที่ทั่วถึงไปยังผู้มี รายได้น้อยด้วย โดยนโยบายอาจจะทำให้ ต่างชาติเสียค่าธรรมเนียมการซื้อที่แพงกว่า โดยนำค่าธรรมเนียมนั้น ไปช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย อาจจะเป็นการสร้างบ้านหรือความช่วยเหลือทางการเงินต่างๆ ซึ่งจะลดกระแสการต่อต้านนโยบายได้

          นายปิยศักดิ์ มานะสันต์ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิจัยการลงทุน ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด(มหาชน)กล่าวว่าภาวะภาคอสังหาฯ ในปีนี้จะมีการหดตัว แต่ 1-2 ปีข้างหน้า อาจเห็นการฟื้นตัวของภาคอสังหาฯบ้าง จาก

         1.นโยบายรัฐ ที่สนับสนุน โดยอาจมีการต่ออายุการลด ค่าจดจำนองการโอนบ้านไม่เกิน 3 ล้านบาท ต่อในปีหน้า

         2.การเปิด Bangkok Sandbox วันที่ 1 พ.ย.นี้ และบางพื้นที่เศรษฐกิจอื่น เป็นการเพิ่มช่องทางให้ชาวต่างชาติที่มีความสนใจซื้ออสังหาริมทรัพย์ในเมืองไทยหรือธุรกรรมอสังหาฯคงค้าง สามารถเดินทาง เข้าประเทศได้โดยไม่ต้องกักตัว

         3.ครม.อนุมัติผ่อนปรนให้ชาวต่างชาติมีศักยภาพสูงสามารถซื้อหรือเช่าระยะยาวอสังหาริมทรัพย์ได้ในช่วง 5 ปี หรือ 2565-2569 4.คาดการฟื้นตัวของ Presales และเห็น New Launch ของโครงการขนาดใหญ่ทั้ง แนวราบและคอนโดใน 4Q/64 หลังจากหมด Lockdown ในเดือน ก.ค.-ส.ค. 5.Supply ที่ลดลงลดแรงกดดันของราคาสินทรัพย์จากการระบาย Inventory

          อย่างไรก็ดี แต่ในระยะยาว ภาคอสังหาฯ ยังเผชิญปัจจัยเสี่ยงจาก 1.Aging society 2.นโยบายธปท.ที่คุมการเก็งกำไรผ่าน มาตรการ LTV และ 3.แนวโน้มการขึ้นภาษีที่ดินฯ

          นายพิสิทธิ์ พัวพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) กล่าวว่า การส่งเสริมการลงทุน โดยเฉพาะนโยบายการส่งเสริมการลงทุน ในอีอีซี ซึ่งภาคอสังหาฯก็มีความสำคัญต่อ การลงทุนในการเติบโตของเมืองที่จะสอดคล้องกับนโยบายการลงทุนในอีอีซี ซึ่งภาครัฐก็พร้อม มีนโยบายเข้ามาสนับสนุน ทั้งนี้การดึงดูด ให้คนเก่งและแรงงานมีทักษะเข้ามาใน ประเทศไทย จะทำให้เศรษฐกิจและเมืองเติบโตในอนาคต
ข่าวโครงการอสังหาฯ ภาคเอกชน อื่นๆ