ผวาเกณฑ์ธปท.เพิ่ม เงินดาวน์ คนซื้อบ้านเร่งโอน-สินเชื่อทะลุ5แสนล.
Loading

ผวาเกณฑ์ธปท.เพิ่ม เงินดาวน์ คนซื้อบ้านเร่งโอน-สินเชื่อทะลุ5แสนล.

วันที่ : 19 พฤศจิกายน 2561
ศูนย์ข้อมูลอสังหาฯ ระบุมาตรการเพิ่มเงินดาวน์ ตามนโยบาย ธปท. ที่จะมีผล เม.ย. 62 เร่งยอดโอนบ้านสิ้นปี ถึงไตรมาสแรก ยอดถล่มทลาย พ่วงแบงก์เร่งปล่อยกู้ คาดยอดสิ้นปีทะลุ 5.2 แสนล้าน ด้านคอนโดฯ ซัปพลายชะลอตัว สวนทางแนวราบ
         ศูนย์ข้อมูลอสังหาฯ ระบุมาตรการเพิ่มเงินดาวน์ ตามนโยบาย ธปท. ที่จะมีผล เม.ย. 62  เร่งยอดโอนบ้านสิ้นปี ถึงไตรมาสแรก ยอดถล่มทลาย พ่วงแบงก์เร่งปล่อยกู้ คาดยอดสิ้นปีทะลุ 5.2 แสนล้าน ด้านคอนโดฯ ซัปพลายชะลอตัว สวนทางแนวราบ
          นายวิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ช่วยกรรมการ ผู้จัดการสายกลยุทธ์ 2 ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการ ผอ.ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ เปิดเผยถึงผลจากมาตรการคุมสินเชื่อที่อยู่อาศัย ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่จะมีผลบังคับใช้ในเดือน เม.ย. 62 ว่า จะทำให้เกิดการชะลอตัวการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยของกลุ่มผู้ที่ต้องการซื้อบ้าน หลังที่ 2  ที่บางส่วนตอนนี้ยังอยู่ระหว่างการผ่อนชำระสินเชื่อบ้านสัญญาแรก ยังไม่ถึง 3 ปี มีผลกระทบ และต่างเริ่มตระหนักว่า การจะซื้อบ้านใหม่ เป็นสัญญาเงินกู้ที่ 2 จะมีเงินดาวน์เพียงพอร้อยละ 20 หรือไม่ และกลุ่มผู้ซื้อเพื่อเป็นทรัพย์สินของครอบครัว กลุ่มผู้ซื้อเพื่อปล่อยเช่าโดยตรง  ผู้ที่ซื้อเพื่อหวังว่าผู้อื่นสนใจจะซื้อใบจอง ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ที่ซื้อเพื่อการลงทุน จะหยุดพิจารณานาน ประมาณ 2-3 ไตรมาส และมาตรการควบคุมสินเชื่อที่อยู่อาศัยของ ธปท. ยังทำให้เกิดการเร่งการซื้อ เร่งโอนกรรมสิทธิ์บ้าน ในปีนี้มากกว่าปกติ และจะส่งผลให้ยอดสินเชื่อปล่อยใหม่ จะทะลุกว่า 5.2-5.3 แสนล้านบาท เนื่องจาก ช่วงไตรมาสที่ 4 และต้นปีหน้า ก่อนที่มาตรการจะมีผลใช้บังคับ แต่จากปัจจัยเหล่านี้ จะส่งผลให้ภาพรวมของตลาดที่อยู่อาศัยในช่วงครึ่งปีหลัง ชะลอตัวลงได้ และคาดตลาดรวมหดตัว ร้อยละ 10
          ด้านแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีหน้านั้น มีโอกาสปรับขึ้นไม่น้อยกว่า 2 ครั้ง เพราะส่วนต่างดอกเบี้ยนโยบายของ ธปท. กับของธนาคารกลางสหรัฐฯ มีส่วนต่างค่อนข้างมาก ซึ่งหากปรับขึ้นดอกเบี้ย ก็จะทำให้ความสามารถในการซื้อบ้านของประชาชนลดลงได้ เพราะแม้ว่า การปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายไม่ได้ทำให้อัตราดอกเบี้ยสินเชื่อที่อยู่อาศัยปรับขึ้นในทันที แต่จะมีผลให้ต้นทุนในการระดมเงินจากตลาดเงินตลาดทุนต้องปรับขึ้นดอกเบี้ย จึงสะท้อนออกมาให้ต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ ให้สูงขึ้นตามไปด้วย เรื่องนี้จึงส่งผลกระทบต่อความสามารถในการผ่อนชำระของผู้ซื้อบ้านลดลงได้ เพราะต้องจ่ายดอกเบี้ยที่สูงขึ้น จึงได้วงเงินกู้น้อยลง
          ส่วนภาพรวมคอนโดมิเนียมในเขตกรุงเทพฯและปริมลฑลนั้น ขณะนี้ยังไม่ถือว่า อยู่ในภาวะฟองสบู่ล่าสุดมีจำนวนเหลือขายอยู่ประมาณ 56,800 หน่วย ส่วนใหญ่ระดับราคาอยู่ในช่วง 2-5 ล้านบาทเพราะมีการทำออกมาขายในกลุ่มนี้มากที่สุด ภาพรวมจึงอยู่ในลักษณะของการมีภาวะความเสี่ยงจากการที่ตลาดชะลอตัว และอาจมีภาวะปริมาณมากกว่าความต้องการเกิดขึ้นตามมา อย่างไรก็ตาม ภาพรวมของการเกิดขึ้นของคอนโดมิเนียมแต่ละปียังเพิ่มขึ้นในระดับปกติที่เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 3.5
          สำหรับภาพรวมอสังหาริมทรัพย์ ในช่วงไตรมาส 3 ปี 61  สถานการณ์ตลาดที่อยู่อาศัยของกรุงเทพฯ และปริมณฑล ปรับตัวเพิ่มขึ้น ทั้งในด้านอุปสงค์และอุปทาน เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2560 โดยในด้านอุปสงค์ มีการปรับเพิ่มขึ้นของการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัย โดยมีการขยายตัวของจำนวนหน่วย ร้อยละ 5.0 และในส่วนมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.6 ขณะที่สินเชื่อที่อยู่อาศัยบุคคลปล่อยใหม่ เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.3
          ส่วนสถานการณ์อสังหาริมทรัพย์ในภาพรวม ปี 61 ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์คาดการณ์ ว่า สถานการณ์ตลาดที่อยู่อาศัยทั้งในด้านอุปสงค์และอุปทาน จะปรับตัวดีขึ้นกว่าปี 60 โดยเป็นผลจากการขยายตัวของเศรษฐกิจโดยรวม ของประเทศ ทั้งภาคการส่งออก และการท่องเที่ยว รวมถึงการลงทุนในโครงการเมกะโปรเจกต์ของภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นโครงการรถไฟฟ้าสายต่างๆ รถไฟฟ้าความเร็วสูง นอกจากนั้นมาตรการกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยของ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 เม.ย. 62 คาดว่าจะส่งผลให้ยอดโอนกรรมสิทธิ์ และสินเชื่อที่อยู่อาศัยมีการเร่งตัวก่อนที่จะมีมาตรการบังคับใช้
 
ข่าว reic จากสื่อสิ่งพิมพ์ อื่นๆ